"เอฟทีเอ" ดันการค้า "ไทย-ชิลี" พุ่ง!!  

08 เม.ย. 2562 | 05:58 น.


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย ผลเอฟทีเอดันการค้า "ไทย-ชิลี" เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6 หลังจากมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2558 พร้อมกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งแสวงหาโอกาสและประโยชน์จากความตกลง และเตรียมปรับตัวรองรับการเปิดเสรีเพิ่มเติมในปี 2563 และปี 2566

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์ผลการเปิดเสรีทางการค้า ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ชิลี พบว่า ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับชิลีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด การค้า 2 ฝ่าย มีมูลค่าสูงถึง 1,231 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6 เมื่อเทียบกับมูลค่า 895 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558 ที่ความตกลงการค้าเสรี "ไทย-ชิลี" เริ่มมีผลใช้บังคับ

ภายใต้ "เอฟทีเอ" ชิลีไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จากไทยแล้ว คิดเป็นร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด ยังคงเหลือกลุ่มสินค้าที่จะทยอยลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2563 เช่น ปูนซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ โพลิเมอร์ พลาสติก ยางล้อ หมึกพิมพ์ รถบรรทุก ผ้าทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระจก เซรามิก ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น ขณะที่ ไทยจะลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในสินค้าเฟอร์นิเจอร์ สุขภัณฑ์ เครื่องครัว สิ่งพิมพ์ สิ่งทอ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ ของเล่น เครื่องเขียน และในปี 2566 จะลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ให้กับสินค้ากลุ่มสุดท้าย โดยชิลีจะลดภาษีในสินค้า เช่น เนื้อสัตว์ปีก ข้าว น้ำตาล รถโดยสาร รถบรรทุก ยางรถยนต์ สิ่งทอ เป็นต้น ขณะที่ ไทยจะลดภาษีในสินค้า เช่น ประมง เนื้อสัตว์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับชิลี มีมูลค่า 1,231.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 9.6 แบ่งเป็น การส่งออก 779.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้า 452.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในมูลค่าการส่งออกไปชิลี มีการใช้สิทธิส่งออกภายใต้เอฟทีเอ "ไทย-ชิลี" สูงถึง 744.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 99.4 ของมูลค่าการส่งออก ขณะที่ นำเข้าโดยใช้สิทธิ 47.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 10.5 ของมูลค่าการนำเข้ารวม นับว่าผู้ประกอบการได้ใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอ "ไทย–ชิลี" ในการส่งออกสูงเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเอฟทีเออื่น ๆ ของไทย โดยสินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิเอฟทีเอ "ไทย-ชิลี" สูงเป็นอันดับต้น เช่น รถบรรทุกขนส่งไม่เกิน 5 ตัน รถยนต์ความจุกระบอกสูบ 1,000-1,500 ลบ.ซม. ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) และเครื่องซักผ้า เป็นต้น ขณะที่ สินค้านำเข้าของไทยที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเอ "ไทย-ชิลี" สูงเป็นอันดับต้น เช่น องุ่นสดหรือแห้ง ผลไม้สด (แครนเบอร์รี่, บลูเบอร์รี่) สังกะสีออกไซด์และสังกะสีเพอร์ออกไซด์ เมล็ดธัญพืช และผลไม้และลูกนัดอื่น ๆ เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า ชิลีเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคอเมริกาใต้ ที่ไทยมีโอกาสขยายการค้าการลงทุนได้อีกมาก โดยชิลีมีนโยบายการค้าที่เปิดกว้าง ประกอบกับได้ทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ รวม 26 ฉบับ กับ 64 ประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะทำธุรกิจกับชิลีเพื่อขยายตลาดส่งออกและร่วมเป็นห่วงโซ่อุปทานการค้าของชิลี จึงควรเร่งพัฒนาศักยภาพ พร้อมกับศึกษาข้อมูลตลาดและพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคสินค้าของผู้บริโภคชิลี เพื่อสามารถเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งควรแสวงหาโอกาสและประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี และควรเตรียมปรับตัวสำหรับการเปิดเสรีเพิ่มเติมในปี 2563 และปี 2566 ซึ่งผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยและของประเทศชิลี รวมถึงประเทศคู่เจรจาอื่น ๆ เพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ 
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือที่ DTN