รายย่อยเลิกพร้อมเพย์! เลี่ยงภาษี อี-เพย์เมนต์ จ่ายสดลด 20%

03 เม.ย. 2562 | 10:08 น.


หวั่นถูกรีดภาษี! ผู้ประกอบการแห่ปลดป้ายพร้อมเพย์ หันมารับเงินสดแทน พร้อมให้ส่วนลด 3-20% ประธานสมาคมแบงก์เชื่อไม่กระทบการเดินหน้าสู่การชำระเงินดิจิทัล แบงก์ชาติร่วมสรรพากรพุ่งเป้าตรวจภาษีนอกระบบพร้อมเพย์แทน

ในสังคมไทยกำลังเกิดปรากฏการณ์ร้านค้ารายย่อยปฏิเสธให้บริการชำระเงินรูปแบบใหม่ หรือ พร้อมเพย์ ที่สามารถใช้รหัส หรือ หมายเลขอะไรก็ได้ที่กำหนด (Any ID) ในการระบุผู้รับโอนเงิน ไม่ว่าจะเป็น เบอร์โทรศัพท์มือถือ เลขประจำตัวประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร เลขทะเบียนนิติบุคคล หรือ หมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet ID) และอี-เมล์แอดเดรส (e-mail address) เพราะมองว่า หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 หรือ กฎหมายภาษีอี-เพย์เมนต์ มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2562 จะเป็นช่องทางให้กรมสรรพากรมาจัดเก็บภาษีมากขึ้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แม้ว่ากรมสรรพากรจะออกมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง ว่า การนำส่งข้อมูลเพื่อความสะดวกรวดเร็วของผู้เสียภาษี และการเก็บข้อมูลของกรมสรรพากรไม่ได้มุ่งหวังที่จะไปจัดเก็บภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ร้านค้าเชื่อได้ โดยบางร้านค้าหันมาซื้อขายด้วยเงินสดแทน โดยเสนอส่วนลดพิเศษ ตั้งแต่ 3-20% ขึ้นอยู่กับประเภทร้านค้า ทำให้ยอดการใช้พร้อมเพย์ไม่ Active หรือ บางร้านปลดป้ายพร้อมเพย์ลง

ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายภาษีอี-เพย์เมนต์ กำหนดให้สถาบันการเงินตามกฎหมาย ว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตามกดหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินรายงานธุรกรรมการรับฝาก หรือ โอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปต่อไป และธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ต่อกรมสรรพากร โดยจะเป็นการรายงานครั้งแรกภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563 นั่นหมายถึง ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในปี 2562



⁍ ยัน! อำนวยความสะดวก

ทั้งที่เหตุผลในการประกาศพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการดำเนินการของภาครัฐ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งรวมถึงการรับชำระเงินภาษี ประกอบกับลักษณะในการทำธุรกรรมภาคเอกชนในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่งผลให้การตรวจสอบและติดตามข้อมูล เพื่อการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรในปัจจุบันไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการนำส่งเงินภาษี การยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากร และเพื่อให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูลอันจะเป็นประโชย์ต่อการจัดเก็บภาษีอากร จึงสมควรปรับปรุงวิธีการนำส่งเงินภาษีบางประเภท และการยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีการอื่นเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรได้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรและปรับปรุงอัตราโทษ สำหรับกรณีเจ้าพนักงานเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

 

รายย่อยเลิกพร้อมเพย์! เลี่ยงภาษี อี-เพย์เมนต์ จ่ายสดลด 20%


⁍ หวั่นสังคมไร้เงินสดสะดุด

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มองกันว่า การเดินทางไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ของรัฐบาลจะสะดุดลง ซึ่งสอดคล้องกับแหล่งข่าวรายหนึ่งที่ยอมรับว่า กฎหมายฉบับนี้ทำให้แผนให้ความรู้ผู้ประกอบการยากขึ้น แม้ว่าในแง่ประเทศจะได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปมากแล้ว เพื่อนำไปสู่ระบบการชำระเงินดิจิทัล เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน หรือ เพิ่มยอดขาย และดูแลราคาต้นทุนบริการให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งกลุ่มการเงินพยายามสร้างความคุ้นชิน ทั้งให้ความรู้ เพื่อให้ลูกค้าหันมาใช้ช่องทางดิจิทัลและเพิ่มรูปแบบการชำระเงินให้หลากหลาย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรายเล็กที่เข้าสู่ระบบดิจิทัลที่หวังจะต่อยอดฐานข้อมูล เพื่ออำนวยบริการ หรือ สินเชื่อดิจิทัลกับลูกค้าด้วย

"เรื่องนี้มองว่า เป็นเรื่องของนโยบายที่มีความขัดแย้งกันของผู้กำหนดนโยบาย เพราะอีกฟากต้องการสนับสนุนการเข้าสู่ Cashless อีกฟากเหมือนออกมาสกัด ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันก่อน เพราะหลังสื่อสารออกมาทำให้ประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจ มีความสับสน และมีความกลัวว่า ตัวเองจะเข้าข่ายถูกจัดเก็บภาษีหรือไม่"

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทั้ง ธปท. และกรมสรรพากรมีนโยบายตรงกันที่ส่งเสริมให้การใช้อี-เพย์เมนต์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอี-เพย์เมนต์เป็นช่องทางโปร่งใส อยู่ในระบบ ฉะนั้น ร้านค้าที่ไม่ใช้อี-เพย์เมนต์จะเป็นเป้าหมายที่จะถูกตรจสอบมากกว่ารายที่ใช้อี-เพย์เมนต์



⁍ ยัน! ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษี

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ถ้ามีการปลดป้ายพร้อมเพย์ตอนนี้ ในอนาคตข้างหน้าก็ต้องกลับมาใช้ เพราะโดยหลักการถ้ามีรายได้ต้องเสียภาษี ขณะที่ ภาครัฐมีมาตรการเอสเอ็มอีบัญชีเดียว เพราะฉะนั้น ทุกคนจะถูกจูงให้เข้าสู่ระบบบัญชีเดียว ซึ่งการรับชำระเงินเป็นส่วนประกอบของบัญชีใหญ่ ถ้าทุกอย่างถูกต้องก็ไม่มีประเด็น แต่แนวทางชำระเงินผ่านดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุน ช่วยให้มีข้อมูลถูกต้อง เมื่อทำธุรกรรมการเงิน ธนาคารต่าง ๆ ก็ได้ประโยชน์

"ถ้าคนกลัว เพราะไม่อยากจ่ายภาษี ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เพราะโดยหลักเมื่อมีเอสเอ็มอีบัญชีเดียวขึ้นมา วิธีรับเงิน จ่ายเงิน จะเป็นองค์ประกอบเป็นยอดบัญชีใหญ่ ถ้าทุกอย่างถูกต้อง แบงก์ก็ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์สรรพากร โดยพิจารณาสินเชื่อ ก็ต้องใช้งบแบบนี้ ซึ่งถ้าใครไม่มีก็จะเป็นอุปสรรคการเข้าถึง หรือ ได้รับสินเชื่อ ส่วนจะทำให้แผนการไปสู่สังคมไร้เงินสดช้าหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องประเมิน ซึ่งส่วนตัวมองว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะเป้าหมายในที่สุดไทยต้องเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอยู่แล้ว"

นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้สำรวจลูกค้าบางส่วนแล้ว พบว่า มีเริ่มกังวลบ้างและคิดว่าผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่มีเงินเข้าออกบัญชีก็ให้ความสนใจด้วย เพราะกังวลว่าจะเข้าเงื่อนไขที่จะต้องโดนตรวจสอบ หรือ ต้องรายงานกับกรมสรรพากรหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่า ธุรกิจมีทั้งคนที่จ่ายภาษีถูกต้องและไม่ถูกต้อง

"การปลดป้ายรับพร้อมเพย์ยังไม่ได้พิสูจน์อะไร ต้องมาดูผลกระทบจากนี้ว่า ยอดธุรกรรม (Transaction) จะลดลงหรือไม่ และมูลค่าการใช้พร้อมเพย์จะลดลงขนาดไหน ปัจจุบัน กสิกรไทยมียอดธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์เฉลี่ย 1,000 ล้านบาทต่อเดือน และมีร้านค้า (K Plus Shop) อยู่ที่ราว 1.7-1.8 ล้านร้านค้า"

 


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,458 วันที่ 4-6 เม.ย. 2562 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'ทีเอ็มบี' รุก! บริหารสวัสดิการมนุษย์เงินเดือน
"Satang Pro" รับโอนเงินพร้อมเพย์