เก็บรายได้ OTT ไม่หมู! "นักวิชาการ-วงการเน็ต" แนะตั้งโต๊ะคุยเฟซบุ๊ก-ยูทูบ

11 เม.ย. 2562 | 23:15 น.


นักวิชาการโทรคมฯ-กูรูอินเตอร์เน็ต หนุนแนวคิด เลขาฯกสทช. จัดเก็บรายได้ผู้ให้บริการ OTT ระบุ "ไม่หมู" แนะจับเข่าคุยยักษ์โซเชียลชื่อดัง "เฟซบุ๊ก-ยูทูบ" ไม่ให้กระทบใช้บริการผู้บริโภค ด้าน "หมอลี่" เผย ยังไม่เข้าบอร์ด กสทช. พิจารณา

จากกรณีที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ 5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุให้รัฐจัดเก็บรายได้จากการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศจากผู้ให้บริการเนื้อหาแบบไม่มีโครงข่าย OTT อาทิ เฟซบุ๊กและยูทูบ ถือเป็นเรื่องท้าทายการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก แนวคิดดังกล่าวถือเป็นเรื่องดี แต่ในทางปฏิบัตินั้น หลายฝ่ายยังเป็นห่วงเรื่องหลักเกณฑ์การจัดเก็บ วิธีการจัดเก็บ และการสร้างความเข้าใจกับผู้ให้บริการ OTT เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้ใช้บริการ

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวคิดที่เลขาธิการ กสทช. เสนอให้รัฐจัดเก็บรายได้จากการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศจากผู้ให้บริการเนื้อหาแบบไม่มีโครงข่าย OTT ต้องยอมรับว่า เป็นแนวทางที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่เคยได้ยินมาก่อน คือ การให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเกตเวย์เป็นผู้รายงานทราฟฟิกเพื่อไปเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการ OTT ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับโลกที่ยังไม่มีตัวแทนอยู่ในไทย และยังมีประเด็นว่า กสทช. มีอำนาจกำกับดูแลไปถึงอินเตอร์เน็ตเกตเวย์หรือไม่

สำหรับเรื่องของหลักเกณฑ์ การปฏิบัติ และข้อบังคับกฎระเบียบต่าง ๆ หรือแม้แต่ประเด็นที่ เลขาธิการ กสทช. ได้มีการเสนอไปนั้น ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้เลย เพราะถ้าจะใช้แนวทางนี้จริง จะต้องมีการออกกฎเกณฑ์เพิ่มเพื่อมากำกับดูแล ที่ต้องผ่านขั้นตอนในการออกกฎเกณฑ์ ทั้งการยกร่าง การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ก่อนจะนำไปประกาศใช้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

"ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีการหรือแนวทางใด กสทช. ต้องทำให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้ให้บริการในประเทศ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนโครงข่าย และความยุติธรรมต่อผู้ใช้บริการที่เดิมใช้บริการฟรี แต่เมื่อไหร่ที่มีการเก็บรายได้เข้ารัฐ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ใช้บริการ อันนี้เป็นความยากที่ทาง กสทช. ต้องบาลานซ์ให้ได้"

ด้าน นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตลาดดอทคอม กรุ๊ป กล่าวว่า แนวคิดการเก็บรายได้จากบริการ OTT ถือเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่คงต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจและหาจุดลงตัวร่วมกัน ควรเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการ OTT ได้หารือร่วม เพื่อหาแนวทางจัดเก็บที่เหมาะสม โดยต้องไม่กระทบกับผู้ใช้งาน หรือ End User ทางออกที่เหมาะสมอาจจะต้องใช้แนวทางการดึงบริษัทที่ให้บริการ OTT เข้ามาลงทุนในไทย ในแบบมาตั้งเซิร์ฟเวอร์ในไทย มีการจ้างบุคลากร และที่สำคัญ คือ ให้บริษัทเหล่านี้ต้องมารับรู้รายได้ในไทย น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่า

 

เก็บรายได้ OTT ไม่หมู! "นักวิชาการ-วงการเน็ต" แนะตั้งโต๊ะคุยเฟซบุ๊ก-ยูทูบ

 

"ตัววิธีการ หรือ แนวคิดที่จะจัดเก็บ OTT มีความน่าสนใจ แต่ยังกังวลว่าจะทำได้จริง หรือ บังคับได้จริงหรือไม่"

ส่วน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม OTT สำหรับผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายจากโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง 'เฟซบุ๊ก' และ 'ยูทูบ' โดยยังไม่มีการนำเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณา และยังไม่รู้ว่าจะใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณา เพราะหากจะคิดตามปริมาณการใช้ข้อมูล ใช้มากเก็บ ใช้น้อยไม่เก็บ แล้วใช้มากกับใช้น้อยมันควรตัดที่เท่าไหร่ จะเก็บในอัตราเท่าไหร่ก็ยังไม่ทราบ

ทั้งนี้ หากคิดจะทำก็คงต้องมีการพูดคุยกับทางผู้ให้บริการ OTT อย่าง 'เฟซบุ๊ก' หรือ 'ยูทูบ' ทางสำนักงานคงต้องมีการเสนอหลักการให้ทางคณะกรรมการพิจารณาก่อน แล้วในการคุยก็ยังเป็นปัญหาอีก เพราะเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไม่ได้มีสำนักงานในเมืองไทย

"ปัญหา คือ ปกติคนที่บันทึกการใช้ข้อมูลจะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม ดังนั้น ต้องถามก่อนว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในต่างประเทศ ใครจะเป็นคนบันทึก ใครจะเป็นคนวัด เพราะ กสทช. ไม่มีความสามารถในการวัดแน่นอนอยู่แล้ว ก็คงต้องให้ผู้ให้บริการวัด แต่ถ้าจะให้ผู้ให้บริการวัด จะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อมูลที่วัดนั้นถูกต้อง เพราะข้อมูลก็วิ่งอยู่บนหลายโครงข่าย จะดูที่เกตเวย์รึเปล่า ก็ต้องมาดูว่า รายไหนเป็นผู้รับผิดชอบ อีกประเด็นหนึ่ง คือ ผู้ให้บริการอาจจะคิดว่า ทำไมจะต้องเป็นคนวัด ในเมื่อค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับ โดยค่าบริการที่เก็บได้อาจต้องมีการแบ่งคืนผู้ให้บริการโทรคมนาคมด้วยหรือไม่"



หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3460 ระหว่างวันที่ 11-13 เมษายน 2562
 

เก็บรายได้ OTT ไม่หมู! "นักวิชาการ-วงการเน็ต" แนะตั้งโต๊ะคุยเฟซบุ๊ก-ยูทูบ