ทางออกนอกตำรา : ‘ธนาธร’ โชว์ ‘บลายด์ ทรัสต์’ ซ่อนทรัพย์ ‘ชัดหรือเบลอ’

23 มี.ค. 2562 | 08:26 น.

ฮือฮากันทั้งอาณาเขตแห่งโลกดิจิทัล ยันร้านกาแฟโบราณ เมื่อ อาตี๋-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทายาทกลุ่มไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ผู้ประกาศตนอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชน แถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 ว่า ได้ลงนามในข้อตกลงเอ็มโอยูมอบให้ บล.ภัทรฯ เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมดที่ถือหุ้นธุรกิจเครือไทยซัมมิทและหุ้นที่เกี่ยวข้องกับมหาชนมูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ผ่านกระบวนการ Blind trust 

คุณธนาธร ชี้แจงว่า ส่วนกรณีของ บ้าน รถ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จะขอเก็บไว้ใช้ในนามส่วนตัว และยังบอกอีกว่า วิธีการนี้จะเป็นมาตรฐานใหม่ ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนใช้ private fund มาก่อน จึงถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่เป็นการยกระดับมาตรฐานแสดงความจริงใจให้เกิดต่อสาธารณะ

แค่นี้แหละบรรดาผู้คนต่างฮือฮาว่า นี่คือตัวอย่างของนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่มีเจตนาโปร่งใส รับผิดชอบ ไม่ต้องการให้เกิดข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์จากการเข้าไปสู่วงจรอำนาจทางการเมือง

ผมเห็นว่าในเรื่องของเจตนานั้นคุณธนาธรมีเจตนาที่ดีมากๆ คนหนึ่งในบรรดาผู้เข้ามาอาสาทำงานการเมือง แม้ว่าคุณธนาธร ฉวยโอกาสใช้เทคนิคการตลาดสร้างความเชื่อความศรัทธาทางการเมือง เพื่อเรียกเสียงจากประชาชนมากเกินไปจนโอเวอร์
ทางออกนอกตำรา : ‘ธนาธร’ โชว์ ‘บลายด์ ทรัสต์’  ซ่อนทรัพย์ ‘ชัดหรือเบลอ’
ทางออกนอกตำรา : ‘ธนาธร’ โชว์ ‘บลายด์ ทรัสต์’  ซ่อนทรัพย์ ‘ชัดหรือเบลอ’


อย่างไรก็ตาม การโอนทรัพย์ออกไปให้ทรัสต์บริหารทรัพย์ของคุณธนาธรก็มี 2 เรื่องที่ชวนติดตาม

เรื่องแรกคือ การโอนทรัพย์สินออกไปจากตัวเองของนักการเมืองผ่านกระบวนการ Blind trust ที่เป็นหนึ่งในแทกติก การโอนเงินให้มืออาชีพบริหารเงินแทนเจ้าของผ่าน “ทรัสต์” ที่ในทางกฎหมายแล้วคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ก่อตั้งทรัสต์ โอนหรือก่อทรัพยสิทธิหรือสิทธิใดๆ ในทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ทรัสตี ด้วยความไว้วางใจให้ทรัสตีจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้รับประโยชน์ นั้น มิใช่ว่าจะโปร่งใสนะเจ้าคะ

ในอดีตบรรดาเศรษฐีเมืองไทยระดับ TOP100 เขาใช้วิธีนี้แหละครับในการ “โอนทรัพย์” ออกไปซ่อนอย่างไร้ร่องรอย เพื่อให้ปลอดจากชื่อของตัวเอง จะได้ไม่มีข้อครหา แต่ในความจริงแล้ว “ทรัสต์ที่ตั้งขึ้นมานั้นแหละมาถือหุ้นซ่อนรูปเป็น “อีแอบ” คอยควบคุมกำกับบริษัทอยู่อย่างแน่นหนา โดยนักลงทุน ผู้ถือหุ้นไม่มีใครรู้

ถ้าไม่เชื่อผมในเรื่องนี้ โปรดไปดูรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดมหาชนชื่อดังๆ ที่มีเจ้าของกิจการเป็นนักการเมืองได้ครับ...ท่านจะเห็น “ผู้ถือหุ้นในชื่อนอมินี ในชื่อ ทรัสต์” เต็มไปหมด

ผมขอบอกว่า เกือบ 90% คือ เจ้าของ ที่แฝงตัวเป็นฝรั่งหัวดำ คอยคํ้ายัน ชักใยผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แทบทั้งสิ้น...เรื่องนี้ ก.ล.ต.และสถาบันการเงินที่จัดตั้งทรัสต์อาจจะเถียงผมก็ได้นะครับ เพราะขัดกับหลักการจัดตั้งทรัสต์ตามกฎหมาย แต่เรายอมรับความจริงอันเจ็บปวดกันดีกว่าครับ..

เหนือกว่านั้น การมอบสิทธิให้ทรัสต์แล้ว มิได้หมายความว่า “เจ้าของตัวจริง” จะสั่งการไม่ได้นะครับ...ทางกฎหมายบอกว่า สั่งไม่ได้ก็จริง แต่ในทางปฏิบัติ...สั่งซ้ายหัน ขวาหันได้ครับ และสั่งได้แทบจะ 90% แต่ผู้คนไม่เห็น และเจ้าตัวปลอดจากมลทินครับ

นี่คือกรณีที่ คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.ที่ออกมาค้านว่า การซ่อนรูปในกรณีทรัสต์ของคุณธนาธรนั้นอันตราย เพราะทรัพย์สินของนักการเมือง ที่เป็นหุ้นในกิจการครอบครัว นอกจากไม่สามารถป้องกันประโยชน์ทับซ้อนได้จริงแล้ว ยังจะมีปัญหาอีกด้วย

ภาพภายนอก เสมือนว่ามีเกราะป้องกัน แต่ความจริงอาจจะแอบส่งผ่านข้อมูล เพื่อให้ครอบครัวรู้ข้อมูลภายในก่อน และปรับตัวได้ก่อนคู่แข่ง โดยทำทีว่าตนเองไม่รู้ เหมือนที่คุณธนาธรประกาศนั่นแหละครับว่า “ผมมองไม่เห็น!” พอเห็นการดูแลธุรกิจผ่านทรัสต์ที่ละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่ซ่อนรูปมั้ยครับ

และเมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปในอดีตก็พบนักการเมืองชื่อดังที่มีทรัพย์ก็ใช้ “ทรัสต์” หรือ “Private Fund-กองทุน ส่วนบุคคล” ทั้งในและต่างประเทศเป็นผู้บริหารทรัพย์สินของตัวเองตั้งแต่รัฐบาล“ชวน หลีกภัย-ทักษิณชินวัตร-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เพื่อให้ปราศจากการทับซ้อนทางผลประโยชน์ เท่าที่ผมตรวจสอบได้กว่า 18 คน ในแต่ละยุค

ไม่เว้นแม้แต่ คุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โอนทรัพย์ไปอยู่ใน “นอมินี” จนเป็นคดีฉาวและสร้างวาทกรรมทางการเมืองบันลือโลก “บกพร่องโดยสุจริต”

แต่ไม่เคยมีใครใช้วิธีการตั้ง “Blind Trust” ที่ไม่มีกฎหมายมารองรับมาโอนทรัพย์สิน 5,000 ล้านบาท ไปยังกองทุนส่วนบุคคลที่เจ้าของเงินไม่เห็นทรัพย์สินที่บริษัทจัดการกองทุนเข้าไปลงทุนจะซื้อหุ้นบริษัทใด ลงทุนในทรัพย์สินประเภทไหน ซื้อตราสารหนี้อะไร คุณธนาธรแจ้งว่า ผมมองไม่เห็น ผมไม่มีโอกาสรับรู้ และมีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวกันโครมคราม เพื่อโฆษณาสร้างภาพเยี่ยงคุณธนาธร

ผมว่าในทางการเมืองคุณธนาธรแสดงตัวตนและเจตจำนงชัดเจนในเรื่องนี้อยู่ 2 ประเด็น เรื่องแรกคุณธนาธรสำแดงตนชัดเจนว่า ต้องการให้ภาพตัวเองที่เป็นตัวแทนนักการเมืองรุ่นใหม่ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ อันนี้ผมว่าชัด และขอปรบมือให้...แม้การขี่คอคนอื่นขึ้นยืนบน “ลีดเดอร์บอร์ด” ดูจะไม่สง่างามนักในทางการเมือง

ชัดเจนประเด็นที่ 2 และสร้างความฮือฮา ตื่นตะลึงให้กับบรรดาที่ปรึกษาที่ไปฟักตัวอยู่ และหมู่นักการเมือง นักเลือกตั้ง และบรรดาฟันด์ แมเนเจอร์ คือ การโอนทรัพย์ 5,000 ล้านบาท ไปให้ บล.ภัทรฯ บริหาร โดยที่คุณธนาธรบอกว่า ผมมองไม่เห็น ผมไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินแม้จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว 3 ปีนั้น คุณธนาธรกำลังบอกเป็นนัยไปยัง “ทะแนะ และนักเลือกตั้ง” แบบดังๆ ว่า “คุณอย่ามาเบิกเงินกับผมอีกนะ” เพราะทรัพย์สินของผมโอนไปให้ “บลายด์ ทรัสต์” ดูแลเรียบร้อยแล้ว ผมไม่มีสิทธิ์...555 ชัดมั้ยๆ ผมว่า ชัด...

ผมไปตรวจสอบทรัพย์สินของคุณธนาธรพบว่า กลุ่มไทยซัมมิทมีธุรกิจในเครือข่ายทั้งอดีตและปัจจุบันราว 102 บริษัท เอาเฉพาะนายธนาธร เป็นกรรมการตกประมาณ 60 บริษัท ได้แก่ บริษัท คีย์ พ้อยท์ เอ็นเนอจี จำกัด, บริษัทกรีน ไลน์ เอ็นเนอจี จำกัด, บริษัท จึงพัฒนา โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท ทีที โซล่าร์ จำกัด, บริษัท ที เอส พาวเวอร์ เอ็นเนอจี จำกัด, บริษัท ที เอส ออโต้ เซลส์ จำกัด, บริษัท ไอคอน เอ็นเนอจี จำกัด

บริษัท ไทยซัมมิท คอมโพเน้นท์ จำกัด , บริษัท ไทยซัมมิท เชป คอร์ป จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค บางปะกง จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค เอนจิเนียริง จำกัด,

บริษัท ไทยซัมมิท เมจิ ฟอร์จจิ้ง จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท ระยอง โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท วาย-เทค โอโตพาร์ท จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท เอนจิเนียริง จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท โอโต เพรส จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน), บริษัท พรีเมี่ยมสตีลโพรเซสซิ่ง จำกัด

บริษัท โอกิฮาร่า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แอคทีฟ แมเนจเม้นท์ เอเชีย จำกัด, บริษัท ซัมมิท โชว่า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), บริษัท วัน โอ ซี คอร์โปเรชั่น จำกัด, บริษัท สาธรฮอนด้าคาร์ส์ จำกัด และ บริษัท เอสเอ ออโตโมบิล จำกัด ฯลฯ

ขณะที่ตัวธนาธร ยังมีส่วนสำคัญในการซื้อกิจการ Ogihara Group ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และแม่พิมพ์รายใหญ่ของญี่ปุ่น เป็นหมื่นล้านบาทที่สหรัฐอเมริกา และเป็นพันธมิตรกับ Tesla, Inc. โดยกลุ่มไทยซัมมิทเป็นผู้ผลิตระบบสายไฟฟ้าและตัวถังให้กับรถยนต์ Tesla นี่แหละที่ธนาธรบอกว่า “จะสร้างไทยให้เป็นศูนย์กลางไฮเปอร์ลูป” จึงไม่รู้ว่าทรัพย์ส่วนนี้จะมีการโอนไปหรือไม่

การลงทุนอื่นๆ ในตลาดหุ้นภายใต้ชื่อ “ธนาธร”เคยเข้าถือหุ้นกว่า 8% ของ “บมจ. ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่” หรือ “WP” ซึ่งอดีตคือ กลุ่มบริษัทของกลุ่ม “เสี่ยแก๊ส-สุริยาลาภวิสุทธิสิน” ที่ปัจจุบันคือ “นักโทษหนีคดี” ข้อหายักยอกทรัพย์ กบดานอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังหาตัวไม่เจอ...

ผมว่าทางออกที่ดี ไม่ว่าจะถือหุ้นอยู่อย่างไรก็ถือไปตามกฎหมายนั่นแหละครับ แต่ต้องแจ้งทรัพย์สินให้ประชาชนได้เห็นกันจะๆ ดีกว่าซ่อนรูปให้เบลอจนคนมองไม่เห็น หรือยากจะจำแนกดีกว่าเป็นไหนๆ...


| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3455 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-27 มี.ค.2562 
ทางออกนอกตำรา : ‘ธนาธร’ โชว์ ‘บลายด์ ทรัสต์’  ซ่อนทรัพย์ ‘ชัดหรือเบลอ’