23 เมษายนนี้รู้ชัด กลุ่มซีพีได้ขี่ไฮสปีด3สนามบิน

19 เม.ย. 2562 | 08:46 น.

"วรวุฒิ"เร่งปิดดีลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นัดกลุ่มซีพีเจรจาปลีกย่อยอีกรอบ 20-21 เมษายนนี้ ก่อนนัดฟังผล 23 เมษายนนี้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินกว่า 2.2 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า ในวันนี้(19 เมษายน 2562) เป็นการประชุมเฉพาะคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่มีภาคเอกชนเข้าร่วม  หารือในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับระเบียบกฎหมายของร่างสัญญา และรายละเอียดอื่นๆ ก่อนจะหารือร่วมกับฝ่ายกฎหมายของกลุ่มซีพีในวันที่ 20 เมษายนนี้ พร้อมกับดำเนินการให้สำเร็จในช่วงวันที่ 20-21 เมษายนนี้ และนำข้อมูลมารายงานให้ทราบภายในวันที่ 22 เมษายน จากนั้นวันที่ 23 เมษายน จะนัดคณะกรรมการคัดเลือกฯ กับกลุ่มซีพีเข้ามาร่วมประชุม หากได้ข้อสรุปชัดเจนทั้งหมด ก็จะเร่งนำเสนอสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ตรวจร่างสัญญาประมาณวันที่ 26 เมษายนนี้ พร้อมนำเสนอคณะกรรมการ อีอีซี และ ครม.ควบคู่กันไปได้ เพื่อให้ทันลงนามสัญญาได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

“ที่ผ่านมาประเด็นหลักๆนั้นสรุปจบไปทั้งหมดแล้ว  เบื้องต้นนั้นหากมีข้อต่อรองฝ่ายกฎหมายก็พร้อมดำเนินการในทันที ดังนั้นวันที่ 23 เมษายนนี้ก็จะเห็นภาพชัดเจนว่ากลุ่มซีพีได้รับงานนี้แน่นอนหรือไม่โดยไม่ต้องเชิญกลุ่มบีเอสอาร์เข้ามาเจรจา ยืนยันว่าคณะกรรมการคัดเลือกจะเสนอผิดไปจากที่ร่างเอกสารประกวดราคาตามที่ RFP กำหนดไว้ไม่ได้ และไม่มีการกล่าวถึง 16 ข้อเสนอเพื่อนำกลับมาพิจารณารอบใหม่แต่อย่างใด”

 

นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า คณะกรรมการอยู่ระหว่างการสรุปรายละเอียดในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับร่างสัญญาที่จะเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมาย และรายละเอียดอื่นๆเพื่อให้พร้อมนำเสนอคณะกรรมการอีอีซีเร่งผลักดันต่อไป โดยจะต้องนำเสนอให้สำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.)พิจารณาควบคู่กัน ไปด้วย ดังนั้นจึงต้องรอบคอบในการพิจารณาเพื่อไม่ให้ต้องกลับมาปรับแก้ไขในภายหลังให้ล่าช้าอีก

สอดคล้องกับนายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน ผู้แทนสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การประชุมหัวข้อหลักผ่านพ้นไปทั้งหมดแล้ว วันนี้ไม่มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมประชุมแต่อย่างใด เป็นเพียงการสรุปรายละเอียดประเด็นปลีกย่อยเท่านั้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระเบียบกฎหมายของร่างสัญญา หลังจากนี้จะนำเสนออสส.ควบคู่ไปกับการนำเสนอคณะกรรมการอีอีซี คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนเมษายนนี้โดยโครงการนี้มีวงเงินลงทุน 2.2 แสนล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงินลงทุน เหลือ 1.19 แสนล้านบาท และกลุ่มซีพียื่นข้อเสนอขอรับเงินสนับสนุนเพียง 1.17 แสนล้านบาท

“ยืนยันว่าเป็นการปรับแก้ไขข้อความให้ถูกต้องชัดเจนเข้าใจตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีการกล่าวถึง 12 หรือ 16 ข้อเสนอที่กล่าวถึงกันในช่วงต้นของการพิจารณาแต่อย่างใด และยืนยันว่าไม่ได้ยอมรับในทั้งหมดข้อเสนอดังกล่าว”

23 เมษายนนี้รู้ชัด กลุ่มซีพีได้ขี่ไฮสปีด3สนามบิน