‘ฉัตรชัย’ จี้ตั้งกองทุนฯประมง 3 องค์กร ชงไอเดียตั้งภาคีเครือข่ายแก้ปัญหาผิดกฎหมาย

25 มี.ค. 2559 | 06:00 น.
3 องค์กรภาครัฐ-เอกชน ภาคประชาสังคม ผนึกกำลังจัดตั้งภาคีเครือข่ายแก้ปัญหาประมงทำผิดกฎหมายอียู-สหรัฐฯ ชี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่อุตฯประมงไทย ด้านสมาคมประมงเผยเห็นด้วย แต่ยังไม่เห็นวิธีการ "ฉัตรชัย" รับลูกเรือต่อใบอนุญาตเรือ ขยายเวลาออกไปอีก 7 วัน สั่งกรมประมงศึกษาตั้งกองทุนพัฒนาการประมง นำเงินค่าธรรมเนียมมาใช้ เล็งรับซื้อเรือคืนไม่ต้องพึ่งงบรัฐบาล

[caption id="attachment_40266" align="aligncenter" width="503"] สรุปจำนวนรายชื่อเรือร้องเรียน ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือไทย สาม ลำดับสูงสุด สรุปจำนวนรายชื่อเรือร้องเรียน ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือไทย สาม ลำดับสูงสุด[/caption]

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแนวคิดการจัดตั้งภาคีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อความโปร่งใสในภาคการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือ MAST (The Multi-Stakeholoder Initiative For Accountable Supply Chain of Thai Fisheries) เป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน องค์กรประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาการประมงของไทยโดยการส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส่ของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าประมงไทย

นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์สินค้าประมงไทยในสายตาของประชาคมโลกอันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย การทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงเป็นการสร้างระบบการตรวจสอบและรับรองการทำประมงที่รับผิดชอบต่อสังคมของอุตสาหกรรมประมงไทย

"ภาคีเครือข่าย MAST ประกอบด้วย อาทิ ฝ่ายไทย มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ) บริษัทกฎหมายทีแอลซีเอส และส่วนของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.)ส่วนของประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทกฎหมายแคลลี่ ดราย แอนด์ วอเรน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีบริษัทผู้ผลิตสินค้าประมงรายใหญ่ อาทิ บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ฯ และ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นต้น"

นายมงคล กล่าวต่อไปว่า โดยหลักการในนามสมาคมทั้ง 22 จังหวัด เห็นด้วย แต่ยังเห็นวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในแนวทางใด เชื่อว่าหากทำได้จะสามารถแก้ไขปัญหาการทำประมงได้ทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา เรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมายแบบยั่งยืน ส่วนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกชาวประมงล่าสุด (วันที่ 21 มี.ค.) ที่ได้เข้าพบ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลการหารือในเรื่องต่างๆ อาทิ 1.กรณีเรือที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือ ที่สมาชิกยื่นอุทธรณ์กับสมาคมโดยตรง มีอยู่ประมาณ 300 กว่าลำ (ดูตารางประกอบ) แต่สมาคมเองประเมินคาดว่าจะมีประมาณ 2 พันกว่าลำ จากจำนวนที่โดนเพิกถอนกว่า 8 พันลำ เพราะบางส่วนเพิ่งจะรู้ว่าเรือตนเองถูกเพิกถอนทะเบียนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน จำเป็นที่จะต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป รวมทั้งรัฐมนตรีได้รับปากที่จะขยายระยะเวลาในเรื่องคำขอใบอนุญาตทำการประมงให้ สั่งให้กรมประมงไปศึกษาข้อกฎหมาย หากสามารถทำได้ให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 7 วัน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 15 มีนาคม 2559

นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำการประมง ที่มีการเก็บส่งคลังโดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้น ซึ่งทาง อบต.เป็นผู้ใช้เงินส่วนนี้มาบริหารท้องถิ่น ซึ่งทางสมาคมได้เสนอให้มีการพิจารณาให้นำเงินก้อนนี้มาใช้ในการตั้งกองทุนพัฒนาประมง ซึ่งทางรัฐมนตรีเห็นด้วยหากจะนำเงินดังกล่าวมาใช้เพื่อพัฒนาการประมงได้ในอนาคต เช่น การรับซื้อเรือคืน โดยไม่ต้องใช้งบจากรัฐบาล จึงได้สั่งการให้กรมประมงโดยฝ่ายกฎหมายไปศึกษา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559