'ดุสิตธานี' ปั๊มรายได้! ต่อยอด "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" เปิดปี 65

04 เม.ย. 2562 | 08:00 น.


มิกซ์ยูสระดับโลก ใจกลางกรุง อย่าง "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" ซึ่ง บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงทุนกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น มูลค่าการลงทุน 36,700 ล้านบาท กว่าจะแล้วเสร็จดุสิตธานีต้องรอไปถึง 4 ปี

แน่นอนว่า กระทบต่อรายได้ของดุสิตธานีฯ ที่จะหายไปกว่า 4 พันล้านบาท เนื่องจาก โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ สร้างรายได้ให้กับดุสิตธานีคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของรายได้โรงแรมในพอร์ตโฟลิโอทั้งหมด ซึ่งในปี 2561 ดุสิตธานีมีรายได้จากธุรกิจอยู่ที่ 5,565 ล้านบาท

 

'ดุสิตธานี' ปั๊มรายได้! ต่อยอด "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" เปิดปี 65

 

ดังนั้น รายได้ที่หายไปราว 1 พันล้านบาทต่อปี อาจเทียบไม่ได้กับการเติบโตของรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตหลัง โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะแล้วเสร็จ แต่ดุสิตธานีก็ได้เตรียมแผนรับมือเชิงโครงสร้างไว้แล้ว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อรายได้รวมของบริษัทมากจนเกินไป
 


⁍ ดันรายได้ลงทุนใหม่โต 8-10%

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC กล่าวว่า แม้การปิด โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพื่อสร้างเป็นมิกซ์ยูสระดับโลก "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" ที่ในส่วนของ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ กว่าจะกลับมาเปิดอีกครั้งก็จะเป็นช่วงปลายปี 2565 ดังนั้น ในช่วงระหว่างนี้ เราจึงโฟกัสการเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 4 ปีนี้ เพื่อสร้างรายได้จากการลงทุนใหม่เข้ามา เพื่อมีรายได้ไม่ตํ่ากว่า 8-10% ทดแทนรายได้จาก โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่จะหายไปในช่วงดังกล่าว โดยมุ่งแสวงหาโอกาสลงทุน สร้างความหลากหลาย และกระจายความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการขยายเครือข่ายการเพิ่มรายได้จากธุรกิจโรงแรมในเครือที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

'ดุสิตธานี' ปั๊มรายได้! ต่อยอด "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" เปิดปี 65

'ดุสิตธานี' ปั๊มรายได้! ต่อยอด "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" เปิดปี 65

 

การลงทุนใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่เพียงธุรกิจโรงแรมเท่านั้น จะเห็นชัดเจนว่า ดุสิตธานีได้ขยายไปสู่การลงทุนในธุรกิจอาหารอย่างจริงจัง เพราะการให้บริการด้านอาหารเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของกลุ่ม โดยดำเนินการผ่าน บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าลงทุนใน บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โพรดิวซ์ จำกัด หรือ NRIP ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน เครื่องปรุงรส ซอส เครื่องดื่มและนํ้าผลไม้

ทั้งนี้ ล่าสุด ได้เข้าลงทุนใน บริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด (ECC) ผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มโรงเรียนนานาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจอาหารและธุรกิจแคเตอริง รวมถึงการจัดตั้ง บริษัท ดุสิต กูร์เมต์ฯ ในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อต่อยอดการทำการตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร ภายใต้แบรนด์ของดุสิตธานี รวมถึงการเข้าไปต่อยอดสู่ตลาดลักชัวรี โดยได้ขยายตัวเข้าสู่ตลาดให้เช่าวิลล่าตากอากาศระดับบน ผ่านการซื้อกิจการ อีลิท เฮเว่นส์ (Elite Havens) แบรนด์ผู้นำในตลาดให้เช่าวิลล่าหรูระดับบนของเอเชีย เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจการบริหารจัดการและให้เช่าวิลล่าระดับหรูแบบครบวงจร ครอบคลุมประเทศต่าง ๆ

 


⁍ จ่อดึง รร. เข้าเครืออีก 73 แห่ง

ในส่วนของการดำเนินธุรกิจโรงแรม ปัจจุบัน ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล บริหารโรงแรมและรีสอร์ต ภายใต้แบรนด์ดุสิตธานี, ดุสิตดีทู, ดุสิตปริ๊นเซส และดุสิตเดวาราณา ที่เปิดให้บริการในภูมิภาคต่าง ๆ รวมกว่า 27 แห่ง ซึ่งทาง ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งเป้าว่าจะขยายโรงแรมในเครือให้ครบ 100 แห่ง ภายในปี 2566 (รับบริหารและลงทุนเอง) ดังนั้น เราจะเห็นโรงแรมในเครือดุสิตเพิ่มอีกร่วม 73 แห่ง ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพราะขณะนี้ มีโรงแรมและรีสอร์ตที่อยู่ในแผนพัฒนาเตรียมเปิดให้บริการเพิ่มอีกกว่า 50 แห่งทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายโรงแรมอาศัย (ASIA Hotels) แบรนด์โรงแรมน้องใหม่ สำหรับกลุ่มนักเดินทางที่มีไลฟ์สไตล์แบบมิลเลนเนียล โดยจะเปิดตัวแห่งแรกที่ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ภายใต้ชื่อโรงแรมอาศัย ย่านขิ่น ในปี 2563 ซึ่งเป็นการลงทุนของ บริษัท ริช มัณฑะเลย์ จำกัด และยังมีโรงแรมอีก 4 แห่ง ที่อยู่ระหว่างพัฒนา เช่น เซบู ประเทศฟิลิปปินส์ (รับบริหาร) และโรงแรมอาศัยในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการลงทุนของดุสิตฯ เองราว 925 ล้านบาท แถวย่านสาทร ซอย 12 ที่จะเปิดในอีก 2 ปีข้างหน้า ล่าสุด ยังมีแผนจะลงทุนโรงแรมอาศัยอีก 2 แห่งในกรุงเทพฯ บริเวณพื้นที่ราชดำริ และบริเวณป้อมปราบศัตรูพ่ายด้วย นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเซ็นสัญญาเพิ่มอีก 10 แห่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นด้วย

 

'ดุสิตธานี' ปั๊มรายได้! ต่อยอด "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" เปิดปี 65

 

⁍ ต่อยอดดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค

สำหรับรายได้ที่จะเกิดขึ้น หลังเปิด โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค แม้รายได้ในส่วนของโรงแรมอาจจะสูงกว่าเดิมไม่มาก เพราะโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ โฉมใหม่ จะมีห้องพักอยู่ 250 ห้อง จากเดิมที่มีอยู่ 500 ห้อง แต่ด้วยการปรับลุคใหม่ จะทำให้ได้ราคาขายที่สูงขึ้น รวมทั้งดุสิตธานียังจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากองค์ประกอบการอื่น ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาในโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็น เรสิเดนซ์, สำนักงาน, ศูนย์การค้า ตามสัดส่วนที่ดุสิตธานีลงทุนไป ทำให้มีการสร้างรายได้จากพื้นที่ที่เพิ่มจาก 1 แสนตารางเมตร เป็น 4.4 แสนตารางเมตร

 

'ดุสิตธานี' ปั๊มรายได้! ต่อยอด "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" เปิดปี 65

 

อีกทั้งในโครงการนี้ยังมีในส่วนของ ดุสิต เรสซิเดนซ์ ที่จะเป็นแฟล็กชิพในการขยายการลงทุนและรับบริหารเรสิเดนซ์ในไทยเพิ่มเติม จากเดิมที่มีการขยายแบรนด์ดุสิตเรสซิเดนซ์ในหลายประเทศ

 

'ดุสิตธานี' ปั๊มรายได้! ต่อยอด "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" เปิดปี 65

 

ไม่เพียงแต่โครงการนี้ ในอนาคต เราคงยังจะได้เห็นความร่วมมือในโครงการอื่น ๆ ระหว่างดุสิตธานีกับอนันดาดีเวลลอปเม้นท์ หลังจากไม่นานมานี้ อนันดาได้ประกาศลงทุนในดุสิตธานี ด้วยสัดส่วนราว 5% หรือ 42 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 510 ล้านบาทอีกด้วย

| รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3458 ระหว่างวันที่ 4 - 6 เมษายน 2562
 

'ดุสิตธานี' ปั๊มรายได้! ต่อยอด "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" เปิดปี 65