‘ฟันด์โฟลว์’ไหลออก หุ้น-บอนด์2.6หมื่นล้าน

06 เม.ย. 2562 | 03:30 น.

โบรกฯมองต่างชาติยังลังเลการเมืองไทย ทำโฟลว์ไม่ไหลกลับ เผยต้นปีถึงปัจจุบันต่างชาติขายสุทธิในหุ้นไทยแล้ว 1.25 หมื่นล้านบาทและตลาดบอนด์ 1.36 หมื่นล้านบาท มั่นใจทั้งปีเงินไม่ไหลออก ลุ้นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่เรียกเชื่อมั่น 

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ แนวโน้มกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติยังไม่ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย มีทั้งสถานะซื้อและขายสลับกัน โดยมองว่านักลงทุนยังชะลอเพื่อติดตามโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ก่อน ทั้งนี้ ตามกลไกตลาดตอนนี้ควรจะเป็นการไหลกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว อายุ 10 ปี ของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ และการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติอยู่ในระดับตํ่าสุดในประวัติการณ์ที่ 22.6% ของมูลค่าตลาด

อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยในอดีตที่ผ่านมา ช่วงปี 2548 ถึงกลางปี 2551 มีเงินไหลเข้าประมาณ 390,000 ล้านบาท จากนั้นต้นปี 2552 ถึงกลางปี 2556 ไหลเข้าอีกกว่า 470,000 ล้านบาท ขณะที่ ในปี 2561 เงินไหลออกประมาณเกือบ 300,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้มองว่าเงินต่างชาติไม่ควรไหลออก หากรัฐบาลมีการจัดตั้งและมีความเชื่อมั่นกลับมา รวมถึงทุกอย่างเป็นไปตามกลไกทั้งในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับตํ่า และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี คาดว่าจะเห็นการกลับเข้ามาซื้อในหุ้นไทยอีกครั้ง ‘ฟันด์โฟลว์’ไหลออก  หุ้น-บอนด์2.6หมื่นล้าน    

บล.ไทยพาณิชย์ฯ ระบุว่า การเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นภูมิภาคตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 4 เมษายน 2562 พบว่า นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิมากที่สุด คือ ตลาดหุ้นอินเดีย เกาหลีใต้ และไทเป ส่วนตลาดหุ้นที่มีสถานะขายสุทธิมากที่สุด คือตลาดหุ้นญี่ปุ่น รองลงมาคือไทย และมาเลเซีย ขณะที่ในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ 12,466.95 ล้านบาท และตลาดตราสารหนี้ไทยสถานะขายสุทธิ 13,617 ล้านบาท หรือรวม 2 ตลาดร่วม  26,084 ล้านบาท ขณะที่ช่วงหลังเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม-4 เมษายน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในหุ้นไทยแล้ว 901.11 ล้านบาท

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สถานะการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติดังกล่าว น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ตลาดยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนของปัจจัยในประเทศ ซึ่งหากสถานการณ์ในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น และเศรษฐกิจไทยกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ก็อาจจะทำให้มีกระแสเงินทุนบางส่วนไหลกลับเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงยํ้าสัญญาณไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC รอบถัดๆ ไป

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,459 วันที่ 7-10 เมษายน 2562

‘ฟันด์โฟลว์’ไหลออก  หุ้น-บอนด์2.6หมื่นล้าน