"อาหาร-การ์เมนต์" หวั่นค่าแรง 400 บาท ต้นทุนพุ่ง!!

10 เม.ย. 2562 | 23:15 น.


เอกชนตั้งรับว่าที่รัฐบาลใหม่ เตรียมปรับขึ้นค่าแรง กลุ่มอาหารชี้! แบกภาระหนัก แรงงานในอุตสาหกรรมเกือบ 9 ล้านคน หากขึ้นระดับ 400 บาทต่อวัน เอสเอ็มอีม้วนเสื่อ การ์เมนต์วอนขอจ่ายตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

นโยบายพรรคการเมืองว่าที่รัฐบาลใหม่ต่างหาเสียงด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า รวมถึงปรับขึ้นเงินเดือนทั้งสิ้น ด้านหนึ่งแม้จะส่งผลดีต่อแรงงานในระดับล่างที่จะมีรายได้และค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ด้านหนึ่งหลายฝ่ายมองผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากสุด คือ แรงงานต่างด้าวในไทย ขณะที่ ผู้ที่ต้องรับภาระหนัก คือ นายจ้างที่ขอให้รัฐบาลค่อย ๆ ขึ้นตามความเหมาะสม

โดยพรรคพลังประชารัฐมีแผนปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 400-425 บาทต่อวัน ภายใน 3 ปี พรรคเพื่อไทยเตรียมปรับขึ้น (ยังไม่ระบุจำนวน) พรรคอนาคตใหม่เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าอัตโนมัติตามอัตราเงินเฟ้อ และจะผลักดัน พ.ร.บ.ขึ้นค่าจ้างตามอายุงาน และพรรคประชาธิปัตย์ประกันรายได้แรงงานปีละ 120,000 บาท เป็นต้น

 

"อาหาร-การ์เมนต์" หวั่นค่าแรง 400 บาท ต้นทุนพุ่ง!!

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การปรับขึ้นค่าแรง หรือ ค่าจ้างขั้นตํ่า จะกระทบกับทุกอุตสาหกรรม ​เพราะจะขึ้นเป็นลูกโซ่ไปถึงแรงงานที่มีทักษะฝีมือ​และพนักงานรายเดือน​ ในขณะที่ ความสามารถในการแข่งขันส่งออกของไทยในตลาดโลกในปัจจุบันลดลงจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน การขาดแคลนแรงงาน สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ถูกตัดลงเรื่อย ๆ

ขณะที่ การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง​ ส่วนของไทย​รอ​การลงทุนเฉพาะ S-Curve ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)​ เป็นหลัก​ ซึ่งต้องรออีกหลายปีจึงจะได้ตัวเลขมาทดแทนอุตสาหกรรมเดิมได้​และไม่ง่ายนัก เพราะทุกประเทศขณะนี้ ล้วนดึงนักลงทุนด้วย​สิทธิประโยชน์ที่ไม่ยอมแพ้กัน การผลิตเพื่อส่งออกสินค้าใหม่ ๆ ของไทยยังไม่สามารถเติบโตได้​ คงต้องรักษาฐานเก่า​ การขึ้นค่าแรงจึงกระทบความสามารถในการแข่งขันอย่างชัดเจน

"ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 อุตสาหกรรมอาหารมีลูกจ้างทั้งหมด 8.97 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงาน 2.06 ล้านคน หรือสัดส่วน 23% ซึ่งผู้ประกอบการได้มีการปรับเปลี่ยนเอาเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานมากขึ้น แต่ก็ทำได้เฉพาะกิจการที่มีความสามารถในการลงทุน ส่วนระดับ​เอสเอ็มอีจะถูกคุกคามด้วยเทคโนโลยี เพราะไม่มีความสามารถในการกู้ยืม ดังนั้น การขึ้นค่าแรงควรเป็นไปตามความสามารถและทักษะฝีมือและตามประสิทธิภาพการผลิต ไม่ใช่ขึ้นตามที่หาเสียง"

นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เผยว่า เครื่องนุ่งห่มมีแรงงานในอุตสาหกรรมประมาณ 2 แสนคน การขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าผู้ประกอบการที่มีกำลังจ่าย หากขึ้นอีก 10-15 บาทต่อวัน (จากปัจจุบัน 308-330 บาทต่อวัน) ก็ยังพอแบกภาระได้ แต่หากขึ้นระดับ 400 บาทต่อวัน ก็คงแบกรับภาระกันไม่ไหว โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ทางออกที่ดีที่สุด อัตราค่าจ้างควรเป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติที่มีอยู่แล้ว



หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,460 วันที่ 11-13 เมษายน 2562
 

"อาหาร-การ์เมนต์" หวั่นค่าแรง 400 บาท ต้นทุนพุ่ง!!