'แมนพาวเวอร์' ชี้! พฤติกรรม "คนรุ่นใหม่" ขาดแบบแผนออมเงินและการลงทุน

26 มี.ค. 2562 | 07:53 น.

หากจะพูดถึงพฤติกรรมการใช้เงินในการดำเนินชีวิตของ "คนรุ่นใหม่ ยุค 4.0" ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นทำงาน นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย การใช้เงินเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ทั้งการท่องเที่ยว ความบันเทิง การซื้อสินค้า และใช้จ่ายด้านความสวยความงาม ล้วนแต่เป็นการใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขหลังจากทำงานหาเงินได้ และถ้าเจาะไปในมุมมองเรื่องการวางแผนการออมเงินคนรุ่นใหม่วันนี้ มีวิธีคิดและเลือกออมเงินกันหรือไม่อย่างไร

จากผลการศึกษาและวิจัย ในหัวข้อ Employee Perspective 4.0 ของ "แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย" เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เงินและการออมเงินของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยุค 4.0 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการวางแผนการออมเงิน สัดส่วนการออมต่อเดือน รวมถึงรูปแบบการลงทุนต่าง ๆ จากผลการศึกษาสามารถนำมาปรับใช้ในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์แมนชั่น พร้อมข้อเสนอแนะภาครัฐและองค์กร ร่วมส่งเสริมและผลักดันมาตรการการออมอย่างมีแบบแผนจริงจังในบทความนี้

จากการศึกษาวิจัยในส่วนของพฤติกรรมการใช้เงินและการออมเงินของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยุค 4.0 ในส่วนของการใช้จ่ายต่อเดือนผู้ตอบแบบสอบถามมีการใช้จ่ายประมาณ 10,001–15,000 บาท มีมากที่สุดถึง 30 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาต่ำกว่า 10,000 บาท มี 25% และรายจ่ายประมาณ 15,001–20,000 บาท อยู่ที่ 18% ตามลำดับ (รูปประกอบ 1)

 

'แมนพาวเวอร์' ชี้! พฤติกรรม "คนรุ่นใหม่" ขาดแบบแผนออมเงินและการลงทุน

 

และเมื่อเจาะลงไปในส่วนของการใช้จ่ายให้กับตนเองของคนรุ่นใหม่ ยุค 4.0 พบว่า มีการใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยมากที่สุด 51% รองลงมาใช้ในการท่องเที่ยว 47% และใช้ด้านความบันเทิง (Entertainment) 39% ส่วนความสวยความงาม (Beauty) อยู่ที่ 38% สุดท้าย ใช้จ่ายเกี่ยวกับแฟชั่น 36% ตามลำดับ
 

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ยุค 4.0 ยังมีการจัดทำแผนการออมเงินและการลงทุนด้วยตนเองมากกว่าผ่านที่ปรึกษาด้านการวางแผนการเงิน โดยพบว่า ส่วนใหญ่มีการวางแผนด้วยตนเองมากที่สุด 76% รองลงมาวางแผนผ่านบริการที่ปรึกษาด้านวางแผนทางการเงินขององค์กรต่าง ๆ เช่น ธนาคาร หรือ บริษัทประกันภัย 19% และไม่มีการวางแผน อยู่ที่ 15% ตามลำดับ

สำหรับสัดส่วนเงินออมต่อรายได้โดยเฉลี่ยในแต่ละเดือน พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดแน่นอน มีการออมตามเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายมากที่สุดถึง 37% รองลงมาออมเงินประมาณ 10–20% ของรายได้ อยู่ที่ 27% และออมเงินต่ำกว่า 10% ของรายได้อยู่ที่ 17 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจำแนกตามรายได้ส่วนตัวต่อเดือนกับสัดส่วนเงินออมต่อรายได้โดยเฉลี่ยในแต่ละเดือน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ที่มีรายได้ 40,001 บาทขึ้นไป จะมีสัดส่วนเงินออมมากกว่า 30% ของรายได้ และผู้ที่มีรายได้ 30,001–40,000 บาท จะมีสัดส่วนเงินออม 21–30% ของรายได้ ส่วนกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท และ 20,001–30,000 บาท จะมีสัดส่วนเงินออมต่ำกว่า 10% ของรายได้ ในขณะที่ ผู้มีรายได้ 10,001–20,000 บาทนั้น ไม่ได้กำหนดแน่นอน จะออมตามเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย (รูปประกอบ 2) ซึ่งจากผลการวิจัยส่วนนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ยังขาดแบบแผนและวินัยการออมเงินอย่างเป็นระบบ

 

'แมนพาวเวอร์' ชี้! พฤติกรรม "คนรุ่นใหม่" ขาดแบบแผนออมเงินและการลงทุน

 

สำหรับรูปแบบการออมและการลงทุนในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ออมผ่านเงินฝากประจำมากที่สุด 50% รองลงมา การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 34% และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 26% ส่วนการออมและลงทุนเกี่ยวกับทองคำ 24% และหุ้นสหกรณ์ 20% ตามลำดับ ทั้งนี้ จากผลการวิจัยข้างต้นในภาพรวมแสดงให้เห็นถึงแนวทางการส่งเสริมการออม ทั้งระบบของภาครัฐ ที่มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการออมเงินและการลงทุน ซึ่งคนทำงานรุ่นใหม่ได้เกิดการตระหนักรู้และเกิดพฤติกรรมการออมเงินและการลงทุน ตามแนวทางการส่งเสริมการออมทั้งระบบของภาครัฐ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการกระจายการลงทุนไปในรูปแบบอื่นที่มีความเสี่ยงมากกว่าการฝากประจำและการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

แต่จากผลการศึกษาวิจัยนี้ มีความน่าสนใจและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจับตามอง โดยชี้ให้เห็นว่า คนทำงานรุ่นใหม่ส่วนใหญ่สัดส่วนเงินออมต่อรายได้โดยเฉลี่ยในแต่ละเดือนนั้น ไม่ได้กำหนดแน่นอน จะออมตามเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย ซึ่งในประเด็นนี้ องค์กรสามารถช่วยภาครัฐและภาคธนาคารในการส่งเสริมการออมและการลงทุนให้กับคนทำงานได้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะสะท้อนออกมาในลักษณะของความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการทำงานที่เต็มกำลังความสามารถ ลดการเกิดทุจริตในองค์กรและสร้างความผูกพันในระยะยาว โดย HR ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการให้คำปรึกษา หาแนวทางช่วยวางแผนการออม ผลตอบแทนจากการออม รวมทั้งช่วยบริหารจัดสรรเงินออมให้สอดรับกับรูปแบบการใช้จ่ายและความจำเป็นทางการเงินของพนักงาน ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน หรือแม้แต่กระทั่งเข้าไปช่วยแก้ปัญหาทางการเงินของพนักงานที่ทำมาอยู่ก่อนแล้วเมื่อประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน ซึ่งแนวโน้มนี้ในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะจากผลการวิจัยคนรุ่นใหม่ อีกทั้งคนทำงานส่วนใหญ่ต่างก็คาดหวังอัตราเงินเดือนจากเดิมเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 บาท ประกอบกับ ผลสำรวจในปี 2561 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่า ระดับหนี้สินต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.78 แสนบาท (เทียบกับ 1.56 แสนบาท ในปี 2558) โดยหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้สินจากที่อยู่อาศัยมากที่สุด รวมทั้งหนี้อื่น ๆ เช่น หนี้จากการกู้ยืม หนี้จากสินเชื่อรถยนต์ หนี้จากบัตรเครดิต เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยยังมีข้อเสนอแนะให้กับภาครัฐในการเร่งส่งเสริมการวางแผนจัดสรรเงินออมและการลงทุนอย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับเริ่มต้นทำงาน โดยออกมาตรการที่เป็นลักษณะเชิงบังคับให้มีการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยการหักเงินออมจากเงินเดือนเฉกเช่นเดียวกับการจ่ายเงินประกันสังคม ในส่วนขององค์กรควรจะหามาตรการด้านการบริหารจัดการ การออมเงินและการลงทุนที่เหมาะสมให้กับคนทำงานรุ่นใหม่ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน เพื่อวางรากฐานคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นให้กับพนักงาน

 

'แมนพาวเวอร์' ชี้! พฤติกรรม "คนรุ่นใหม่" ขาดแบบแผนออมเงินและการลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม คนทำงานโดยส่วนใหญ่ถึงแม้จะไม่ได้กำหนดสัดส่วนการออมที่แน่นอน โดยจะเก็บออมหลังจากการใช้จ่าย ซึ่งตามหลักการควรใช้จ่ายหลังจากการออมเงิน โดยจะต้องมีการกำหนดสัดส่วนการออมอย่างน้อยที่ 10-15% แต่จะเป็นการดีกว่าหากมีสัดส่วนการออมอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปต่อเดือน ทั้งนี้ ควรจะต้องศึกษาเรียนรู้การวางแผนการออมเงินอย่างมีแบบแผน เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีเงินออม โดยอาจเริ่มต้นจากวิธีทำบัญชี "รายรับ-รายจ่าย" เพื่อสร้างเงินออม เพื่อให้เห็นภาพรวมของการใช้จ่าย ลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากนัก และนำเงินส่วนนั้นมาเก็บออมเงินแทน โดยการตั้งเป้าหมายของการออมเงินไว้ เพื่อใช้สำหรับอะไร เช่น เพื่อการศึกษาต่อ, เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรือเพื่อใช้ในยามเกษียณ และเตรียมพร้อมอย่างมีแบบแผนรับสังคมสูงอายุ ทั้งนี้ คนทำงานรุ่นใหม่ต้องสร้างวินัยการออมให้เกิดขึ้นกับตนเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และต้องระลึกไว้เสมอว่าต้องสร้างรายได้ให้มากกว่ารายจ่าย โดยรูปแบบการออมและการลงทุนนั้นมีมากมายหลายรูปแบบสามารถเลือกได้ตามความต้องการและพฤติกรรมของแต่ละบุคคล  บทความนี้หวังว่าคนรุ่นใหม่ยุค 4.0  จะนำไปปรับประยุกต์ให้ชีวิตคุณมีแบบแผนมากขึ้นรับมือได้ทันทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงต่อไป

'แมนพาวเวอร์' ชี้! พฤติกรรม "คนรุ่นใหม่" ขาดแบบแผนออมเงินและการลงทุน