ปิดจ็อบประมูลคลื่น 700 ยืดชำระ10งวดค่ายมือถือ

21 เม.ย. 2562 | 03:20 น.

พลันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ออกมาตรา 44 แก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถคืนใบอนุญาตและยืดระยะเวลาชำระค่างวดได้ มีผลให้ค่ายมือถือทั้ง 3 ราย คือ เอไอเอส, ทรู และ ดีแทค ยืดชำระงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายออกไป 10 งวดงวดละเท่าๆ กันนั้น

ปรากฏว่าหลังคสช.ออก มาตรา 44 เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา หลังหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้เชิญบรรดาผู้ประกอบการมือถือและทีวีดิจิทัลเพื่อชี้แจงถึงมาตรา 44

 

รับสิทธิ์ถึง 10 พ.ค.

อย่างไรก็ตาม กสทช.ได้ชี้แจงกับบรรดาผู้ประกอบการค่ายมือถือ และทีวีดิจิทัล หากมีความประสงค์รับสิทธิ์ตามม.44 ให้ยื่นหนังสือแสดงความจำนงภายใน 30 วัน หรือในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ การออกประกาศของ คสช.เพื่อขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 900 MHz และต้องเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ในเดือนมิถุนายนขณะที่เงื่อนไขหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz และเงินเยียวยาสำหรับทีวีดิจิทัลคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม

ปิดจ็อบประมูลคลื่น 700  ยืดชำระ10งวดค่ายมือถือ

ไม่พอใจยกเลิกได้

นอกจากนี้แล้วนายฐากร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากผู้ประกอบการมือถือ และทีวีดิจิทัล ไม่พอใจกับประกาศ คสช.ครั้งนี้สามารถยกเลิกหนังสือขอรับสิทธิ์ได้เช่นเดียวกัน

แสดงความจำนงได้คลื่น

นอกจากนี้แล้วหากค่ายมือถือยื่นความจำนงชำระค่าคลื่น 900 จะได้รับสิทธิ์ในการบริหารคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5G โดยครั้งนี้จะไม่ใช่วิธีการประมูลเหมือนครั้งที่ผ่านมา แต่เป็นการจัดสรรคลื่นความถี่มูลค่าไม่ตํ่ากว่า 25,000 -27,000 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาตจำนวน 15 MHz รวมเป็นเงิน 75,000 ล้านบาท ระยะเวลารับใบอนุญาต 10 ปี ชำระเงินในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 หลังจากนั้นจะนำเงินที่ได้ไปเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอีกด้วย

“ถ้ามีรายใดไม่รับเงื่อนไขก็จะไม่ได้รับสิทธิ์ขยายค่าคลื่น 900 MHz และจะนำคลื่น 700 MHz ในส่วนที่เหลือออกประมูล ประกาศม.44 ทำให้ กสทช. สามารถดำเนินการตามแผนในเดือนมิถุนายนนี้ ถ้าต้องมาเคาะราคาก็จะทำไม่ทันตามแผน”

 

รัฐได้เงินเพิ่ม 40%

ประกาศม.44 ครั้งนี้ส่งผลให้รัฐได้รับเงินเพิ่มถึง 40% เนื่อง จากว่าทั้ง 3 ค่ายมือถือ ชำระเงินตั้งแต่ปี 2563-2572 รวมมูลค่า 203,317 ล้านบาท และเงินที่ได้จากการจัดสรรคลื่น 700 MHz จำนวน 45 MHz อีก 75,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 278,317 ล้านบาท เมื่อคำนวณแล้วปรากฏว่ารัฐได้เงินมากกว่าเดิม 40%

ปิดจ็อบประมูลคลื่น 700  ยืดชำระ10งวดค่ายมือถือ

 

ยกเว้นทีวีจ่าย 2 งวด

ในส่วนของการจัดเก็บค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลนั้น ในคำสั่ง ม.44 กำหนดให้ “ยกเว้น” การจัดเก็บค่าใบอนุญาตในงวดที่ 5 และ 6 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 13,622 ล้านบาท ในระยะเวลา 9 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป เพราะได้รับเงินช่วยเหลือจากคำสั่ง คสช.เดิมให้ความช่วยเหลือจ่ายค่าเช่าโครงข่าย MUX สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2563 ไปก่อนหน้านี้

นักวิชาการความคิดเห็นต่าง

ขณะที่นักวิชาการบาง ฝ่ายมีความคิดเห็นต่างกัน ทางฟากนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการ พัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐออกมาตรา 44 เพื่ออุ้มนายทุนมือถือ

ส่วนทางด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทร คมนาคม และผู้บริหารโครงการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและผู้ประ กอบการสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กลับมองว่า หากรัฐไม่ดำเนินการอะไรเลยจะเกิดผลเสียกับธุรกิจเพราะสื่อกำลังเข้าขั้นวิกฤติ หากปล่อยให้ “ล้ม” เป็นโดมิโน ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ

คำสั่ง ม.44 ยืดชำระค่างวดคลื่น 900 เท่ากับว่าเป็นการปิดจ็อบ ประมูลคลื่น 5G ถ้าทั้ง 3 ราย คือ เอไอเอส ทรู และดีแทค แสดงความจำนงเพื่อรับสิทธิ์

นั่นหมายความว่าภายในสิ้นปี 2562 ประเทศไทยจะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G รายแรกในเอเชีย ตามนโยบาย ของ คสช.ที่ต้องการให้ 5G ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทย 4.0 

รายงาน โดย ทีมข่าวไอที

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3463 ระหว่างวันที่ 21 - 24 เมษายน 2562

ปิดจ็อบประมูลคลื่น 700  ยืดชำระ10งวดค่ายมือถือ