ภาคเกษตรแดนซามูไรใกล้ “วิกฤติ” 5ปัจจัยบีบเล็กลง-ย้อนมองไทยจะไปทางไหน?

18 เม.ย. 2562 | 09:16 น.

ภาคเกษตรแดนซามูไรใกล้ “วิกฤติ” 5ปัจจัยบีบเล็กลง-ย้อนมองไทยจะไปทางไหน?

ผมเขียนบทความนี้ที่  Sarasa Hotel ตั้งอยู่ที่ Higashishinsaibashi , Osaka-shi นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เพราะระหว่างวันที่ 11- 17 เม.ย. 2562 ผมไปเก็บข้อมูลสินค้าเกษตรกรรมของญี่ปุ่น โครงสร้างทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงหลายปีที่ผ่านมามีเปลี่ยนแปลงไปมาก ภาคเกษตรกรรมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมบางชนิดถูกแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไป เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าเกาหลีและจีน ในขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ แม้จะแข่งขันกันดุ เราก็ยังเห็นรถยนต์ญี่ปุ่นวิ่งบนถนนอยู่ภายใต้การแข่งขันของการค้าเสรีและเพื่อปรับตัวเพื่อความอยู่รอด 

 

รัฐบาลญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญ “อุตสาหกรรมที่หก (Sixth Industry)” ที่เกิดจากเกษตร อุตสาหกรรมและบริการทำงานร่วมกัน หรือที่เรียกว่า  “1 x 2 x 3” เมื่อ  1 แทนภาคเกษตร และ 2 แทนภาคอุตสาหกรรม ส่วน 3 แทนภาคบริการ ทั้งนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร คือการเน้นการแปรรูปการเกษตรและท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) ที่ตอบสนองความต้องการตลาดผ่านการเป็น “Smart Agriculture” อีกหนึ่งเรื่องของการอยู่รอดทางการเกษตรกรรมญี่ปุ่น คือ “การบริหารจัดการสินค้าเกษตรญี่ปุ่นภายใต้การทำงานของสหกรณ์” 

 

ก่อนอื่นผมต้องนำท่านผู้อ่านไปดูข้อมูลที่น่าสนใจก่อนว่า ประชากรของญี่ปุ่นก่อนปี 1970 มีจำนวนต่ำกว่า 100 ล้านคน แต่ในปี 2019 มีจำนวนเพิ่มเป็น 126.9 ล้านคน (Worldometers) ซึ่งวิ่งสวนทางกับจำนวนเกษตรกรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง “the Japan Times News” ได้รายงานโดยอ้างถึงผลสำรวจของกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงว่า ช่วงทศวรรษที่ 70 มีจำนวนเกษตรกรญี่ปุ่น 7 ล้านคน ลดลงเหลือ 3.8 ล้านคนในปี 2000 และในปี 2015 มีจำนวน 2 ล้านคน (1.3 ล้านครัวเรือน) และในปี 2018 ผมประเมินว่าจำนวนประชากรของภาคเกษตรกรรมญี่ปุ่นยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งจำนวนเกษตรกรในทุกช่วงอายุลดลงทั้งหมด ยกเว้นคนที่มีอายุมากกว่า 65 ที่ยังต้องการทำการเกษตรกรรม          

ภาคเกษตรแดนซามูไรใกล้ “วิกฤติ” 5ปัจจัยบีบเล็กลง-ย้อนมองไทยจะไปทางไหน?

นั่นแสดงให้เห็นว่า “คนหนุ่มสาว และคนวัยทำงานไม่อยากทำงานในภาคเกษตร” โดยคนอายุ 70 มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานในภาคเกษตรกรรม หรืออาจจะกล่าวได้ว่า “6 ใน 10 เกษตรกรเป็นคนอายุมากกว่า 65 ปี” ซึ่งถือได้ว่ามี “คนแก่ญี่ปุ่น” อยู่ในภาคเกษตรกรรมมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันและสหรัฐฯ ที่มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น  (ตัวเลขของกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น) นอกจากนี้ทั้งพื้นที่ทำการเกษตรกรรมและผลผลิตก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน พื้นที่ทำการเกษตรจากสัดส่วน 14% (1980) ของพื้นที่ทั้งหมด ลดลงเหลือ 12% (2010)  

ผลผลิตสินค้าเกษตรของญี่ปุ่นทุกตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้าว ผัก ผลไม้ ปลา และปศุสัตว์  เหตุผลหลักคือเพราะ 1.ขาดแคลนแรงงาน 2.ราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่าประเทศอื่น เช่น ราคาปุ๋ย สารเคมีทางการเกษตรและเครื่องจักรสูงกว่า 2-5 เท่า เมื่อเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ และประสิทธิภาพการผลิตปัจจัยการผลิตของญี่ปุ่นก็ยังต่ำกว่าอีกด้วย (GAIN Report, USDA, 2016)  3.การถูกแทนที่แรงงานด้วยเครื่องจักรในภาคเกษตรกรรม และ 4.การนำที่ดินทางการเกษตรไปพัฒนาเป็นโรงงาน ที่อยู่อาศัย 

 

สิ่งเหล่านี้ทำให้สัดส่วน “Food self sufficiency ratio” (การบริโภคในประเทศต่อการผลิตในประเทศ) ช่วงปี 1965 1998 ลดลงจาก 70 เหลือ 40 และปี 2514 เหลือ 39 นั่นแสดงว่าความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นแต่การผลิตภายในประเทศลดลง (รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการเพิ่มเป็น 45 ในปี 2025) ปัจจุบันสหกรณ์ของญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 4 ประเภทได้แก่ Consumer Cooperatives, Fisheries Cooperatives, Small and Medium-sized Enterprise Cooperatives และ Agriculture Cooperatives ทั้ง 4 สหกรณ์ขึ้นกับกฎหมายของตนเองที่มาตั้งแต่ 1940 สำหรับสหกรณ์การเกษตรเริ่มมาจากสมาคมการเกษตร (Agricultural Association) ภายในกฎหมายปี 1943 และมีกฎหมายสหกรณ์การเกษตรในปี 1947 ปัจจุบันสหกรณ์ทั้งหมดญี่ปุ่นมีสมาชิก 80 ล้านคน รายได้ 145 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำนักงานทั่วประเทศ 36,000 แห่ง พนักงาน 640,000 คน (zennoh.or.jp)

ภาคเกษตรแดนซามูไรใกล้ “วิกฤติ” 5ปัจจัยบีบเล็กลง-ย้อนมองไทยจะไปทางไหน?

สำหรับสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับท้องถิ่น ประกอบด้วยระดับตำบลและเมืองเรียกว่า “Unit Cooperative” ที่ติดต่อกับเกษตรกรโดยตรง ระดับจังหวัดเรียกว่า “Perfectural  Central Unions of Agricultural Cooperatives (PCUs)” และระดับชาติเรียกว่า “National Central Union of Agricultural Cooperatives (NCU)”  มีสโลแกนว่า “Not Only Farming but Rural Living Oveall” เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหกรณ์ในท้องถิ่น สหกรณ์นอกจากดูแลผลผลิตให้กับเกษตรกร สหกรณ์ยังทำธุรกิจธนาคาร “JA Bank Group” และประกันภัย ซึ่งได้รับการคุ้มครองจากกระทรวงเกษตรและคลัง เช่นการเปิดสาขาธนาคารที่ง่ายกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่า 0.1% สหกรณ์การเกษตรของญี่ปุ่นเป็นหน่วยงานเอกชนที่ใหญ่และมีความสำคัญกับอนาคตของเกษตรกรอย่างมาก

ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้นำองค์กรเกษตรหนึ่งของญี่ปุ่นในจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่น (เพื่อเป็นการให้เกียรติกับบุคคลที่ให้ข้อมูล ผมขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อครับ) ที่มีเกษตรกรถือครองเฉลี่ย 0.3 เฮกตาร์ รายได้ต่อปีของเกษตรกรอยู่ระหว่าง 5 แสนถึง 5 ล้านเยน ผมพบว่า ภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่นกำลังเจอความท้าทายอย่างใหญ่หลวง หรือกำลังเข้าใกล้ “วิกฤติหรือไม่” เพราะ 1.ภาคเกษตรขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก 2.คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการทำการเกษตรเพราะรายได้ไม่แน่นอนเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น 3.รัฐบาลต้องการให้ภาคเกษตรเล็กลง เพราะแข่งขันกับสินค้าเกษตรจากต่างประเทศไม่ได้เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า 4.ไม่อยากให้สหกรณ์ทำธุรกิจอย่างอื่น เช่น พัฒนาที่ดิน และธนาคาร โดยต้องการให้ทำเฉพาะการเกษตรกรรม 5..สหรัฐฯ ต้องการให้ญี่ปุ่นซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ แทนที่จะผลิตเอง ผลสรุปของการพูดคุยพบว่า “อีก 10 ปีข้างหน้า ภาคเกษตรกรรมญี่ปุ่นจะเล็กลงกว่าปัจจุบันอีก” เกษตรไทยควรจะใช้กรณีญี่ปุ่น มองตัวเองว่า เราจะเดินไปในทิศทางใดครับ  

ภาคเกษตรแดนซามูไรใกล้ “วิกฤติ” 5ปัจจัยบีบเล็กลง-ย้อนมองไทยจะไปทางไหน?