ดีเดย์ดัชนีใหม่ "SETWB" 9 บจ. ตบเท้ารับอานิสงส์คึกคัก!!

10 เม.ย. 2562 | 12:48 น.


ตลท. เพิ่มทางเลือกให้นักลงทุน เปิดดัชนีใหม่ SETWB เริ่มเผยแพร่ 1 เม.ย. 2562 เผย คัด บจ. 7 หมวดที่มีศักยภาพ มาร์เก็ตแคปสูงสุด 30 อันดับแรก บวกสำรองอีก 5 บจ. และทบทวนใหม่ทุก 6 เดือน ด้าน ราคาหุ้นตอบรับผลสัปดาห์แรก เพิ่มขึ้น 9 บจ.

เริ่มเผยแพร่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2562 กับดัชนีใหม่ SET Well-being (SETWB) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนธุรกิจ Well-being หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า "กินดีอยู่ดี" นั่นเอง โดยแค่ในสัปดาห์แรก ส่งผลตอบรับเชิงบวกต่อหุ้นที่ถูกเข้าคำนวณให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นถึง 9 บริษัท ซึ่งบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ บริษัท ซีโอเเอล จำกัด (มหาชน) (COL) ปรับเพิ่มขึ้นถึง 5.06% ตามด้วย บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) (GFPT) เพิ่มขึ้น 3.49% และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เพิ่มขึ้น 2.53%

นางสาวรินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด ตลท. เปิดเผยว่า ดัชนี SETWB ได้คำนวณจากหลักทรัพย์ของ บจ. ใน 7 หมวดธุรกิจที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและเป็นธุรกิจที่ผู้ลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ซึ่งการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้ มีผลต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) นำมาสู่การสร้างรายได้แก่คนในประเทศและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนไทย โดย ตลท. พร้อมสนับสนุนการนำไปใช้เพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินในอนาคต เช่น กองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) และกองทุนรวม (Mutual Fund) เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ลงทุน

 

ดีเดย์ดัชนีใหม่ "SETWB" 9 บจ. ตบเท้ารับอานิสงส์คึกคัก!!

 

สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณในดัชนี SETWB จะพิจารณาจากหลักทรัพย์ที่อยู่ใน 7 หมวดธุรกิจ ได้แก่ หมวดธุรกิจการเกษตร (Agribusiness) พาณิชย์ (Commerce) แฟชั่น (Fashion) อาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) การแพทย์ (Health Care Services) การท่องเที่ยวและสันทนาการ (Tourism& Leisure) และขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation & Logistics)

นอกจากนี้ หลักทรัพย์นั้นจะต้องมีกำไรอย่างน้อย 2 จาก 3 ปีล่าสุด เมื่อพิจารณาจากงบการเงินรวม รวมทั้งต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 20% และเป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนหุ้นที่ซื้อขายในแต่ละเดือนต้องมีสัดส่วนอย่างน้อย 0.5% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนของบริษัทเป็นระยะเวลาอย่างตํ่า 9 เดือน จาก 12 เดือน ในช่วงที่พิจารณา

อย่างไรก็ตาม หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงสุด 30 ลำดับแรกที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จะถูกนำเข้าเป็นองค์ประกอบของดัชนี SETWB และมีหลักทรัพย์สำรอง 5 ลำดับ โดยจะจำกัดนํ้าหนักของแต่ละหลักทรัพย์ไม่ให้เกิน 10% ในทุกไตรมาส รายชื่อหลักทรัพย์สำหรับคำนวณในดัชนี SETWB ครั้งแรกจะใช้ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2560 - 30 พ.ย. 2561และจะทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีทุก 6 เดือน คือ เดือน มิ.ย. และ ธ.ค.

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก ตลท. ยังระบุว่า ธุรกิจ Well-being ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET ไม่รวม mai ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 มีจำนวนรวม 129 บริษัท จากทั้งหมด 605 บริษัท และมีมาร์เก็ตแคปรวมกันสูงถึง 5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30% ของมูลค่าตลาดโดยรวม ด้วยศักยภาพของ บจ. ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายบริษัทในหลายธุรกิจเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในลำดับต้น ๆ ของโลก

ทั้งนี้ นอกจากผลโดยตรงต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ Well-being เกือบทั้งหมด อยู่ในภาคบริการและภาคการผลิตที่มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะจำนวนมาก ธุรกิจ Well-being ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2560 มีการจ้างงานรวมกัน 680,000 คน หรือคิดเป็น 48% ของการจ้างงานทั้งหมดของ บจ. ใน SET ไม่รวม mai



หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,460  วันที่ 11-13 เมษายน 2560
 

ดีเดย์ดัชนีใหม่ "SETWB" 9 บจ. ตบเท้ารับอานิสงส์คึกคัก!!