'เรืองไกร' ร้องผู้ตรวจฯ ส่งศาลวินิจฉัยเลือกตั้ง "โมฆะ"

09 เม.ย. 2562 | 06:33 น.


'เรืองไกร' ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอเสนอความเห็นต่อศาลปกครอง-ศาล รธน. วินิจฉัยเลือกตั้ง 24 มี.ค. เป็นโมฆะหรือไม่ อ้างเหตุ กกต. รายงานผลนับคะแนนไม่ตรงกัน มีปัญหาคลาดเคลื่อนบัตรเขย่ง ไม่นำบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าและบัตรเบือกตั้งนอกราชอาณาจักรมานับพร้อมกัน ผิดระเบียบ กกต. และขัด รธน.

 

'เรืองไกร' ร้องผู้ตรวจฯ ส่งศาลวินิจฉัยเลือกตั้ง "โมฆะ"

 

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอความเห็นไปยังศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา เป็นโมฆะหรือไม่ และการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เนื่องจากรายงานตัวเลขนับคะแนนเลือกตั้งจำนวนผู้มาใช้สิทธิยังมีตัวเลขที่ต่างกัน จึงทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า ผลการเลือกตั้งจาก 92,230 หน่วย อาจไม่ตรงกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวถูกสาธารณชนและพรรคการเมืองเรียกร้องขอให้ กกต. เปิดเผยผลคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้ง โดยลงประกาศในเว็บไซต์เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบไม่ใช่ให้ผู้สมัครในแต่ละเขตเป็นผู้ไปยื่นคำร้อง และชำระค่าคัดสำเนาเอกสาร เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุค 4.0 ควรจะเลิกการใช้สำเนาได้แล้ว ทั้งนี้ แม้ว่า กกต. จะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่จำนวน 6 หน่วยเลือกตั้ง ใน 5 จังหวัด ก็ยังไม่ทำให้สิ้นสงสัยกรณีจำนวนผู้มาใช้สิทธิและจำนวนบัตรแตกต่างกันอยู่ 9 คน

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า กรณีผู้ใช้สิทธิและผลการนับคะแนนที่คลาดเคลื่อน หรือ บัตรเขย่งตามที่สำนักงาน กกต. ชี้แจงว่า เกิดจากการยังนับคะแนนไม่แล้วเสร็จ เป็นการนับคะแนนเพียงแค่ 90 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่า การนับคะแนนอาจไม่เป็นไปตามระเบียบ กกต. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 117, 120, 123 เพราะการนับคะแนนจะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดพัก นอกจากนี้ กกต. ยังระบุว่า ความคลาดเคลื่อนส่วนหนึ่งเกิดจากยังไม่ได้นำคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า รวมถึงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรอีกกว่า 2 ล้านใบมานับรวม รวมถึงการไม่นำบัตรจากประเทศนิวซีแลนด์มานับ จึงมีเหตุสมควรให้ผู้ตรวจส่งเรื่องให้ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว ก่อนที่ กกต. จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค.

นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีข้อมูลแตกต่างกันจากหลายฝ่าย และเมื่อตรวจสอบจากรายงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่รายงานในชั้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ไม่พบตัวอย่างการคำนวณ ส.ส. ตามที่กล่าวอ้างกัน ดังนั้น การคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128, 129 เท่านั้น กรณีนำพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเป็นเศษไม่ครบจำนวนเต็ม และไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมี มาปันส่วน เพื่อให้ได้รับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ด้วย จึงอาจไม่มีหลักการของกฎหมายใดมารองรับ

"ผมเลือกที่จะมาร้องกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะผู้ตรวจมีบทบาทต่อการวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะถึง 2 ครั้ง ในครั้งนี้อยากให้ผู้ตรวจฯ แยกส่งให้ศาลปกครองวินิจฉัยกรณีที่ กกต. กระทำขัดต่อระเบียบ และส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ" นายเรืองไกร กล่าว

ด้าน นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า หลังรับเรื่องทางสำนักงานจะเร่งตรวจสอบคำร้องทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพื่อส่งเสนอให้ผู้ตรวจฯ พิจารณาโดยเร็ว ว่า คำร้องของนายเรืองไกรอยู่ในอำนาจพิจารณาของผู้ตรวจฯหรือไม่ และหากเข้าข้อกฎหมายจะต้องส่งเรื่องไปที่ศาลใดวินิจฉัย
 

'เรืองไกร' ร้องผู้ตรวจฯ ส่งศาลวินิจฉัยเลือกตั้ง "โมฆะ"