ผู้มีรายได้น้อย สะท้อนรัฐ ขอเอกชนทำ‘บ้านหลังแรก’

06 เม.ย. 2562 | 01:00 น.

แม้รัฐบาลเดินหน้านโยบาย “โครงการบ้านหลังแรก” ภายใต้งบ 5 พันล้านบาท สนับสนุนประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมุ่งไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนทำงาน และกำลังสร้างครอบครัว รวมถึงผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ “โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ 2,300 หลัง ล็อตแรก 5 จังหวัด ราคาหลังละไม่เกิน 7 แสนบาท ที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2562 นั้นแต่ภาพอีกด้าน กลับสะท้อนถึงความต้องการไม่ตรงจุดหลังผลสำรวจ โดยเซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) หัวข้อ “บ้านหลังแรกสำหรับผู้มีรายได้น้อย” พบผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ 75.40% กลับต้องการโครงการบ้านที่พัฒนาโดยเอกชน (เอกชนสร้าง-ขาย-จัดการด้านการเงินให้) เพราะกังวลเรื่องคุณภาพ แต่กลายเป็นของหายาก เพราะปัจจุบันมีเอกชนน้อยรายที่กล้าลงทุน  

 

ผู้มีรายได้น้อย สะท้อนรัฐ ขอเอกชนทำ‘บ้านหลังแรก’

 

ขณะที่นายธิติวัฒน์ธีรกุลธัญโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นจูรี่ 21ฯ ระบุผลสำรวจยังสะท้อนว่าอีก 42.90% กลุ่มคนรายได้น้อยยังไม่เข้าใจกฎหมาย-มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 528) ทั้งๆที่เป็นกฎหมายสำคัญเอื้อผู้ไม่เคยมีบ้านมาก่อนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยอาศัยมาตรการทางภาษีเข้ามาช่วย ทำให้ขาดโอกาส ฟากฝั่งผู้ประกอบการเอกชนเองก็มีอุปสรรคทั้งความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ข้อกำหนดจากธนาคารพาณิชย์มาเป็นอันดับ 1 ที่ 85.90% รองลงมาคือ กังวลภาวะหนี้ครัวเรือนของผู้ซื้อ และอุปสรรคเงินดาวน์ ทั้งนี้ข้อเสนอสำคัญของผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ จากตัวอย่าง 1,091 คน ระบุหากเอกชนและรัฐร่วมมือกันมากขึ้นการขับเคลื่อนดังกล่าวอาจสำเร็จและทำให้พวกเขามีที่อยู่คุณภาพอยู่อาศัยได้ 

ผู้มีรายได้น้อย สะท้อนรัฐ ขอเอกชนทำ‘บ้านหลังแรก’

“กับดักสำคัญของการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยอีกข้อ คือผังเมือง หากพื้นที่ใดเป็นสีเขียวกฎหมายกำหนดต้องพัฒนาบ้านขนาดไม่ตํ่ากว่า 100 ตร.ว. ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับกลุ่มบ้านราคาถูกหากเป็นไปได้ควรปรับเปลี่ยนกฎหมายรายกรณีเพื่อเอื้อต่อการทำทาวน์เฮาส์หลังเล็กได้อาจจูงใจให้เอกชนอยากลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้ ยังต้องมีองค์ประกอบเงื่อนไขการเงินโดยรัฐ-เอกชน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”

หน้า 27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3458 ระหว่างวันที่ 4 - 6 เมษายน 2562

ผู้มีรายได้น้อย สะท้อนรัฐ ขอเอกชนทำ‘บ้านหลังแรก’