ม.หอการค้า ชี้! ใน 1 ปี "โชห่วย" ต้องการสินเชื่อในระบบ เพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ

26 มี.ค. 2562 | 07:32 น.

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผย มีโชห่วย 38.13% มีศักยภาพเข้าถึงสินเชื่อได้มาก ชี้! ภายใน 1 ปี กว่า 47.99% ต้องการสินเชื่อในระบบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ ระบุ วงเงินเฉลี่ยที่ 1.82 แสนบาท ด้าน ธพว. เตรียมสินเชื่อเพื่อสนับสนุน

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจ "สถานภาพผู้ประกอบการร้านโชห่วย" ว่า ความต้องการสินเชื่อและการเข้าถึงสินเชื่อนั้น ผู้ประกอบการร้านโชห่วย 38.13% ประเมินศักยภาพเข้าถึงได้มาก ซึ่งภายใน 1 ปีนี้ จำนวน 47.99% มีความต้องการสินเชื่อ และแทบทั้งหมดต้องการสินเชื่อในระบบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ ซื้อสินค้าไปขาย ปรับปรุงร้าน ขยายธุรกิจ ชำระหนี้ วงเงินเฉลี่ยที่ต้องการ คือ 182,500 บาท โดย 57.06% บอกว่า สามารถกู้ในระบบได้ โดย 42.94% คิดว่าไม่สามารถจะกู้เงินในระบบได้ เพราะสาเหตุ เช่น หลักประกันไม่พอ ไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางบัญชี โครงการไม่เป็นที่สนใจของธนาคาร เป็นกิจการใหม่ และไม่ผ่านการอนุมัติจากธนาคาร เป็นต้น

 

ม.หอการค้า ชี้! ใน 1 ปี "โชห่วย" ต้องการสินเชื่อในระบบ เพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ

 

ด้านความต้องการให้สถาบันการเงินปรับปรุงเกี่ยวกับสินเชื่อ ได้แก่ ปรับลดดอกเบี้ย ขั้นตอนเงื่อนไขในการกู้ ระยะในการอนุมัติ หลักทรัพย์ค้ำประกัน และหากได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบ 51.69% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้น 31.16% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่ากับกำไรที่จะเพิ่มขึ้น และ 17.15% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ 1.กระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจ รวมไปถึงความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น, 2.การลดต้นทุน การตั้งราคา และการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบ, 3.การพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรให้มีความสามารถและทันสมัย และ 4.ด้านการเกษตร เช่น แหล่งน้ำ คลองชลประทาน ราคาสินค้าเกษตร

 

ม.หอการค้า ชี้! ใน 1 ปี "โชห่วย" ต้องการสินเชื่อในระบบ เพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ

 

ส่วนข้อเสนอแนะและสิ่งที่ต้องการได้รับจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ได้แก่ ลดขั้นตอนในการทำธุรกรรม เช่น 1.การยื่นเอกสาร ข้อกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ, 2.ลดอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้, 3.ปล่อยเงินกู้ระยะยาว สนับสนุนเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการและอาชีพต่าง ๆ และ 4.มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความรู้ความเข้าใจ และบุคลากรในองค์กร

"การสำรวจกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวมาจากผู้ประกอบการร้านโชห่วย 1,246 ราย โดยพบว่า 85.99% ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา และ 14.01%  ในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่ง 90.10% เป็นเจ้าของคนเดียว และส่วนใหญ่ 33.09% ทำอาชีพนี้มา 7-10 ปี มีรายได้เฉลี่ย 51,665.94 บาทต่อเดือน ซึ่ง 60.45% มีรายได้จากการเปิดร้านโชห่วยเท่านั้น"

นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า ธนาคารได้ดำเนินกิจกรรมยกระดับธุรกิจโชห่วยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเติมทักษะให้ความรู้ เช่น ด้านบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่ ระบบบัญชี และขยายตลาดออนไลน์ เป็นต้น ตามด้วยการเติมทุนผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วย ค้าปลีก ค้าส่ง รวมถึงธุรกิจเกษตรแปรรูป อาชีพอิสระ ท่องเที่ยวชุมชน และกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ปรับปรุงยกระดับธุรกิจให้สะดวกทันสมัย โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนานถึงสูงสุด 7 ปี บุคคลธรรมดา 3 ปีแรก เพียง 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี และหากยกระดับเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก  3 ปีแรก เพียง 0.25% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี นอกจากนั้น เติมคุณภาพชีวิต สนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วยและครอบครัวเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ สร้างความมั่นคงในชีวิต นำไปสู่สังคมอยู่ดีมีความสุข

 

ม.หอการค้า ชี้! ใน 1 ปี "โชห่วย" ต้องการสินเชื่อในระบบ เพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ
 

"ธุรกิจร้านโชห่วยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับฐานรากอย่างยิ่ง เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดชุมชน มีจำนวนถึงเกือบ 4 แสนราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ในปัจจุบัน ด้วยการแข่งขันสูงและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องปรับตัวยกระดับธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถธุรกิจและเพิ่มรายได้ อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่า ยังมีผู้ประกอบการร้านโชห่วยจำนวนมาก ไม่มีการปรับตัวใด ๆ เลย รวมถึงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน จึงยากที่จะพัฒนาธุรกิจ"

นายพงชาญ กล่าวต่อไปอีกว่า ธนาคารจะนำข้อเสนอแนะจากผลสำรวจครั้งนี้ไปพัฒนาเติมทักษะความรู้ให้ตรงกับความต้องการ และความจำเป็นของผู้ประกอบการร้านโชห่วย รวมถึงพัฒนาบริการทางการเงิน สนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วย เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และมีขีดความสามารถการแข่งขันสูงขึ้น ดำเนินธุรกิจอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน