สกัดทุเรียนอ่อนป้องตลาดจีน 3 หมื่นล้าน

21 เม.ย. 2562 | 03:27 น.

กรมวิชาการเกษตร ระดมเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชทั่วประเทศสกัดทุเรียนอ่อนที่ขนส่งจากแปลงเกษตรไปยังโรงคัดบรรจุหรือล้งเข้มควบคุมจันทบุรีแหล่งผลิตสำคัญ  ป้องตลาดส่งออกไปจีนปีละ 3 หมื่นล้าน  

สกัดทุเรียนอ่อนป้องตลาดจีน 3 หมื่นล้าน

ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร   เผยว่า เพื่อเป็นการปกป้องตลาดส่งออกทุเรียนสดไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย   โดยปี 2560 ไทยได้ส่งออกทุเรียนไปประเทศจีนจากผู้ส่งออก 62 ราย จำนวน 18,750 ชิปเมนต์ ปริมาณรวม 305,853.24 ตันคิดเป็นมูลค่า 15,280.30 ล้าน  ส่วนปี 2561 ปริมาณส่งออกได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวมีการส่งออกมากถึง 559,048.35 ตันสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 31,118.50 ล้านบาทดังนั้นในฤดูกาลผลผลิตทุเรียน ปี 2562 นี้ 

สกัดทุเรียนอ่อนป้องตลาดจีน 3 หมื่นล้าน

กรมวิชาการเกษตรจึงได้ระดมเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชทั่วประเทศหมุนเวียนกันมาตรวจศัตรูพืชในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของประเทศ เพื่อควบคุมตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศและอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรและโรงคัดบรรจุ(ล้ง)ในการส่งออกทุเรียนไปจีนได้ทันฤดูกาลส่งออกทุเรียนสดไปจีนในระยะนี้  ทั้งนี้ เพื่อปกป้องและรักษาตลาดทุเรียนสดของไทยด้วยการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพแก่จีนและประเทศคู่ค้าอื่นๆให้มากที่สุด 

สกัดทุเรียนอ่อนป้องตลาดจีน 3 หมื่นล้าน   

รวมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าด่านตรวจพืช ควบคุม  ตรวจสอบแมลงศัตรูทุเรียนที่สำคัญอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน หนอนเจาะผล และราดำ หากตรวจพบศัตรูพืชและผู้ประกอบการไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้ หรือพบว่าผู้ส่งออกไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการส่งออกและข้อกำหนดในพิธีสารฯไทย-จีน  กรมวิชาการเกษตรก็จะปฏิเสธการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชแก่ผู้ประกอบการรายดังกล่าวในทันทีและผู้ประกอบการส่งออกรายนั้นก็ไม่สามารถทำการส่งออกได้ นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ด่านตรวจพืชได้ทำหนังสือแจ้งผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนสดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้าอย่างเคร่งครัด   โดยเฉพาะการส่งออกภายใต้ข้อตกลงพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับสินค้าผลไม้เมืองร้อนที่ส่งออกจากไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นตลาดหลักทุเรียนของไทย 

สกัดทุเรียนอ่อนป้องตลาดจีน 3 หมื่นล้าน

ด้านดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง  ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (สคว) กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า   ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรมีมาตรการเข้มข้นในการกำกับดูแล ตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้กับทุเรียนส่งออก โดยประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนสดไปต่างประเทศ ให้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย และเงื่อนไขการนำเข้าของจีน  รวมทั้งได้จัดประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจ และตรวจเยี่ยมโรงคัดบรรจุทุเรียนก่อนถึงฤดูกาลส่งออกทุเรียน และก่อนส่งออกจะส่งเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชลงประจำพื้นที่เพื่อทำการสุ่มตรวจทุเรียนก่อนการส่งออกหากไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขจะงดการออกใบรับรอง ณ โรงคัดบรรจุจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราดอย่างต่อเนื่อง   กรณีได้รับการแจ้งเตือนการตรวจพบศัตรูพืชจากประเทศปลายทางกรมวิชาการเกษตรจะส่งเจ้าหน้าที่จากด่านตรวจพืชเข้าไปติดตาม และตรวจสอบสาเหตุการปนเปื้อนศัตรูพืช พร้อมกับให้คำแนะนำแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสม

สกัดทุเรียนอ่อนป้องตลาดจีน 3 หมื่นล้าน

​นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้วยังได้จัดส่งทีมสารวัตรเกษตร ลงพื้นที่สุ่มตรวจทุเรียนก่อนการส่งออกที่โรงคัดบรรจุในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยองแล และตราด   โดยโรงคัดบรรจุและผู้ส่งออกต้องขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ก่อนบรรจุทุเรียนจะมีการตรวจสอบว่าทุเรียนได้มาตรฐานตามที่กำหนดหรือไม่ โดยกำหนดให้ติดสติกเกอร์ที่ขั้วผล  ซึ่งต้องเป็นไปตามประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกทุเรียนไปนอกราชอาณาจักรและป้ายข้างกล่องบรรจุต้องระบุชื่อบริษัท รหัสผู้ส่งออก หมายเลขทะเบียนสวนหรือรหัสแปลงมาตรฐาน GAP ซึ่งมีเลข 15 หลัก พร้อมระบุวันเดือนปีที่คัดบรรจุและมีคำว่า “Export to China” สำหรับทุเรียนที่จะส่งออกไปจีน ซึ่งจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

สกัดทุเรียนอ่อนป้องตลาดจีน 3 หมื่นล้าน

“ปัญหาทุเรียนอ่อนนับเป็นอีกปัญหาที่จีนให้ความสำคัญ ดังนั้นในแต่ละปีกรมวิชาการเกษตรได้ออกมาตรการป้องกันไม่ให้ทุเรียนด้อยคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน เช่น ทุเรียนอ่อนหลุดออกไปสู่ประเทศปลายทางอย่างเข้มงวด  รวมทั้งได้ปรับระบบตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองสุขอสมัยพืชให้มีความเข้มงวดและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ส่งผลให้ปี 61 แม้จะมีปริมาณส่งออกถึง 559,048.35 ตัน แต่กลับตรวจพบปัญหาและแจ้งเตือนเพียง 33 ครั้งเท่านั้นในขณะที่ปี 59 แจ้งเตือน 238 ครั้ง ปี  60 แจ้งเตือน 759 ครั้ง จึงถือเป็นความสำเร็จของกรมวิชาการเกษตรในการปกป้องคุณภาพและตลาดส่งออกทุเรียนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.ภัสชญภณกล่าว