ศาลฎีกาสั่ง "ข่าวอินโฟเควสท์" เป็นงานมีลิขสิทธิ์-สร้างบรรทัดฐานวงการสื่อไทย

02 เม.ย. 2562 | 06:10 น.


ศาลฎีกาพิพากษาให้ "ข่าวของอินโฟเควสท์" เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ สร้างบรรทัดฐานให้วงการสื่อมวลชนไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 เม.ย.) ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้มีคําพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว วินิจฉัยให้งานสร้างสรรค์ประเภทบทความ รายงานพิเศษ และบทสัมภาษณ์ของอินโฟเควสท์ เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และตัดสินให้อินโฟเควสท์ไล่รับชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกละเมิดโดยการทำและเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต นับเป็นคดีแรกเกี่ยวกับการละเมิดงานข่าวที่ขึ้นถึงขั้นศาลฎีกา เป็นการยกระดับความสําสัญในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในวงการสื่อสารมวลชนไทย

นายชาลทอง ปัทมพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท อินโฟเควสท์ จํากัด ผู้ให้บริการข่าวสารข้อมูลออนไลน์ชั้นนําในประเทศไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลทางเศรษฐกิจ การเงิน หุ้น และการลงทุนต่าง ๆ เปิดเผยว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2552 ในคดีหมายเลขดําที่ ทป.58/2558 คดีหมายเลขแดงที่ ทป./2559 ซึ่งอินโฟเควสท์เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท บิสนีวส์ เอ เอฟอี (ประเทศไทย) จํากัด และกรรมการบริษัทฯ เป็นคดีละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมีการนํางานข่าวของอินโฟเควสท์ไปทําซ้ำและเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยอินโฟเควสท์ได้นําเสนองานในรูปแบบบทความ รายงานพิเศษ และบทสัมภาษณ์ จํานวน 135 ชิ้น เป็นหลักฐานในคดี

ศาลพิจารณาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า งานพิพาททั้ง 135 ชิ้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารที่นําเสนอเพียงข่าวประจําวันและข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่เป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยมีการศึกษารวบรวมและคัดเลือกข้อมูลข่าว มีการจัดทําบทสัมภาษณ์ และผ่านกระบวนการวิเคราะห์ขึ้นด้วยความสามารถของผู้สร้างสรรค์เอง และงานนั้นมีการใช้ความวิริยะ อุตสาหะ สติปัญญา และแรงงานในระดับที่เหมาะสม ตลอดจนมีการใช้วิจารณญาณจากประสบการณ์ในการวิเคราะห์ด้วยความคิดริเริ่มของผู้สร้างสรรค์เอง
 


ศาลจึงวินิจฉัยให้งานข่าวของอินโฟเควสท์ดังกล่าวเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และตัดสินให้อินโฟเควสท์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิขสิทธิ์ในงานพิพาทดังกล่าว

"คดีนี้เป็นคดีละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารคดีแรกของประเทศไทยที่ขึ้นไปถึงชั้นศาลฎีกา และมีคําพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว ที่ผ่านมา คนมักจะคิดว่า ข่าวเป็นเพียงข้อเท็จจริง ไม่มีลิขสิทธิ์ จึงเกิดการลอกข่าว แล้วนำไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลข่าว ซึ่งเกิดขึ้นมากมาย ผมเชื่อว่า คําพิพากษาของคดีนี้จะช่วยสร้างบรรทัดฐานเรื่องลิขสิทธิ์ในวงการข้อมูลข่าวสารของไทย และกระตุ้นให้สื่อมวลชนได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิของตนเองในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับงานข่าวของตนเอง

นอกจากนี้ คําพิพากษาคดีนี้ยังน่าจะส่งผลดีทําให้สํานักข่าวต่างประเทศระดับโลกต่าง ๆ ที่มาประกอบธุรกิจข้อมูลข่าวสารในไทยและมีงานสร้างสรรค์ข่าวในรูปแบบเดียวกันกับอินโฟเควสท์ ก็จะมีความเชื่อมั่นในกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทย ว่า จะให้ความคุ้มครองงานข่าวของพวกเขาตามมาตรฐานสากลด้วย" นายชาลทอง กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท อินโฟเควสท์ จํากัด ดําเนินธุรกิจเป็นสํานักข่าวออนไลน์และผู้ให้บริการข่าวสารข้อมูลผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ชั้นแนวหน้าของประเทศไทย นอกเหนือไปจากการผลิตข่าวสารข้อมูลออนไลน์โดยกองบรรณาธิการและทีมพัฒนาข้อมูลของ บริษัท อินโฟเควสท์ ยังรวบรวมข่าวสารข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ นับร้อยแหล่ง ทั้งจากสำนักพิมพ์ภายในประเทศ สำนักข่าวในและต่างประเทศ ศูนย์วิจัย บริษัทหลักทรัพย์ หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ตลอดจนหน่วยงานราชการต่าง ๆ และยังมีบริการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ทั่วโลกอีกด้วยบริการของบริษัทฯ ได้แก่ "นิวส์เซ็นเตอร์" (NewsCenter) บริการข่าวสารข้อมูลออนไลน์ "ไอคิวนิวส์คลิป"
 

ศาลฎีกาสั่ง "ข่าวอินโฟเควสท์" เป็นงานมีลิขสิทธิ์-สร้างบรรทัดฐานวงการสื่อไทย