มอเตอร์ไซค์อีวีอืด...‘นิว’ปรับแผน ‘อีทราน’คลอดยาก

22 เม.ย. 2562 | 04:25 น.

ธุรกิจมอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้า ค่อยๆ คืบหน้าอย่างช้าๆ โดยผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้ง “นิว” ในเครือ “ชาริช โฮลดิ้ง” (ขายดูคาติ บีวายดี ลัมโบร์กินี) ทบทวนแผนหลังขายผ่านไป 1 ปี แบรนด์ยังเงียบ เร่งถกบริษัทแม่ทำรถรุ่นใหม่ตอบโจทย์คนไทย ขณะที่ “อีทราน” รอคลอด ชวนลูกค้านำรถไปทดสอบก่อน 15 วัน ด้านสตาร์ตอัพไทย “เอดิสัน มอเตอร์ส” เดินหน้าพร้อมส่งมอบรถล็อตแรกเดือนกันยายนนี้

ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เผยยอดรถพลังงานไฟฟ้า 100% (BEV)สะสมในประเทศไทยจนถึงสิ้นปี 2561 มีทั้งสิ้น 1,454 คัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ 1,110 คัน รถยนต์ 201 คัน รถโดยสาร 85 คัน และรถสามล้อ 58 คัน

เมื่อดูจากยอดแล้วจะพบว่าทิศทางการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมคือกลุ่มจักรยานยนต์ ซึ่งอดีตที่ผ่านมามีผู้นำเข้ามาทำตลาดหลากหลายแบรนด์ และส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน ,ไต้หวัน อย่างไรก็ดีในช่วงปีที่ผ่านมาเริ่มมีแบรนด์ใหญ่ให้ความสนใจกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้มากขึ้น รวมไปถึงสตาร์ตอัพคนไทยที่เข้ามาสร้างแบรนด์และพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อออกมาตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

มอเตอร์ไซค์อีวีอืด...‘นิว’ปรับแผน ‘อีทราน’คลอดยาก

“ตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจะคล้ายคลึงกับรถยนต์ โดยจะขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ ยิ่งราคาแบตเตอรี่ถูก หรือมีการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ อาทิ การลดภาษี ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาเรื่องฝุ่นควันพิษ เรื่องสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวเร่ง ส่วนผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิต,ผู้นำเข้า หากได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน หรือเอกชนที่อำนวยความสะดวกเรื่องสถานีชาร์จไฟ ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่จะทำให้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเกิดเร็วขึ้น” แหล่งข่าวผู้ผลิตรถจักรยานยนต์กล่าวว่า

แบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งประกาศตัวเข้ามาแจ้งเกิดในตลาดนี้คือ เอดิสัน มอเตอร์ส ที่สร้างความฮือฮาด้วยการนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไปโชว์และเปิดจองที่บูธดีแทคในงานโมบาย เอ็กซ์โป ซึ่งพวกเขาเป็น 1 ใน 3 แบรนด์ ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแพลต ฟอร์มดีแทค ภายใต้แนวคิด Go Beyond Connectivity แพลตฟอร์มเชื่อมต่อยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

สำหรับเอดิสัน ได้พัฒนารถรุ่นแรกคือ Edison VOLTA ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งได้ 150 กิโลเมตร และใช้เวลาชาร์จไฟฟ้าไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยรถรุ่นนี้ยังมาพร้อมระบบBattery Swap System (BSS) ทำให้ชาร์จได้ทั้งแบบ on-board และ off-board ระบบ Body Swap Design (BSD) รวมไปถึงระบบเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน EDDI Connect บนแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ สนนราคาจะอยู่ที่ 8.5 หมื่น -1.1 แสนบาท

“เอดิสัน มอเตอร์ส เป็นสตาร์ตอัพคนไทย ที่มีแนวคิดอยากทำรถไฟฟ้า มีจุดแข็งคือการอาร์ แอนด์ ดี ในส่วนของสตาร์เลียน มีความพร้อมด้านโรงงาน และเมื่อพูดคุยกันจึงเกิดการต่อยอดและเป็นที่มาทำให้เราช่วยในการผลิต รวมไปถึงวางแผนตลาด ซึ่งในเบื้องต้นหลังจากเปิดตัวรถรุ่นแรกออกไปถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และเราคาดว่ารถรุ่นนี้จะพร้อมขายในเดือนกันยายน” นางอารีรัตน์ ศรีประทาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สตาร์เลียน กล่าว

การทำตลาดในช่วงเริ่มต้นของเอดิสัน จะผลิต Edison VOLTA รุ่นลิมิเต็ด อิดิชัน 100 คัน โดยวางตำแหน่งสินค้าในกลุ่มพรีเมียม ส่วนราคาที่แตกต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ที่ลูกค้าเลือก ขณะที่เครือข่ายตัวแทนจำหน่าย ปัจจุบันมี 3 แห่งที่แต่งตั้งได้แก่ นนทบุรี ,ขอนแก่น, ชลบุรี และภายในสิ้นปีนี้จะขยายให้ครบทุกภูมิภาค หรือสามารถเข้ารับบริการหลังการขายได้ที่โชว์รูมและศูนย์บริการของสตาร์เลียนได้

แม้จะเป็นน้องใหม่ และอยู่ในระหว่างการเริ่มต้นทำตลาด แต่เอดิสันได้เตรียมสร้างความแข็งแกร่งด้วยการจับมือกับบริษัทเวิลด์ลีส จำกัด (WL) ผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยาน ยนต์ ในกลุ่มธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่จัดโปรแกรมพิเศษสำหรับรถไฟฟ้า สินเชื่อไร้ฝุ่น ดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 1.5% ต่อเดือน ถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยรถจักรยานยนต์ทั่วไปในท้องตลาด ที่ 1.9% ต่อเดือน ผ่อนนานสูงสุด 4 ปี

เรียกได้ว่ากางแผนพร้อมสู้ศึกสำหรับน้องใหม่รายนี้ ส่วนอีกแบรนด์ที่เปิดตัวก่อนตั้งแต่ปีที่ผ่านมาอย่างนิว (NIU) จากค่ายชาริช โฮลดิ้ง อยู่ในระหว่างการพูดคุยกับบริษัทแม่ เพื่อพัฒนารถให้เหมาะสมกับถนนเมืองไทย

“เรากำลังพูดคุยกับซีอีโอ ของนิว เพื่อพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้งานในประเทศไทย รวมไปถึงการทำราคาให้แข่งขันได้ ซึ่งเบื้องต้นจะใช้โรงงานประกอบในมาเลเซียเพื่อผลิตรถจักรยานยนต์ในรุ่นใหม่นี้ และคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงปลายปี” นายอภิชาติ ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชาริช โฮลดิ้ง จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า 100% แบรนด์ นิว (NIU) กล่าว

สำหรับนิว เปิดตัวสู่ตลาดเมื่อปี 2561 มีรุ่นที่จำหน่ายคือ N1 ราคา 9.8 หมื่นบาท รับประกันตัวรถ 1 ปี รับประกันแบตเตอรี่ 2 ปี โดยรถรุ่นนี้สามารถทำความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนระยะทางที่วิ่งได้คือ 60-80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และการชาร์จไฟจาก 0-100% ใช้เวลา 6 ชั่วโมง ด้านนํ้าหนักตัวรถเมื่อรวมกับแบตเตอรี่อยู่ที่ 95 กิโลกรัม ขณะที่จุดเด่นของนิวคือการเป็นสมาร์ทอิเล็กทริก สกูตเตอร์ มาพร้อมเทคโนโลยีทันสมัย รองรับการใช้งานผ่านแอพ พลิเคชัน ที่จะบอกสถานะต่างอาทิ แบตเตอรี่จะวิ่งได้อีกกี่กิโลเมตร, คู่มือการซ่อม,
การเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน, ติดตามรถผ่านจีพีเอส

ส่วนช่องทางการจำหน่ายประกอบไปด้วย โชว์รูมวิภาวดีรังสิต 22 , เอสซีจี เอ็กซ์พีเรียนซ์ และ ดอทไลฟ์ 7 สาขา ได้แก่ สยามพารากอน ,เซ็นทรัล เวิลด์,สีลม คอมเพล็กซ์ ,เซ็นทรัล พระราม 9, เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ,เซ็นทรัล เวสต์เกต และเมกาบางนา

อย่างไรก็ดีจุดอ่อนของนิว คือความเร็วสูงสุดที่ทำได้เพียง 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่เหมาะสมกับถนนประเทศไทย รวมไปถึงราคาจำหน่ายที่สูง ทำให้การตอบรับด้านยอดขายนั้นไม่สูงเท่าไร โดยปัจจุบันยอดขายของนิวเฉลี่ยอยู่ที่ 10 คันต่อเดือน

สตาร์ตอัพอีกรายที่ซุ่มพัฒนาและเดินสายโรดโชว์ในอีเวนต์ยานยนต์เป็นประจำอย่าง อีทราน ที่เคยประกาศจะเปิดตัวและขายในปีนี้ อย่างไรก็ดีดูเหมือนแผนงานต่างๆจะล่าช้าออกไป แต่เมื่อสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการตลาดและการขึ้นไลน์ อีทราน คราฟ Etran KRAF ทางอีทรานยังยืนยันว่าอยู่ในระหว่างการผลิตรถในลอตแรกออกมาเพื่อทดสอบสมรรถนะก่อนจะขึ้นไลน์ผลิตจริงในเร็วๆนี้ ซึ่งแนวทางการตลาดในตอนนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจลงทะเบียนเพื่อขอรับการทดสอบรถ อีทราน คราฟ Etran KRAF เป็นเวลา 15 วัน

ถือเป็นตลาดใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งในอนาคตหากราคาแบตเตอรีถูกลง คาดว่าจะมีผลทำให้ราคารถจักรยานยนต์ถูกลงและน่าจะเกิดกระแสความต้องการรถประเภทนี้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน 

 

หน้า 22-23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,463 วันที่ 21-24 เมษายน 2562

มอเตอร์ไซค์อีวีอืด...‘นิว’ปรับแผน ‘อีทราน’คลอดยาก