อียูฮึ่มมะกัน ขู่ขึ้นภาษีสินค้า 6.4 แสนล้าน

19 เม.ย. 2562 | 11:13 น.

คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ประกาศพร้อมจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นหลายรายการ ครอบคลุมตั้งแต่เฮลิคอปเตอร์ กระเป๋า ไปจนถึงสินค้าเกษตร คิดเป็นมูลค่ารวม 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 6.4 แสนล้านบาท หลังจากที่องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ตัดสินเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ดำเนินมาตรการใดๆเพื่อยุติการให้เงินอุดหนุนบริษัท โบอิ้ง ผู้ผลิตอากาศยานสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎกติกาการค้าของดับบลิวทีโอ

เซซิเลีย มอล์มสตรอม กรรมาธิการด้านการค้าของอียู

ท่าทีของคณะกรรมาธิการยุโรปมีขึ้นเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 ซึ่งมาตรการภาษีที่อียูจะใช้ตอบโต้สหรัฐฯนั้นก็แทบไม่แตกต่างจากความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ เมื่อก่อนหน้านี้ไม่ถึงสัปดาห์ ที่ออกมาประกาศว่า สหรัฐฯจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอียูในอัตราสูงขึ้น คิดเป็นมูลค่าราว 11,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการความเสียหายทางการค้าที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมของสหรัฐฯเป็นผลจากการที่อียูให้เงินอุดหนุนบริษัท แอร์บัส ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของยุโรป สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในฝรั่งเศส และเป็นคู่แข่งของบริษัท โบอิ้ง  ทั้งนี้ กรณีการที่อียูให้เงินอุดหนุนบริษัท แอร์บัส นั้น ดับบลิวทีโอมีคำตัดสินว่าผิดกฎกติการการค้าเช่นกัน

 

ข่าวระบุว่า รายการสินค้าส่งออกของสหรัฐฯที่จะถูกอียูจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นนั้น มีความยาวถึง 11 หน้า และครอบคลุมสินค้าหลากหลายตั้งแต่อากาศยาน ถึงเคมีภัณฑ์ อาหาร และพืชผลการเกษตร นางเซซิเลีย มอล์มสตรอม กรรมาธิการด้านการค้าของอียู ย้ำว่า อียูเพียงต้องการสนามการค้าที่บริษัทของยุโรปสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม การตัดสินของดับบลิวทีโอเกี่ยวกับการให้เงินอุดหนุนบริษัท โบอิ้ง โดยรัฐบาลสหรัฐฯ จึงมีความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว อียูจำเป็นต้องปกป้องอุตสาหกรรมให้ได้รับความเป็นธรรม

 

“อยากขอสร้างความกระจ่างว่า อียูไม่ได้ต้องการตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟันกับสหรัฐฯ เพราะเชื่อว่าการเจรจาหารือคือวิถีทางที่ควรนำมาใช้ระหว่างคู่ค้าที่สำคัญอย่างสหรัฐฯและอียู ทั้งยังเป็นวิถีทางที่จะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อยาวนาน” แถลงการณ์ของนางมอล์มสตรอมระบุ ซึ่งในส่วนท้ายนั้นหมายถึงความขัดแย้งจนถึงขั้นมีการยื่นฟ้องต่อดับบลิวทีโอในกรณีที่รัฐบาลของต่างฝ่าย ต่างก็ให้เงินอุดหนุนบริษัทผู้ผลิตอากาศยานของตัวเอง โดยเรื่องนี้เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นยืดเยื้อเกือบ 15 ปีแล้ว    

 

หลังจากที่ดับบลิวทีโอตัดสินว่า การให้เงินอุดหนุนของทั้งสองฝ่ายต่างทำผิดกฎกติกาการค้า ทั้งอียูและสหรัฐฯก็ได้ยื่นขอให้คณะอนุญาโตตุลาการของดับบลิวทีโอ มีคำสั่งออกมาว่า ต่างฝ่ายจะสามารถนำมาตรการอะไรมาใช้ตอบโต้กันได้บ้างและมูลค่าของการตอบโต้จะทำได้มากน้อยแค่ไหน จนถึงขณะนี้ คณะอนุญาโตตุลาการของดับบลิวทีโอยังไม่ได้กำหนดตัวเลขมูลค่าการตอบโต้(ด้วยมาตรการภาษี) ของทั้งสองฝ่ายออกมา

 

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯและอียูจะเริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อหาทางคลี่คลายปมขัดแย้งในเร็วๆนี้ โดยแบ่งเป็น 2 คณะเจรจา คณะแรกจะเจรจาเพื่อหาทางให้ทั้งสองฝ่ายลดกำแพงภาษีสินค้าอุตสาหกรรมลงมาให้กันและกัน และอีกคณะจะเจรจาหามาตรการที่ช่วยให้ภาคธุรกิจเอกชนของตัวเองมีกระบวนการที่ง่ายขึ้นในการแสดงมาตรฐานสินค้าตอบโจทย์ตลาดที่นำเข้า เป็นที่สังเกตว่า อียูไม่ต้องการนำสินค้าเกษตรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา ซึ่งแตกต่างกับสหรัฐฯ

 

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ปมขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและอียู จะไม่นำไปสู่การเผชิญหน้าแบบเป็นปฏิปักษ์และแลกหมัดกันอย่างรวดเร็วเหมือนกรณีจีนและสหรัฐฯ แต่เชื่อว่าจะเป็นไปในลักษณะถ้อยทีถ้อยเจรจาซึ่งใช้เวลายาวนานกว่าและคล้ายๆการเจรจาเขตการค้าเสรีนาฟต้าในอดีต ดังนั้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจึงน่าจะน้อยกว่ากรณีสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ   

อียูฮึ่มมะกัน ขู่ขึ้นภาษีสินค้า 6.4 แสนล้าน