“ดร.บุญมาก”ยื่นฟ้อง“บีแลนด์-เจ้าสัวอนันต์”ข้อหาฉ้อโกง-ปั่นหุ้น

19 เม.ย. 2562 | 04:24 น.

 

“ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล”ยื่นฟ้อง"บางกอกแลนด์-เจ้าสัวอนันต์"กล่าวหา ฉ้อโกงและปั่นหุ้น  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล นักบริหารการศึกษาและอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยทนายความได้ยื่นฟ้อง บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด(มหาชน) โดยนายอนันต์ กาญจนพาสน์ พร้อมพวกรวม 14 คน ผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ฉ้อโกง โดยกล่าวหาว่าบริษัทบางกอกแลนด์กับบริษัทเอเชียเวลท์ปั่นหุ้นทุบหุ้นฉ้อโกงลูกค้า 
ดร.บุญมาก ได้ฟ้องต่อศาลอาญาว่า บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) โดยนายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการร่วมกับพวก และกรรมการผู้มีอำนาจได้ร่วมสมคบกับบริษัท หลักทรัพย์เอเชียเวลท์ จำกัด โดยนายกรณ์ โชติจิรภาส กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและนายธวัชชัย ทองดี ร่วมกับพวกและกรรมการผู้มีอำนาจได้สมคบร่วมกันกระทำการปั่นหุ้น ทุบหุ้นด้วยการออกข่าวเท็จเพื่อหลอกลวงลูกค้าผู้ถือหุ้นบางกอกแลนด์ (BLAND) ตั้งแต่เวลาเดือนสิงหาคม 2559 จนถึงเดือนสิงหาคม 2561 ก่อนหน้านั้นได้มีการออกวอเรนท์ BLAND-W4 หรือเรียกว่าใบจองสิทธิ์เพื่อให้ลูกค้าซื้อขายในตลาดหุ้นและใช้สิทธิ์แปลงเป็นหุ้นสามัญที่ราคา 2 บาท โดยหมดสิทธิ์การแปลงเป็นสามัญ ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2561  

“ดร.บุญมาก”ยื่นฟ้อง“บีแลนด์-เจ้าสัวอนันต์”ข้อหาฉ้อโกง-ปั่นหุ้น
 

โดยนายอนันต์ กาญจนพาสน์ ได้ขออนุญาตตลาดหลักทรัพย์ซื้อหุ้นคืนในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อหลอกลวงให้ลูกค้าให้เข้าใจผิดว่ามีการดันราคาหุ้นขึ้นสูงกว่า 2 บาทมาก แต่ นายอนันต์ ได้กระทำการทุบหุ้นให้ราคาหุ้นบีแลนด์ต่ำกว่า 2 บาทมาก โดยเจตนาหวังผลให้ตนเองและพวกสามารถเข้าซื้อหุ้นบีแลนด์กลับคืนในราคาต่ำ แบบไม่มีการลงทุนโครงการตามที่ประชาสัมพันธ์ไปแล้วแต่อย่างใด 

การซื้อหุ้นของบริษัทตนเองคืนในราคาต่ำกว่า 2 บาทมากนั้น นายอนันต์และพวกหวังผลลัพธ์ให้กรรมการผู้ถือหุ้นและเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้ส่วนต่างกำไรมหาศาลในอนาคตข้างหน้าอีก 3 ปี รวมทั้งได้กำไรจำนวนมากจากการขายวอแรนท์  BLAND-W4 ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกรรมการผู้ถือหุ้นและมีอำนาจซึ่งเป็นผู้ออกวอแรนท์ทุกคนได้ถือครองจำนวนหุ้นในราคาฟรีหรือ 0 บาท จำนวนมากตามที่ได้รับจัดสรรตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ แต่ลูกค้าผู้ที่ถูกหลอกลวงให้ถือหุ้นจำนวนมากตามคำชักชวนของบริษัทหลักทรัพย์นั้น ต้องขาดทุนอย่างยับเยิน เพราะราคาหุ้นตกลงไปเป็น 0 บาทในช่วงเวลาต่อมา 

โดยกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งสอง ได้สมคบกันกระทำการเข้าชักชวนและหลอกลวงลูกค้าถือหุ้นโดยการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อคาดการณ์ราคาที่สูงให้ลูกค้าหลงเชื่อ มีการสมคบกันปั่นหุ้นและทุบหุ้นอย่างอุกอาจและผิดเพี้ยนไปจากสภาพปกติของตลาดหลักทรัพย์โดยมีเจตนาอันเป็นทุจริตเพื่อการเอาเปรียบลูกค้าและได้รับผลประโยชน์กลับไปอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

และทนายความยืนยันว่าได้พยายามศึกษารวบรวมพยานหลักฐานและผู้เดือดร้อนรายละเอียดทั้งหมดมานาน ก่อนที่จะดำเนินการยื่นฟ้องเพราะพบการกระทำของจำเลยทั้งหมดว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จึงได้นำความขึ้นฟ้องต่อศาลเพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป