อาถรรพ์ ... "Generation 3rd"

31 มี.ค. 2562 | 04:41 น.


การถ่ายโอนกิจการจากรุ่นสู่รุ่นถือเป็นความท้าทายตลอดกาลของธุรกิจครอบครัว ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจธุรกิจครอบครัวของ Price Waterhouse ในปี 2555 ระบุว่า อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวรุ่นที่ 2 คิดเป็น 30% ของรุ่นที่ 1 และเมื่อผ่านไปถึงรุ่นที่ 3 และ 4 อัตราการอยู่รอดจะเหลือเพียง 12% และ 3% (ตามลำดับ) ของรุ่นที่ 1 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนการอยู่รอดที่สอดคล้องกับความเชื่อว่า ธุรกิจครอบครัวจะดำรงอยู่ได้ไม่เกิน 3 รุ่นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มีทายาทธุรกิจครอบครัวรุ่นที่ 2 จำนวนมาก ไม่ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทมีการเปลี่ยนผ่านจากช่วงหุ้นส่วนพี่น้อง (Sibling Partnership) ไปเป็นสู่ช่วงสหพันธ์เครือญาติ (Cousin Consortium) ซึ่งเป็นคำที่มักใช้เรียกธุรกิจครอบครัวรุ่นที่ 3 นั่นเอง ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัว Barbara Spector 2 ได้สรุปปัญหาที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวรุ่นที่ 3 ต้องเผชิญ ดังต่อไปนี้

1.ครอบครัวมีการแยกออกเป็นครอบครัวย่อย ๆ ซึ่งอาจแยกกระจายกันอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ และแต่ละครอบครัวอาจมีความแตกต่างกันมากในเรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ความเชื่อ ทางศาสนา และระบบค่านิยม ดังนั้น การรวมทุกครอบครัวเข้าด้วยกันจึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก

2.การกระจายหุ้นออกเป็นหุ้นย่อย มีแนวโน้มที่แต่ละครอบครัวจะได้ไม่เท่ากัน หากครอบครัวมีขนาดแตกต่างกัน ดังนั้น จึงมักเกิดความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องความมั่งคั่งในแต่ละครอบครัว

 

อาถรรพ์ ... "Generation 3rd"

 

3.ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวทุกคนที่สนใจจะเข้าร่วมธุรกิจ และสมาชิกในครอบครัวที่ต้องการเข้าร่วมในธุรกิจก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการทำงานในบริษัท

4.ผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้ทำงานในธุรกิจมักจะมีความคาดหวังและความต้องการด้านสภาพคล่อง

 


5.สมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้ทำงานในธุรกิจอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ และอาจถูกถอดออกจากการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจโดยญาติของตนเอง

 

อาถรรพ์ ... "Generation 3rd"

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำวิธีจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ ด้วยการเปลี่ยนจากการทำธุรกิจแบบไม่มีแบบแผนไปเป็นการกำกับดูแลกิจการและครอบครัวอย่างเป็นทางการ โดยคณะกรรมการบริหารอิสระ หรือ ที่ปรึกษา สามารถช่วยให้บริษัทจัดการกับปัญหาการถ่ายโอนกิจการ การพัฒนากลยุทธ์การเติบโตที่มีศักยภาพ และการตัดสินใจทางธุรกิจโดยปราศจากอารมณ์ความรู้สึกของครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องได้ ขณะที่ สภาครอบครัว (Family Council) สามารถกำหนดนโยบายครอบครัว ชี้แจงเป้าหมาย และความคาดหวังของเจ้าของธุรกิจต่อธุรกิจ และวางแผนกิจกรรมทางการศึกษาและทางสังคม เพื่อแจ้งให้สมาชิกในครอบครัวทราบเกี่ยวกับบริษัทและพัฒนาความกลมเกลียวของครอบครัวให้มากขึ้น ทั้งนี้ ครอบครัวที่มีการศึกษาเกี่ยวกับความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้านั้น ย่อมจะมีความพร้อมมากกว่าและสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาทางธุรกิจ หรือ ครอบครัวที่มักเกิดจากประเด็นเหล่านั้นได้

ที่มา : 1. กระทรวงอุตสาหกรรม. 2559. ธุรกิจครอบครัว. สืบค้นจาก: www.industry.go.th/industry/index.php/th/knowledge/item/10603-2016-05-23-05-38-40

2. Spector, B. 2018. THE CHALLENGES OF GENERATION 3. Available: www.familybusinessmagazine.com/challenges-generation-3


หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3457 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 3 เมษายน 2562

 

อาถรรพ์ ... "Generation 3rd"