ชี้ช่องจากทีมทูต | สะพาน "ฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า" โอกาสใหม่เชื่อมการเดินทางการค้า-ลงทุนไทย (ตอน 2)

05 เม.ย. 2562 | 09:01 น.


... การสร้างสะพาน "ฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า" เป็นการยกระดับการคมนาคมที่จะช่วยส่งเสริมโครงการพัฒนาพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาและสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจภายในพื้นที่ที่ประกอบไปด้วย ฮ่องกง มาเก๊า และหัวเมืองทั้งหมด 9 แห่งในมณฑลกวางตุ้ง ที่ถูกจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่นํ้าจูเจียง (Pearl River Delta) ซึ่งได้แก่ กวางโจว เสินเจิ้น จูไห่ ฝอซาน ตงก่วน หุ้ยโจว จงซาน เจียงเหมิน และจ้าวซิ่ง โดยสะพานแห่งนี้จะช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทางทางบกภายในพื้นที่ Greater Bay Area ได้ เช่น จากเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางกว่า 4 ชั่วโมง จากฮ่องกงไปเมืองจูไห่ ก็ลดลงเหลือเพียงแค่ 45 นาที ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าระหว่างฮ่องกง มาเก๊า และเมืองต่าง ๆ ทางตอนใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่ดังกล่าว


⁍ ข้อกำหนดการจราจร

ในขณะที่ ฮ่องกงและมาเก๊ามีระบบการจราจรที่ชิดทางด้านซ้ายมือ (Left-Hand Traffic-LHT) สะพานฮ่องกง-จู่ไห่-มาเก๊า จะใช้ระบบการจราจรที่ชิดทางด้านขวามือ (Right-Hand Traffic-RHT) ตามระบบของเมืองจูไห่และเมืองอื่น ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากการจราจรของเมืองทั้ง 3 นั้น มีความแออัดมาก ทำให้แต่ละเมืองไม่ต้องการให้มีจำนวนยานพาหนะเพิ่มขึ้น สะพานแห่งนี้จึงมีข้อจำกัดให้ยานพาหนะที่มีทะเบียนข้ามเขตแดนที่กำหนดเท่านั้น จึงจะสามารถผ่านขึ้นสะพานได้ ผู้คนส่วนใหญ่จึงเดินทางข้ามสะพานแห่งนี้ด้วยรถโดยสารประจำทาง หรือ รถรับจ้างข้ามเขตแดน

 

ชี้ช่องจากทีมทูต | สะพาน "ฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า" โอกาสใหม่เชื่อมการเดินทางการค้า-ลงทุนไทย (ตอน 2)

 

นอกจากนี้ ยานพาหนะที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและมณฑลกวางตุ้งด้วยสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า จะต้องมีประกันยานยนต์ของทั้งฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนยานพาหนะที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและมาเก๊าด้วยสะพานก็จะต้องมีประกันยานยนต์ของทั้งฮ่องกง มาเก๊า และจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากส่วนของสะพานหลักนั้นถือว่าตั้งอยู่บนน่านนํ้าของจีนแผ่นดินใหญ่ จึงต้องทำตามระเบียบของจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย รายละเอียดเกี่ยวกับประกันสามารถดูได้ที่ HZMB Insurance Corner


⁍ วีซ่า

ผู้ที่เดินทางข้ามสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าจะต้องผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองขาออก (Departure) ในอาคารผู้โดยสารของ Hong Kong Port, Zhuhai Port หรือ Macao Port ที่ต้นทางก่อนข้ามสะพาน และผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองขาเข้า (Arrival) ในอาคารผู้โดยสารที่ Port ปลายทางอีกครั้งหลังข้ามสะพาน

ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางไทยสามารถเดินทางระหว่างฮ่องกงและมาเก๊าด้วยสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าได้ โดยไม่ต้องใช้วีซ่า และสามารถพำนักอยู่ในแต่ละที่ได้ 30 วัน แต่หากต้องการไปจู่ไห่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางไทยจะต้องมีวีซ่าจีน หากจะเดินทางจากฮ่องกง หรือ มาเก๊า ไปยังเมืองจูไห่ด้วยสะพานแห่งนี้

กรณีเดินทางจากจูไห่ไปมาเก๊า หรือ จากจูไห่ไปฮ่องกง ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางไทยที่มีวีซ่าเข้าจีนและเดินทางอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่อยู่แล้ว สามารถเดินทางจากเมืองจูไห่ไปยังฮ่องกง หรือ มาเก๊า ด้วยสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าได้เลย โดยไม่ต้องขอวีซ่าอื่นเพิ่ม



⁍ รถโดยสารประจำทาง

รถโดยสารประจำทางมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ Shuttle Bus และ Cross-Boundary Coach Shuttle Bus ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Golden Bus จะให้บริการเฉพาะบริเวณสะพาน โดยมี 2 เส้นทาง คือ (1) Hong Kong Port-Zhuhai Port และ (2) Hong Kong Port-Macao Port แต่ละเส้นทางจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที มีบริการตลอด 24 ชั่วโมง และมีเที่ยวรถทุก ๆ 10-15 นาที ในเวลาปกติทุก ๆ 5-10 นาที ในชั่วโมงเร่งด่วน และทุก ๆ 15-30 นาที ในช่วงกลางคืน

ผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วโดยสารได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วและตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติที่อยู่ในอาคารผู้โดยสารของ Hong Kong Port, Zhuhai Port หรือ Macao Port หลังจากที่ผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองแล้ว หรือ ซื้อตั๋วออนไลน์ได้ผ่านบัญชี Wechat สาธารณะชื่อ "hzmbus" และผ่านเว็บไซต์ (เป็นภาษาจีน) ของบริษัทรถ Shuttle Bus ที่
HZM BUS


⁍ รถบรรทุกสินค้า

ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดออกมาค่อนข้างมากสำหรับรถยนต์ส่วนตัว แต่สำหรับรถบรรทุกสินค้าต่าง ๆ จะไม่มีข้อจำกัดมาก เนื่องจากรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าหันมาใช้สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊ามากขึ้น รถขนส่งสินค้า (Goods Vehicles) และรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (Container Trucks) ที่มีทะเบียนข้ามเขตแดนอยู่แล้ว จะสามารถข้ามสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าได้เลย โดยไม่ต้องทำเรื่องสมัครขอใบอนุญาตอื่น ๆ อีก อย่างไรก็ตาม รถดังกล่าวจะต้องมีความสูงและบรรทุกนํ้าหนักไม่เกินขีดจำกัดที่กำหนดไว้ในเมืองที่อยู่บนเส้นทางขับขี่ ซึ่งแต่ละเมืองก็จะกำหนดขีดจำกัดไว้แตกต่างกันออกไป เช่น จีนแผ่นดินใหญ่อนุญาตให้รถขนส่งสินค้าบรรทุกได้สูงสุด 49 ตัน ในขณะที่ ฮ่องกงอนุญาตให้สูงสุด 44 ตัน และมาเก๊าอนุญาตให้สูงสุด 38 ตัน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าในการขนส่งสินค้า จึงควรศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด รวมถึงพิธีการศุลกากรทางบกของด่านที่จะต้องผ่านให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจใช้เส้นทางดังกล่าว ในส่วนของค่าผ่านทางสำหรับข้ามสะพาน (ต่อคันต่อเที่ยว) รถขนส่งสินค้าจะต้องเสียค่าผ่านทาง 60 หยวน ในขณะที่ รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จะต้องเสียค่าผ่านทาง 115 หยวน


หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3459 ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2562
 

ชี้ช่องจากทีมทูต | สะพาน "ฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า" โอกาสใหม่เชื่อมการเดินทางการค้า-ลงทุนไทย (ตอน 2)