ชิงเดือดพื้นที่อวกาศ! 'อเมซอน' จ่อปล่อย "ดาวเทียม" 3,236ดวง! เชื่อมเน็ตความเร็วสูงทั่วโลก

10 เม.ย. 2562 | 07:45 น.


โครงการคุยเพอร์ (Project Kuiper) เป็นแผนการธุรกิจเดิมพันสูงของ นายเจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อเมซอนฯ ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซของสหรัฐอเมริกา เป้าหมายของโครงการ คือ การยิงดาวเทียมสื่อสารขึ้นสู่วงโคจร 3,236 ดวง เพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมความเร็วสูงที่สามารถเข้าถึงผู้คนทั่วโลก งานนี้นักวิเคราะห์มองว่า เป็นธุรกิจที่จะสามารถทำกำไรได้มากและจะเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ให้อเมซอนได้กว่า 4,000 ล้านคน แต่อเมซอนก็ไม่ใช่ผู้ลงทุนรายเดียวที่มองเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจใหม่นี้ เพราะอย่างน้อยคู่แข่งมีให้เห็นแล้วไม่ตํ่ากว่า 4 ราย ซึ่งรวมถึง โครงการ สเปซเอ็กซ์ ของนายอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เทสลาฯ ที่มีโครงข่ายดาวเทียมอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ภายใต้ชื่อ "สตาร์ลิ้งค์" (Starlink) และโครงการวันเว็บ (OneWeb) ของกลุ่มซอฟต์แบงก์


⁍ ต่อยอดธุรกิจหลากมิติ

การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่สามารถครอบคลุมบริการทั่วโลกจะเปิดโอกาสทำเงินได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะสำหรับยักษ์ใหญ่ทุนหนา อย่าง 'อเมซอน' ที่มีบริการประมวลผลบนระบบคลาวด์ให้กับลูกค้าอยู่แล้ว โอกาสที่ยังเปิดกว้างอยู่ ก็คือ ประชากรโลกที่ยังไม่มีช่องทางเข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้นยังมีอยู่จำนวนมาก การทำให้พวกเขาสามารถเชื่อมต่อกับระบบเศรษฐกิจโลกผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไม่เพียงเปิดโอกาสทำกำไรให้กับผู้ให้บริการ แต่ยังจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวไปได้อีกมาก โครงการอินเตอร์เน็ตดาวเทียม หรือ Satellite Internet ของอเมซอน ซึ่งบริษัทออกข่าวในช่วงต้นสัปดาห์นี้ (8 เม.ย.) ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณการลงทุนและกรอบของเวลา แต่ก็ระบุเป้าหมายไว้ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนดาวเทียมและข้อเสนอในเบื้องต้น ซึ่งคล้ายคลึงกับของคู่แข่ง ที่บางรายได้เริ่มยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศแล้ว ขณะที่ บางรายก็เพิ่งอยู่ในช่วงของการผลิตดาวเทียม "เราต้องการเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่ทั่วโลกที่ยังไร้บริการ หรือ มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไม่เพียงพอต่อความต้องการ" เป็นเป้าหมายที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ของอเมซอน

 

ชิงเดือดพื้นที่อวกาศ! 'อเมซอน' จ่อปล่อย "ดาวเทียม" 3,236ดวง! เชื่อมเน็ตความเร็วสูงทั่วโลก

 

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ถ้าสามารถเชื่อมต่อทุก ๆ คนเข้ากับอินเตอร์เน็ต ผู้ให้บริการอย่างอเมซอนก็จะสามารถขยายขนาดของตลาดผู้บริโภคที่บริษัทสามารถรู้หลักแหล่งที่อยู่ให้กับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ธุรกิจบริการคลาวด์ บริการอินเตอร์เน็ต และอื่น ๆ ที่อยากจะทำได้ถึง 2 เท่า หรือ สำหรับอเมซอน นั่นหมายถึงลูกค้าใหม่ราว 4,000 ล้านคน


⁍ ความได้เปรียบของอเมซอน

นอกเหนือจากสตาร์ลิ้งค์และวันเว็บแล้ว ยังมีคู่แข่งรายอื่น ๆ อาทิ เทเลแซท และโบอิ้ง รวมทั้งโครงข่ายดาวเทียมของอิริเดียมที่ใช้งบลงทุนถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ และจะทยอยยิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในช่วง 10 ปีข้างหน้า การเข้าร่วมสังเวียนการแข่งขันของอเมซอน ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์และมีฐานผู้ถือหุ้นในวงกว้าง ซึ่งแตกต่างไปจากบริษัทคู่แข่ง ทำให้ธุรกิจบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม มีการขับเคลื่อนที่สำคัญและจะทำให้การแข่งขันทวีความดุเดือดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แง่เม็ดเงินลงทุนหรือนวัตกรรมเทคโนโลยี

การขับเคลื่อนตัวเองจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต ภายใต้ชื่อ ระบบอเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) ทำให้อเมซอนมีความได้เปรียบในการรุกพื้นที่อวกาศ ปูทางไปสู่ธุรกิจใหม่ การเชื่อมโยงผู้คนเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตที่เข้าถึงได้ง่าย มีความเสถียรและรวดเร็ว จะเป็นตัวเร่งให้เกิดสื่ออินเตอร์แอกทีฟใหม่ ๆ เกมใหม่ ๆ รวมทั้งบริษัทและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ด้านอี-คอมเมิร์ซ สำหรับผู้คนในวงกว้าง ไม่ใช่จำกัดวงแคบเพียงแค่ในเมืองใหญ่ หรือ เมืองที่พัฒนาแล้ว เช่นในปัจจุบัน

ในเดือน พ.ย. 2561 อเมซอนได้ประกาศตั้ง AWS Ground Station เป็นหน่วยธุรกิจใหม่ เข้ามาทำหน้าที่ดูแลสถานีปฏิบัติการด้านดาวเทียมอินเตอร์เน็ต 12 แห่งทั่วโลก (อยู่ในแผนงานการก่อสร้าง) เพื่อเชื่อมโยงการส่งข้อมูลระหว่างสถานีภาคพื้นดินและดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจร นับเป็นก้าวเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับธุรกิจใหม่นี้ ในส่วนของการลงทุนสำหรับเครือข่ายดาวเทียมกว่า 3,000 ดวงของอเมซอนนั้น นักวิเคราะห์การลงทุนประเมินว่า น่าจะอยู่ที่ระหว่าง 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 96,000-128,000 ล้านบาท ซึ่งสำหรับอเมซอนที่มี บริษัท บลู ออริจินฯ ทำธุรกิจด้านยานอวกาศและการนำจรวดขึ้นสู่วงโคจรอยู่ภายใต้เครือด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีความได้เปรียบและช่วยให้สามารถควบคุมต้นทุนได้มาก


หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3460 ระหว่างวันที่ 11-13 เมษายน 2562

ชิงเดือดพื้นที่อวกาศ! 'อเมซอน' จ่อปล่อย "ดาวเทียม" 3,236ดวง! เชื่อมเน็ตความเร็วสูงทั่วโลก