'เชลล์' ส่งต่อความปลอดภัยบนท้องถนน

13 เม.ย. 2562 | 07:05 น.

เชลล์ส่งต่อวัฒนธรรมความปลอดภัยกับโจทย์ใหญ่บนท้องถนนในช่วงสงกรานต์ เผยสาเหตุของอุบัติเหตุช่วงเทศกาลมีหลากหลาย ไม่ไช่แค่การดื่มสุรา พร้อมแจง 5 แผนความปลอดภัยบนถนนลดอุบัติเหตุ

ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก ต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เด็กๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความสนใจ เปิดรับสื่อ เรียนรู้ และมีความสามารถทางดิจิทัลอย่างน่าทึ่ง เด็กมักเห็นในจุดที่ผู้ใหญ่ไม่เห็น คิดแบบที่ผู้ใหญ่อาจไม่ทันคิด มองในมุมที่ผู้ใหญ่ไม่เคยมอง และมีวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในแบบของเขา แต่เรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องของทุกคน นี่เป็นชีวิตของพวกเขาเอง เด็กๆ ควรได้เข้ามามีส่วนร่วมในสังคมที่คำนึงถึงและส่งเสริมความปลอดภัยเพื่ออนาคตของเขาด้วยเช่นกัน

'เชลล์' ส่งต่อความปลอดภัยบนท้องถนน

ในแต่ละปี พนักงานเชลล์และผู้รับเหมาในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ขับรถเกือบ 1,000 ล้านกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับการเดินทางรอบโลกกว่า 70 รอบในแต่ละวัน ความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยแต่ละประเทศ แต่ละสภาพถนน ล้วนมีความเสี่ยงและปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้แตกต่างกัน

นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า เชลล์ได้ทบทวนบทเรียนของเชลล์ ประเทศไทย อันเป็นความพยายามยกระดับและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความปลอดภัยทางถนนอย่างให้ได้จริงและยั่งยืน

'เชลล์' ส่งต่อความปลอดภัยบนท้องถนน

เชลล์รณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวอย่างสงกรานต์ ผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ยิ่งเดินทางมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น เมื่อเราทำงานมาระยะเวลาหนึ่ง บวกกับการศึกษาของเชลล์ในเรื่องความปลอดภัย ทำให้เรากลับมามองว่ามีมาตรการอะไรบ้างที่จะทำให้การแก้ปัญหาความปลอดภัยทางถนนยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่

เชลล์มีแนวคิด Goal Zero ตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน เป็นการส่งเสริมให้มีทัศนคติและพฤติกรรม ที่มุ่งหวังให้เกิด “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ลดการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ทั้งส่วนบุคคล ทั้งในการปฏิบัติงาน และในการเดินทาง 

สำหรับเชลล์ ประเทศไทย แม้ว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในทุกวัน เชลล์เรียนรู้อยู่เสมอจากบทเรียน และความพยายามในการบรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่เป้าหมายที่ไม่ให้มีคนเสียชีวิตแล้วจบ แต่เป็นการสร้างจิตสำนึกที่ไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียแบบที่ย้อนอะไรกลับมาไม่ได้ เป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในทุกๆ วัน ไม่ประมาท และไม่หยุด เพียงเพราะคิดว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว บทเรียนที่เชลล์แบ่งปันมีหลากหลายด้านที่น่าสนใจ

 

ปี 2561 เชลล์ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน (Road Safety) และปีนี้ถือเป็นปีที่สองของโครงการดังกล่าว เชลล์ดำเนินโครงการ  คุณปลอดภัย ทุกคนปลอดภัย ร่วมใช้ถนนอย่างรับผิดชอบ” (You are Safe, All Safe) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนนร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน โดยมีระยะเวลาโครงการ 3 ปี คือ ระหว่างปี 2561-2563

แผนการดังกล่าว มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา “ความปลอดภัยทางถนน” ในเชิงระบบ ครอบคลุมการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) 2) การให้ความรู้เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัย (Education) 3) การพัฒนาทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัยให้พนักงานในห่วงโซ่อุปทาน (Defensive Driving) 4) การสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมาย (Law of Enforcement) และ 5) การส่งเสริมสภาพถนนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น (Infrastructure) โดยการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกับภาคี ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และถือเป็นการทำงานขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องบนความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งระดับประเทศและระดับโลก

@ “ความปลอดภัยเริ่มที่ตัวเรา

องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ระบุว่า หลักการสำคัญในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุภายใต้ปฏิญญามอสโก ที่ว่าด้วยทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน  ควรครอบคลุมหลักการสำคัญ ในการวางระบบที่เอื้อต่อความปลอดภัย (safe system) การพัฒนาและออกแบบระบบการขนส่งทางถนนให้มีความปลอดภัย มีการกำหนดเจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบและมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ

เชลล์ร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนในการสร้างเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัย โดยเฉพาะความปลอดภัยทางถนน ทั้งการกำหนดกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การฝึกอบรมหลากหลายรูปแบบ ร่วมด้วยการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันภัยและเครื่องมือการเรียนรู้ที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง อาทิ เครื่องจำลองการขับขี่สำหรับพนักงานขับรถ ซึ่งใช้ประกอบการฝึกอบรมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจของเชลล์ เหล่านี้ทำให้พนักงานและผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจของเชลล์สามารถประเมินความเสี่ยง รวมถึงรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือสถานการณ์เฉพาะหน้าบางอย่างเมื่อตกอยู่ในภาวะอันตรายบนท้องถนนได้ดียิ่งขึ้น

'เชลล์' ส่งต่อความปลอดภัยบนท้องถนน

สำหรับบุคลากรของเชลล์ มีการบริหารจัดการในเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะ กฎพิทักษ์ชีวิต (Life-Saving Rules)” ซึ่งประกอบด้วยข้อบังคับและบทลงโทษที่เข้มงวด อาทิ การไม่ใช้โทรศัพท์หรืออุปกรณ์สื่อสารขณะขับขี่ การไม่ขับขี่เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมีอาการมึนเมา การคาดเข็มขัดและหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่หรือโดยสารยานพาหนะ การปฏิบัติตามแผนการเดินทางที่พิจารณาด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

นพ.ธนวัฒน์ ศุภนิตยานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการแพทย์ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังมีความเข้าใจผิดหลายเรื่องเกี่ยวกับการขับขี่ปลอดภัย คนส่วนหนึ่งอาจจะคิดว่าการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการขับขี่ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การตัดสินใจช้าลง และนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ และคนส่วนใหญ่มักไม่ตระหนักถึงสาเหตุใหญ่อีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ คือ ความอ่อนล้า ที่เรียกว่า Fatigue ซึ่งเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ หรือการไม่ได้พักผ่อนตามเวลาที่ควรได้พัก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ผลจากการศึกษาหนึ่งพบว่า หลังจากตื่นนอนมานานเกิน 17 ชั่วโมง ความสามารถของสมองจะเทียบเท่ากับการที่ในร่างกายมีแอลกอฮอล์ในเลือด ประมาณ 50 mg% หรือเทียบเท่ากับการดื่มเบียร์ประมาณ 2-3 แก้ว และหากร่างกายยังตื่นอยู่และไม่ได้รับการพักผ่อนเกิน 24 ชั่วโมงจะเทียบเท่ากับ การที่ร่างกายมีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดถึง 2 เท่า

หลายคนดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อช่วยให้ตื่นและแก้ความอ่อนล้า บางคนอาจจะคิดว่าการล้างหน้า ฟังเพลง หรือเปิดหน้าต่างให้ลมปะทะหน้าระหว่างขับรถจะทำให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้ว วิธีที่จะสามารถจัดการกับความอ่อนล้าได้ดีที่สุด คือ การพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการหยุดพักเป็นระยะ ปรับเปลี่ยนอิริยาบถหรือจอดรถงีบหลับสัก 15-30 นาที หากรู้สึกง่วง และนั่นเป็นสิ่งที่เราต้องทำให้คนเข้าใจเรื่องนี้เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน” นพ.ธนวัฒน์กล่าวเสริม

ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับความอ่อนล้าของผู้ขับขี่นั้น เชลล์มีมาตรการและแนวปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นระบบที่เรียกว่า Journey Management ที่พนักงานทั่วไปรวมถึงพนักงานขับรถต่างต้องตระหนักถึงเมื่อจะต้องมีการเดินทาง โดยก่อนการเดินทาง จะต้องศึกษาข้อมูล มีการกำหนดชั่วโมงการขับรถไม่ให้เกินมาตรฐาน การกำหนดเวลาที่ต้องจอดพักทุก 3 ชั่วโมงในเส้นทางไกล ต้องหยุดพักการปฏิบัติงานชั่วคราว หากพนักงานขับรถพิจารณาเห็นว่าตนเองกำลังตกอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงต่ออันตรายในการขับขี่ และต้องรู้ว่าตลอดเส้นทางมีจุดไหนที่เป็นจุดเสี่ยงบ้าง จุดไหนที่สามารถเป็นจุดพักรถในเส้นทางนั้นๆ รวมถึงการฝึกอบรมหลักสูตรการขับรถเชิงป้องกันอุบัติเหตุ (Defensive Driving Training) ซึ่งกำหนดให้มีการทบทวนทุก 2 ปี สำหรับพนักงานขับรถขนส่งผลิตภัณฑ์ของบริษัท

ส่งต่อวัฒนธรรมความปลอดภัย” 

ปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นหนึ่งในปัญหาที่ประเทศไทยจำเป็นต้องช่วยกันปลดล็อค เมื่อมีจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยทางถนน ก็จะถ่ายทอดไปสู่ความปลอดภัยด้านอื่นๆ ต่อไป และไม่เพียงคนขับรถหรือพนักงานของบริษัทเท่านั้น เชลล์ให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษด้วย จึงได้ดำเนินโครงการเพื่อการศึกษาเรื่องปัญหาและพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยในเด็กหลากหลายโครงการ เช่น โครงการ “Childvoice to Safety” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน การเดินทาง และการขับขี่ที่ร่วมกันลดอุบัติเหตุในระดับโรงเรียนและชุมชน

'เชลล์' ส่งต่อความปลอดภัยบนท้องถนน

สำหรับเชลล์ ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเด็ก ต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เด็กๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่มักมีความสนใจ เปิดรับสื่อ มีการเรียนรู้ และมีความสามารถทางดิจิทัลอย่างน่าทึ่ง เด็กมักเห็นในจุดที่ผู้ใหญ่ไม่เห็น คิดแบบที่ผู้ใหญ่อาจไม่ได้คิด มองในมุมที่ผู้ใหญ่ไม่เคยมอง และมีวิธีการแก้ไขปัญหาในแบบของเขา แต่เรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องของทุกคน นี่เป็นความปลอดภัยและเป็นชีวิตของพวกเขา เด็กๆ ควรได้เข้ามามีส่วนร่วมในสังคมที่คำนึงถึงและส่งเสริมความปลอดภัย เพื่ออนาคตของเขาเองด้วยเช่นกัน” อัษฎากล่าว

มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ได้ริเริ่มโครงการแข่งขันพัฒนาสื่อดิจิทัล “We Power Road Safety Digital Creator” โดยเปิดโอกาสให้ นักศึกษา นักพัฒนาซอฟแวร์ สตาร์ทอัพ ผู้ผลิตเกมส์ รวมถึงบุคคลทั่วไป ได้ร่วมพัฒนารูปแบบงานสร้างสรรค์ผลงานที่จะให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนนผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็น แอปพลิเคชั่น เกมส์ รวมไปถึงหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ (E-Learning) เพื่อยกระดับการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชนในปัจจุบันและอนาคต โดยผลงานผู้ชนะจะได้รับทุนพัฒนาและนำไปใช้จริงในอนาคต เพื่อให้สามารถสื่อสารและเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย

“เชลล์หวังว่าจะได้ช่วยเผยแพร่หลักคิด Goal Zero เพื่อให้ทุกคนตื่นตัวว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาหากเราประมาท ความสำเร็จในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วนในสังคมไทยที่ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นและนำสู่การปฏิบัติในแบบที่ยั่งยืน อย่างน้อยที่สุดก็ตลอดรุ่นอายุของพวกเรา เพื่อตัวเราและลูกหลานของเรา ” อัษฎากล่าว

ทั้งหมด คือความพยายามของเชลล์กับความมุ่งมั่นที่จะทำให้แนวคิด Goal Zero เกิดขึ้นในสังคมไทย วัฒนธรรมความปลอดภัยเริ่มจากตัวเรา องค์กรของเรา คนรอบข้างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและธุรกิจของเรา สู่สังคม กุญแจสำคัญอยู่ที่ความตระหนักและความร่วมมือกันของทุกคน ป้องกันไม่ให้เกิด Life Changing Event เหตุการณ์หรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนชีวิตเราไปทั้งชีวิต เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเพราะหากเกิดขึ้นและสูญเสียไปแล้ว จะไม่มีอะไรมาชดใช้ได้

'เชลล์' ส่งต่อความปลอดภัยบนท้องถนน