ประเทศวุ่น!! กกต. ลาออก ถูกถอดถอน

03 เม.ย. 2562 | 00:00 น.

มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกเลย!!!!! LINE : @THANSETTAKIJ 
ประเทศวุ่น!! กกต. ลาออก ถูกถอดถอน

วันนี้ “7 เสือ กกต.” ที่ประกอบด้วย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี นายปกรณ์ มหรรณพ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และ นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ถูกถล่มอย่างหนัก หลังปิดหีบการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม และผลการนับคะแนนที่เปิดเผยออกมาเป็นที่เคลืยบแคลงสงสัยของบางฝ่าย

ล่าสุดเว็บไซต์ www.change.org เปิดให้ลงชื่อถอด ถอน กกต. ตั้งเป้าล่ารายชื่อให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ออกล่าชื่อประชาชนเตรียมยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนเอาผิดในวันที่ 8 เมษายนนี้

กระแสเรียกร้องให้ถอดถอน “กกต.” หรือหาก กกต.ถอดใจพากันลาออก จะพัดพาการเมืองไทยให้เข้าสู่วังวนเดิม หรือยิ่งซํ้าเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ น่าขบคิดไม่น้อย

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สะท้อนความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ยืนยันว่า หากกกต.ลาออกไม่ได้ทำหน้าที่ในช่วงนี้ ความวุ่นวายจะเกิดขึ้น เพราะยังไม่ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

ประเทศวุ่น!! กกต. ลาออก ถูกถอดถอน

“หาก กกต.ชุดนี้ลาออกหรือเมื่อดำเนินการยื่นให้ถอดถอน กกต. ประธานศาลฎีกาจะตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดขึ้นมารักษาการ มาทำหน้าที่แทนซึ่งอาจตั้งครบจำนวน หรืออย่างน้อย 5 ท่าน แต่คนใหม่ที่เข้ามาจะรู้ระบบ หรือเตรียมตัวทันหรือไม่ เพราะยังไม่เคยทำงานมาก่อน” อดีตที่ปรึกษา กรธ.ระบุ

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดตอนนี้คือ ต้องทำความเข้าใจและหารือร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นว่า คืออะไร จากนั้นจึงมาดูสภาพของปัญหาและหาวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เช่น กรณีเรื่องของตัวเลข หรือการรายงานที่ไม่เป็นที่เข้าใจ หรือการดำเนินการเรื่องการจัดการเลือกตั้ง และเรื่องการคำนวณตัวเลข ส.ส. เป็นต้น

“วันนี้ต้องคิดให้รอบคอบ ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องทำให้การเลือกตั้งคลี่คลายผ่านพ้นไป จากนั้นจะเอาหลักฐานไปยื่นหรือดำเนินการก็เป็นไปตามกระบวนการ แต่ไม่ควรจะทำให้เกิดปัญหาของการเลือกตั้งหรือทำให้ประเทศเดินต่อไปไม่ได้” อดีตที่ปรึกษา กรธ.กล่าวยํ้า

 

กกต.ออก-เจอม.44แก้ปัญหา

ด้าน นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า กรณีที่มีการเรียกร้องให้ถอดถอน กกต.นั้นสามารถกระทำได้ แต่ “ไม่ง่าย” อย่างที่คิด

“จริงๆ แล้วไม่ต้องล่ารายชื่อก็สามารถยื่นฟ้อง กกต.ได้ เพียงแค่ไปยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวน ซึ่งถ้า ป.ป.ช.รับฟ้อง กกต.ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องมีหลักฐานว่า กกต.ทำผิดอะไร ทุจริตต่อหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอะไร เช่น ข้องใจเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของกกต. บอกว่า กกต.กระทำการฝ่าฝืนผิดจริยธรรม ในกฎหมายยังระบุเอาไว้ว่า “ผิดจริยธรรมร้ายแรง” จึงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย กรณีอื่นก็ให้ส่งอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น

กระบวนการที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า มันไม่ง่าย และถ้า กกต.เกิดตัดสินใจลาออก ตอนนี้ก็จะยุ่ง รัฐบาลต้องตั้งผู้ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่แทน ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาจใช้ ม.44 มาแก้ปัญหานี้ จะรับกันได้หรือไม่”

 

ถอดถอนกกต.ไม่ง่าย

เช่นเดียวกับ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แสดงความ เห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อกรณีที่มีการล่ารายชื่อเพื่อถอดถอน กกต.ว่า

กระแสถอดถอนกกต.กำลังมาแรงผ่านเว็บไซต์ ซึ่งระดมผู้สนับสนุนได้มากกว่า 7 แสนคนแล้ว เข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อกดดัน กกต. ล่าสุดมีการล่าชื่อนิสิตนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยด้วยแบบฟอร์มพร้อมบัตรประชาชน แต่ถึงจะได้จำนวนเท่าใดก็ไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ ไม่ได้ให้อำนาจ ส.ว. (หรือ สนช. ที่ปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และส.ว.) ถอดถอนกรรมการในองค์กรอิสระอีกต่อไป แต่มอบอำนาจให้ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี ตาม มาตรา 234, 235 และ 236 ของรัฐธรรมนูญ คือ

ประเทศวุ่น!! กกต. ลาออก ถูกถอดถอน

ม. 234 ประชาชนมีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนและมีความเห็นว่า กรรมการในองค์กรอิสระ (กกต.) ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง แล้วดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ

หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. มาตรา 235 กรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (กกต.) ให้ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง หากมีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ ป.ป.ช.ทั้งหมดว่า กกต.ผู้นั้นมีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ไต่สวน ให้ดำเนินการ 1. ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย 2. กรณีอื่นให้ส่งสำนวนไปที่อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

เมื่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ประทับรับฟ้อง ให้ กกต.นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ ม. 236 ส.ส.หรือ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาป.ป.ช.ผู้ใดกระทำผิดตาม ม.234 ให้ยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมหลักฐานตามสมควร

ไม่ต้องล่ารายชื่อ ก็สามารถยื่นฟ้อง กกต.ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนก่อน ถ้า ป.ป.ช.รับฟ้อง กกต.ก็ต้องหยุดปฏิบัติ หน้าที่แต่ต้องมีหลักฐานว่ากกต.ทำผิดอะไร ทุจริตต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือ กฎหมายใด 

++++++++

ข้อเคลือบแคลง กกต.

นับตั้งแต่วันเริ่มกระบวนการเลือกตั้ง กกต.ถูกโจมตีมาต่อเนื่องที่หนักหนาสาหัสที่สุด เกิดขึ้นในวันหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งและต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ ในขณะที่ กกต.ได้ออกมาชี้แจงข้อสงสัยเป็นระยะๆ เช่น เรื่องของตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ นายอิทธิพร ประธาน กกต. แถลงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม กับตัวเลขที่แถลงในวันที่ 28 มีนาคม ต่างกันหลายหมื่นคะแนน ว่า เกิดจากการคีย์ข้อมูลของกรรมการประจำหน่วยผ่านระบบแรพพิดรีพอร์ต ซึ่งยังไม่ 100% ขณะที่ข้อมูลที่แถลงไปก่อนหน้านั้น เป็นข้อมูลจากเอกสารการรายงานผลที่ 350 เขตเลือกตั้งส่งเข้ามา

กรณีจำนวนบัตรเลือกตั้งที่แถลงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม เพิ่มขึ้น 4.5 ล้านฉบับ เมื่อเทียบกับจำนวน 93% ที่ประธานกกต.แถลงเมื่อวันที่ 24 มีนาคมว่า ข้อมูลที่แถลงเมื่อวันที่ 24 มีนาคมนั้นเป็นข้อมูลตามที่ระบบรายงานผลอยู่ที่ 93% แต่ที่กกต.แถลงเมื่อวันที่ 28 มีนาคมนั้น มีการรวมผลการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีผู้มาใช้สิทธิราว 2.3 ล้านคน และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่มีผู้มาใช้สิทธิราว 1 แสนคน เมื่อตัวเลขทบเข้าไปทำให้จำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้

รวมถึงเรื่องของจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้มากกว่าจำนวนรวมของบัตรดี บัตรเสีย และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน ซึ่งต่างกันอยู่ 2 ใบ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า เกิดขึ้นในหน่วยเลือกตั้งใด

กรณีที่วินิจฉัยให้บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของนิวซีแลนด์ เป็นบัตรที่ไม่สามารถนับคะแนนได้ เหตุจากความล่าช้า และกรณีมีผู้ใช้สิทธิไม่ตรงกับยอดบัตรเลือกตั้ง ซึ่งกกต.ชี้แจงว่า นั่นคือ “บัตรเขย่ง” เพราะผู้มาใช้สิทธิมาลงชื่อแต่ไม่รับบัตรเลือกตั้งซึ่งมี 9 ใบ เป็นต้น

จนถึงประเด็นร้อนแรงล่าสุดวันนี้กรณีสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ยังคงสับสนงงงวยกันอยู่  

รายงาน โดย...ทีมข่าวการเมือง

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3458 ระหว่างวันที่ 4 - 6 เมษายน 2562

ประเทศวุ่น!! กกต. ลาออก ถูกถอดถอน