หลากมุมวิบากกรรม! "ไตรภาคีจำกัดส่งออกยาง"

11 เม.ย. 2562 | 20:50 น.


เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อวันที่ 4-5 มี.ค. ที่ผ่านมา ผลการประชุมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีมติสำคัญในการแก้ไขปัญหาราคายางพารา ได้แก่ เพิ่มการใช้ยางในประเทศ ควบคู่มาตรการจำกัดการส่งออกยาง รวม 2.4 แสนตัน ระยะเวลา 4 เดือน แบ่งเป็น ไทย 1.26 แสนตัน อินโดนีเซีย 9.8 หมื่นตัน และมาเลเซีย 1.6 หมื่นตัน นั้น ทาง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปัจจุบันกำลังปฏิบัติราชการอยู่ต่างประเทศ) ได้ปฎิเสธมาโดยตลอด ว่า ยังไม่มีการลงนามใดใดทั้งสิ้น แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น ทางอินโดนีเซียได้ขอร้องให้ไทยออกมายืนยันมาตรการจำกัดส่งออกเพื่อให้คนทั่วโลกได้รับทราบนั้น ว่า ทั้ง 3 ประเทศ จะเริ่มคิกออฟในเร็ว ๆ นี้


⁍ "น้ำยางข้น" ผวา "เวียดนาม" เบียดแย่งคู่ค้า

 

หลากมุมวิบากกรรม! "ไตรภาคีจำกัดส่งออกยาง"

 

นายชัยพจน์ เรืองวรุณวัฒนา นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า ในส่วนของ "น้ำยางข้น" ไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกเพียงรายเดียว หากมีมาตรการนโยบายจำกัดการส่งออกจริงย่อมมีผลกระทบมากมาย เนื่องจากน้ำยางข้นเก็บสต็อกไม่ได้ จะต้องผลิตแล้วขายทันที แล้วผลที่ตามมาจะมีผลกระทบต่อชาวสวนเมื่อขายไม่ได้ ราคายางท่วมประเทศแน่นอน อีกด้านหนึ่ง "เวียดนาม" ซี่งเป็นประเทศคู่แข่งสำคัญ หากไทยลดส่งออกลงแล้ว อาจจะต้องเสียตลาดให้เวียดนามไปอย่างแน่นอน ดังนั้น มองว่า ไม่ควรที่จะจำกัดน้ำยางข้น ซึ่งทางสมาคมได้ทำหนังสือชี้แจงแล้วถึงผลกระทบต่าง ๆ ให้รัฐมนตรีได้รับทราบปัญหาอย่างตรงไปตรงมา


⁍ ยุคว่ำร่างสัตยาบัน ชี้! ไม่เกิดประโยชน์

 

หลากมุมวิบากกรรม! "ไตรภาคีจำกัดส่งออกยาง"

 

สอดคล้องกับ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสาวยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ที่ผ่านมาก็มีการหักหลังกัน ไม่ปฎิบัติตามสัญญา อีกทั้งไทยก็เสียเปรียบ เนื่องจากในแต่ละครั้งมีการลดปริมาณส่งออกมาก ขณะอีก 2 ประเทศ ลดส่งออกปริมาณน้อยมาก ไม่ได้ผลกระทบต่อตลาดเลย ในส่วนของพ่อค้าหน้าใหม่ที่เพิ่งทำตลาดได้ก็จะเสียเปรียบ เนื่องจากไม่มีประวัติการส่งออกยางย้อนหลังเลย จะทำให้ส่งออกไม่ได้ ทำให้เสียโอกาสอีก เพราะโควตาส่งอออกไม่มี ดังนั้น จึงเห็นว่าควรที่จะคว่ำสัตยาบันเสีย


⁍ แจง 2 ประเทศ รอรัฐบาลใหม่

 

หลากมุมวิบากกรรม! "ไตรภาคีจำกัดส่งออกยาง"

 

ด้าน ดร.ปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ รับเบอร์ จำกัด กล่าว ทางกระทรวงเกษตรฯ โดยรัฐมนตรีอาจจะต้องทำเรื่องแจงให้ทั้ง 2 ประเทศ เข้าใจว่า มาตรการดังกล่าวนี้ได้ยุติ หรือ ปฎิเสธ แต่ไม่สะดวก อาจจะเลี่ยงไปว่าขอเป็นรัฐบาลใหม่ เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เพียงรักษาการเท่านั้น ไม่มีอำนาจ แต่ถ้าหากมีการจำกัดส่งออกยางจริง ในขณะนี้อยู่ในช่วงปิดกรีด ยางในตลาดมีน้อยมาก จะทำให้ราคายางในตลาดโลกสูงเกินความเป็นจริง แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องรักษาความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศเอาไว้ ดังนั้น คำตอบแรกน่าจะดีที่สุด ว่า เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการเท่านั้น


⁍ ต้องปฎิบัติตามสัญญา

 

หลากมุมวิบากกรรม! "ไตรภาคีจำกัดส่งออกยาง"

 

ขณะที่ นายหลักชัย กิตติพล ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อมีการลงนาม ไทยต้องปฎิบัติตามสัญญา ไม่เช่นนั้นใครจะเชื่อถือ แล้วอีก 2 ประเทศ อยู่ในอาเซียนด้วยกัน ยิ่งต้องรักษาความสัมพันธ์อันดี แล้วหากในอนาคตไทยจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือ แล้วจะได้ความร่วมมือหรือไม่ ดังนั้น ต้องคิดให้ดี แล้วช่วงที่จำกัดการส่งออกยางนั้น ก็ไม่มีปัญหาว่ายางในประเทศจะสูงเกินจริง หรือ ขาดแคลน เพราะเป็นฤดูที่ชาวสวนเปิดกรีดยางแล้ว ดังนั้น ย้ำไทยควรปฎิบัติตามสัญญาที่ได้ไปรับปากกับ 2 ประเทศแล้ว

หลากมุมวิบากกรรม! "ไตรภาคีจำกัดส่งออกยาง"