ฝ่าปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ

17 เม.ย. 2562 | 10:18 น.

มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกเลย!!!!! LINE : @THANSETTAKIJ 
ฝ่าปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ
ฝ่าปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ
กลับมาจากเทศกาลสงกรานต์ เข้าวัด ทำบุญ เยาวชน คนหนุ่มสาวเข้ารดนํ้าขอพรจากผู้ใหญ่ พบปะพ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติมิตรอยู่กับครอบครัว เป็นวาระรื่นเริงสนุกสนานชุ่มฉํ่ากันถ้วนหน้า สืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยที่สวยงามสืบต่อกันมาช้านาน เพิ่มขวัญกำลังใจให้กับตนเอง ให้กลับมามุ่งมั่นปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ต่อไป

หลังเทศกาลต้องกลับมาเผชิญหน้าความจริงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องฝ่าฟันหลายประการ ปัจจัยใหญ่สุดยังคงเป็นสถานการณ์ทางการเมือง ที่เป็นปัญหายืดเยื้อยาวนาน การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและการเผชิญหน้าทางการเมือง ที่แม้ผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้ว ก็ยังไม่สามารถเข้าสู่สถานการณ์ปกติได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่สะสมคุกรุ่นและพร้อมปะทุเป็นระยะๆตามสถานการณ์เป็นช่วงๆ ระยะสั้นยังเป็นเรื่องการรับรองผลการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล

ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงเป็นความเสี่ยง โดยกำลังซื้อในกลุ่มรากหญ้ายังไม่มีวี่แววฟื้นตัวอันเนื่องมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ผกผันตามตลาดโลก แน่นอนเมื่อรายได้จากการขายผลผลิตลดลง เงินในกระเป๋าหดหาย ค้าขายฝืดเคือง ฐานรากยังไม่หมุน แถมหนี้สินภาคครัวเรือนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะมีที่ดีอยู่บ้างเป็นภาคการท่องเที่ยว ที่มีเม็ดเงินเข้ามาหล่อเลี้ยงในบางภูมิภาค แต่การเผชิญสถานการณ์หมอกควันไฟป่าที่รุนแรงในภาคเหนืออาจทำให้ตัวเลขลดลงไปบ้าง


มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกเลย!!!!! LINE : @THANSETTAKIJ 
ฝ่าปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ

ปัญหาปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจไทยสัมพันธ์กับโลกอย่างใกล้ชิด ล่าสุดสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ต่างออกมาปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายเศรษฐกิจ การค้าโลก กันถ้วนหน้า โดยออกคำเตือนให้รับมือสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย จากหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ความไม่แน่นอนในกระบวนการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปหรือ เบร็กซิท และการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศเตรียมเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (อียู) ยิ่งเพิ่มความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก

หลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจของไทยได้ปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจลงเช่นกันในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ลดจีดีพีเหลือ 3.8 %จาก 4% ลดคาดการณ์ส่งออกเหลือ 3% จาก 3.8% สถาบันร่วมภาคเอกชนกกร.ลดจีดีพีเหลือ 3.7-4.0% จาก 4.0-4.3% ลดเป้าส่งออกเหลือ 3.0-5.0% จากเดิมคาดไว้ที่ 5.0-7.0% ล้วนแต่มาจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันทั้งจากภายในและต่างประเทศ เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมกันประคับประคอง โดยเฉพาะรัฐบาลที่ยังมีอำนาจเต็ม ต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้สามารถฝ่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไปให้ได้

|บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3462 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-20 เม.ย.2562