ข้าพระบาท ทาสประชาชน : พรรคประชาธิปัตย์ ในสถานการณ์ปัจจุบัน

03 เม.ย. 2562 | 06:34 น.

มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกเลย!!!!! LINE : @THANSETTAKIJ 
ข้าพระบาท ทาสประชาชน : พรรคประชาธิปัตย์  ในสถานการณ์ปัจจุบัน
ข้าพระบาท ทาสประชาชน : พรรคประชาธิปัตย์  ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ข้าพระบาท ทาสประชาชน : พรรคประชาธิปัตย์  ในสถานการณ์ปัจจุบัน
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จดทะเบียนก่อตั้งเป็นพรรคการเมืองครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2489 นับเวลาถึงปัจจุบัน ก็ครบรอบ 73 ปี แล้ว ถือเป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุดพรรคการเมืองหนึ่ง เทียบได้กับพรรคคองเกรสของอินเดีย หรือพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคการเมือง อื่นๆในเอเชีย


เป็นที่รู้กันว่าเมื่อแรกเริ่ม พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคแนวอนุรักษนิยม และนิยมเจ้า นายควง อภัยวงศ์ และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคได้ร่วมประชุมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2489 ที่บริษัทของนายควง ย่านเยาวราช แต่พรรคถือเอาวันที่ 6 เมษายน 2489 ซึ่งเป็นวันที่ตรงกับวันจักรี เป็นวันก่อตั้งพรรค จุดประสงค์หรืออุดมการณ์เมื่อเริ่มต้น ก็เพื่อเป็นพรรคฝ่ายค้านคานอำนาจรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายปฏิวัติของคณะราษฎร์ เมื่อปี 2475 หากอยากรู้อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องถามจากบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งพรรค

ปี 2489 พรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน มีการอภิปรายรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 พล.ร.ต.ถวัลย์ ถูกนายทหารฝ่ายจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำรัฐประหารยึดอำนาจ แต่หลังรัฐประหาร นายควง อภัยวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ และเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 มกราคม 2491 ผลการเลือกตั้ง ปรากฎว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนมากที่สุด จึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ประวัติศาสตร์การเมืองช่วงนี้ จึงมีคำถามถึงอดีตหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ และบรรดาลูกพรรคผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ว่า “พรรคประชาธิปัตย์ มีอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการจริงหรือ?” และในช่วงต่อๆมา เมื่อมีการปฏิวัติในปี 2519 ที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ร่วมคณะอยู่ด้วย และมีการเลือกตั้งหลายครั้งต่อมา จน พล.อ.เปรม ขึ้นเป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ร่วมและสนับสนุนรัฐบาลทหาร คือ พล.อ.เปรม เรื่อยมา จนทำให้ต่อมา นายชวน หลีกภัย  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีโอกาสรับเลือกเป็นนายกฯ หลังจากสั่งสมประสบการณ์การบริหารประเทศ ร่วมกับรัฐบาล พล.อ.เปรม ประชาธิปัตย์จึงมีประวัติเคยสนับสนุนรัฐบาลทหาร และนายกรัฐมนตรีที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง

นี่คือบทเรียนและประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มิอาจบิดเบือนได้ ความสำเร็จและชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ มาจากการรู้จักสรุปบทเรียน วิเคราะห์และศึกษาสถานการณ์แต่ละช่วงอย่างถ่องแท้ รู้จักจำแนกมิตร-ศัตรู สร้างแนวร่วมทางการเมือง และสามัคคีคนที่ควรสามัคคี จับมือกับพันธมิตรทางการเมืองอย่างชาญฉลาด รู้จังหวะและอดทนรอคอยโอกาส ไม่ทอดทิ้งประชาชน หาใช่การท่องคาถาอุดมการณ์แบบคัมภีร์ โดยละเลยต่อสถานการณ์และความต้องการของประชาชน

ความจริงแล้วพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อตั้งมายาวนานควรเป็นพรรคที่มีพื้นฐานมวลชน สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคที่เข้มแข็ง มากมายเหนียวแน่นกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ แต่เหตุใดปัจจุบันกลับมิได้เป็นเช่นนั้น ยิ่งนานวันมวลชนก็ถดถอย ผู้สนับสนุนเหลือน้อย แนวร่วมก็ตีจาก

มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกเลย!!!!! LINE : @THANSETTAKIJ 
ข้าพระบาท ทาสประชาชน : พรรคประชาธิปัตย์  ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า น่าจะมาจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับประชาชนมีปัญหาและช่องว่าง และมีความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพรรคกับมวลชน หรืออาจจะเรียกว่าพรรคไม่ได้ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมต่อสู้กับประชาชน บางครั้งถึงกับทอดทิ้งมวลชน ตัวอย่างที่มีให้เห็นเด่นชัดในช่วงเวลาอันใกล้ที่ผ่านมาคือ

1. กรณีมีพี่น้องประชาชนพันธมิตรฯ เรือนแสนเรือนล้าน ออกมาต้านและขับไล่รัฐบาล “ระบอบทักษิณ” จนทำให้พรรคมีโอกาสเป็นรัฐบาล และมวลชนเหล่านั้นพร้อมเป็นแนวร่วมและผู้สนับสนุนพรรคที่เข้มแข็ง มั่นคง และไว้ใจได้ที่สุด เป็นโอกาสที่พรรคจะสามัคคีและผนึกกำลังกับประชาชน อย่างกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด แต่พรรคก็ละเลยโอกาสนั้นเสีย ทั้งมีพฤติกรรมหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่าทอดทิ้งมวลชน ปล่อยให้ตำรวจดำเนินคดีกับมวลชนเหล่านั้น ด้วยข้อหาร้ายแรงในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับพรรคคู่แข่ง ที่ยังสามารถรักษาฐานมวลชนไว้ได้

2. คือกรณีการชุมนุมของมวลมหาประชาชน กปปส.ประชาชนออกร่วมต่อสู้ขับไล่รัฐบาลตัวแทนระบอบทักษิณ นับหลายสิบล้านทั่วประเทศ จนทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปัจจุบัน แต่เพราะความไม่เด็ดเดี่ยวของผู้นำพรรค แถมบางคนยังมองประชาชนเหล่านั้น เป็นพวกเล่นการเมืองข้างถนนเสียอีก โดยที่พรรคแสดงจุดยืนโลเล ไม่แสดงความเด็ดเดี่ยว ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมต่อสู้กับประชาชน พรรคจึงไม่มีประชาชนเป็นมิตรแท้ เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กโอบอุ้มพรรค

จากทั้ง 2 กรณี พรรคจึงไม่มีมวลชนที่เข้มแข็งเป็นพื้นฐาน 73 ปี ที่ก่อตั้งพรรค จึงเป็น 73 ปี ที่ยังไร้ฐานมวลชนที่เข้มแข็ง ตราบเท่าปัจจุบัน เพราะพรรคและผู้นำพรรคได้ละทิ้งโอกาสอันสำคัญ วางตัวเหินห่างประชาชน ไม่นับรวมมวลชนคนอีสาน หรือต่างจังหวัดที่ห่างไกลในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ต่างหันหลังและปฏิเสธพรรคประชาธิปัตย์

         


สถานการณ์ปัจจุบัน การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มีนาคม 2562 การที่พรรควิเคราะห์และตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ ที่ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ยอมทำแนวร่วมจับมือกับฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ เพื่อโอกาสทางการเมืองในวันข้างหน้า อันเป็นการสวนทางกับความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ที่เห็นว่าบ้านเมืองยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง เป็นเอกภาพเพื่อรับมือกับระบอบทักษิณ


การออกคลิปชุดสุดท้ายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หวังจะบีบให้ประชาชนเลือกฝ่าย เทคะแนนสนับสนุนตน โดยมิได้ประเมินอารมณ์ความรู้สึกประชาชนว่าต้องการอย่างไร การประกาศตัวไม่เอาทั้งบกพร่องโดยสุจริต ไม่สนับสนุนพวกสืบทอดอำนาจ เพื่อชูตนเองให้โดดเด่น โดยไร้พื้นฐานความเป็นจริง ขาดมวลชนสนับสนุนที่เข้มแข็ง เมื่อบวกเข้ากับฮ่องกงเอฟเฟกต์ ประชาชนกลัวระบอบทักษิณกลับมายิ่งกว่ากลัวลุงตู่ และต้องการเห็นบ้านเมืองสงบ การใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่ จึงเทมาที่ลุงตู่และพรรคประชารัฐ ประชาธิปัตย์จึงถูกทิ้งและพ่ายแพ้

บทเรียนครั้งนี้ สอนให้รู้ว่า พรรคการเมืองของประชาชน ควรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประชาชน เมื่อคิดผิดในทางยุทธศาสตร์ กำหนดยุทธวิธีผิดพลาด หายนะจึงเกิดขึ้น วันนี้ยังมีเวลาที่จะต้องสรุปบทเรียนและคิดทบทวนสำหรับประชาธิปัตย์ เมื่อประชามติประชาชนตัดสินว่าอยากให้ลุงตู่ เป็นนายกฯ โดยแสดงออกผ่านผลคะแนนเลือกตั้งแล้วเช่นนี้ ควรที่พรรคจะได้น้อมรับประชามติมหาชน มิควรดื้อรั้นอีกต่อไป คิดผิดคิดใหม่ได้ สนับสนุนจับมือกับลุงตู่ กู้สถานการณ์พรรคได้ การเสนอเป็นฝ่ายค้านอิสระก็ดี การอ้างความพ่ายแพ้ว่า เพราะพรรคเล่นการเมืองข้างถนนก็ดี หรือการไม่แสดงจุดยืนว่าพร้อมจะสนับสนุนฝ่ายใดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ดี มิได้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ดูดีขึ้นในสายตาประชาชนแต่อย่างใด

สถานการณ์ยามนี้ หากเห็นแก่ประโยชน์บ้านเมือง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และเพื่อให้โอกาสตนในการปรับขบวนของพรรค จึงสมควรมายืนอยู่บนเส้นทางเดียวกันกับประชาชน ที่ไม่ต้องการเห็นการฟื้นชีพของระบอบทักษิณ สถานการณ์ปัจจุบัน พรรคไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีที่สุด นอกจากร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุนลุงตู่เป็นนายกฯ จึงจะมีโอกาสสรุปบทเรียน สร้างพรรคให้เข้มแข็งขึ้นมาใหม่ได้ นี่คือจุดยืนที่อยากเสนอ ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร หยุดความดื้อรั้นเสียเถอะ


| คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3458 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4-6 เม.ย.2561