เช็กสภาพไตรมาส1 "โตโยต้า"แรง...4แบรนด์ร่วง

19 เม.ย. 2562 | 02:20 น.

ปิดไตรมาสแรก อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงสดใส แม้จะมีปัจจัยภายนอกที่หลายคนหวั่นเกรงไม่ว่าจะเรื่องสงครามการค้า ที่กระทบกับตลาดส่งออก เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องการเลือกตั้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ส่งผลด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่าจะเดินหน้าต่อ หรือจะปรับกระบวนอย่างไร อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลโดยตรงกับการซื้อขายรถ คือความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ
เรียกได้ว่าปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน แต่ทว่ายอดขายรถยนต์ไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม 2562 )กลับพุ่งทะยานทำได้ 264,385 คัน เพิ่มขึ้น 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ทำ ได้ 237,090 คัน
 เมื่อแบ่งยอดขายออกมาเป็นเซ็กเมนต์ต่างๆพบว่า ปิกอัพ 1 ตัน 115,125 คัน เพิ่มขึ้น 11.9 %,คอมแพกต์คาร์ (ซี -เซ็กเมนต์) 13,172 คัน ลดลง 5.3 % ,รถยนต์นั่งบี-เซ็กเมนต์ + อีโคคาร์ 74,032 คัน เพิ่มขึ้น 10% ,รถอเนกประสงค์ (เอสยูวี + พีพีวี) 12,252 คัน ลดลง 63.0% ,รถยนต์นั่งขนาดกลาง (ดี-คาร์) 3,474 คัน เพิ่มขึ้น 81.5 %
 ส่วนบทสรุปว่าค่ายไหนแรง ค่ายไหนร่วงในช่วงไตรมาสแรกนั้น มาดูกลุ่มที่ยอดขายเพิ่มขึ้น นำโดยพี่ใหญ่ โตโยต้า ที่เดินเกมบุกเต็มหน้าตัก ทำให้โกยยอดขายได้กว่า 86,246 คัน เพิ่มขึ้น 34.3 % ตามมาด้วยอีซูซุ 44,922 คัน เพิ่มขึ้น 1.4%, ฮอนด้า 30,004 คัน เพิ่มขึ้น 5.5% , มิตซูบิชิ 23,991 คัน เพิ่มขึ้น 15.9% ,นิสสัน 18,958 คัน เพิ่มขึ้น 11.7%
น้องใหม่มาแรงอย่างเอ็มจีแม้ตัวเลขการขายจะอยู่ที่ อันดับ8เป็นรองมาสด้า,  ฟอร์ด แต่เมื่อดูอัตราการเติบโตแล้วถือว่าอยู่ในกลุ่มที่บวก โดยทำได้ 6,184 คัน เพิ่มขึ้น 8.1%
ส่วนค่ายที่ยอดขายขยับลงในไตรมาสแรกนั้น ตกเป็นของ มาสด้า 16,579 คัน ลดลงเล็กน้อย 0.05 % เมื่อเทียบกับปี 2561 ตามมาด้วยค่ายฟอร์ด14,330คัน ลดลง 16.9%, ซูซูกิ 5,672.คัน ลดลง 8.9% และ เชฟโรเลต 4,446คัน ลดลง 9.1 %
สำหรับยอดขายที่ลดลงของบางค่าย เป็นผลมาจากการปรับแผนผลิตรถยนต์ เพราะปลายปีที่ผ่านมาตลาดเติบโต มีการขายมากกว่าแพลนที่ได้วางไว้ ทำให้เกิดแบคออร์เดอร์ ซึ่งค่ายรถประเมินว่าจะสามารถแก้ไขและสถานการณ์
ต่างๆจะกลับมาเข้าที่ในช่วงไตรมาส 2

เช็กสภาพไตรมาส1 "โตโยต้า"แรง...4แบรนด์ร่วง


    ส่วนสถานการณ์ของตลาดรถยนต์หลังจากนี้เรื่อยไปจนถึงปลายปี ค่ายรถหลายค่ายยังคงแสดงความมั่นใจว่าเติบโต แม้จะไม่แรงเท่าปีที่ผ่านมา แต่ตัวเลขการขายไม่น่าจะตํ่ากว่า
นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นตลาดรถยนต์ในปี 2562 คือการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี รวมไปถึงตลาดหุ้นที่กลับมาคึกคัก การส่งออกฟื้นตัว ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ
 ขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ การเปิดอีอีซี ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยมาสด้าประเมินว่ายอดขายรถรวมในปี 2562 จะอยู่ที่ 1.03-1.06 ล้านคัน
ด้านนายโทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์รวมในปี 2562 คาดว่าจะทำได้ 1.05 ล้านคัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนปัจจัยที่มีผลกับภาพรวมตลาดคือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อันเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ขณะที่ปัจจัยภายในนั้นหากเกิดความไม่สงบทางการเมืองคงจะกระทบแต่เชื่อว่ากรณี นี้จะไม่เกิดขึ้น 
 “สถานการณ์ก่อนและหลังเลือกตั้งยังไม่มีผลอันใดต่อการขายรถ โดยค่ายรถก็ยังขายรถกันตามปกติ ส่วนในช่วงที่ผ่านมายอดขายตลาดรถรวมและอีซูซุ เติบโต ขณะที่ความกังวลใจเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง ตนเองมองว่าไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลอยากให้สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อเนื่องไป โดยเฉพาะรถปิกอัพ ซึ่งถือเป็นสินค้าหลักที่ส่งออกกว่า 60%”
นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ในปี 2562 เติบโต แต่ไม่ก้าวกระโดด คาดว่าตัวเลขการขายรวมจะอยู่ที่ 1.05-1.1 ล้านคัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ การลงทุนจากภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ส่วนการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง แต่เบื้องต้นยังไม่เห็นปัจจัยลบใดๆที่เข้ามากระทบกับตลาด
“ยอดขายรถในช่วงที่ผ่านมาเติบโตแบบมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่าง รถปิกอัพขายได้ในสัดส่วน 42% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 44-45% สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้งานรถประเภทนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่ต้องใช้รถปิกอัพ
นายวัลลภตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดรถยนต์หลังจากนี้คาดว่าจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งปัจจัยบวกที่เห็นคือ การเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆจากทุกค่าย รวมไปถึงรถคันแรกที่ครบเงื่อนไขการถือครอง และลูกค้าจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์รวมปี 2562 จะอยู่ที่ 1.05 ล้านคัน
 “ยอดขายรถในเซ็กเมนต์อีโคคาร์ยังเติบโต เพราะราคาอยู่ในระดับที่ลูกค้ารับได้ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะยังอีกไกล เพราะราคาแพง ขณะที่นโยบายอีโคอีวีนั้น เบื้องต้นต้องรอดูความชัดเจนจากภาครัฐก่อน ส่วนปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง หรือการจัดตั้งรัฐบาลต่างๆไม่มีผลกับตลาดรถและที่ผ่านมาไม่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลตัวนโยบายของอุตสาหกรรมยานยนต์มักไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก”นายวัลลภกล่าว 

 

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,462 วันที่ 18-20 เมษายน 2562

เช็กสภาพไตรมาส1 "โตโยต้า"แรง...4แบรนด์ร่วง