"QR Code บัตรเครดิต" ไม่เปรี้ยง! ร้านค้าเกี่ยงต้นทุน

27 มี.ค. 2562 | 06:10 น.

"กสิกรไทย-เคทีซี" รับยอดใช้ "QR Code บัตรเครดิต" ไม่เปรี้ยง เหตุเกี่ยงแบกต้นทุน ... MDR ชี้! เป็นอุปสรรคใหญ่ ร้านค้าปฏิเสธรับชำระ ลั่น! ควรลดค่าธรรมเนียมลงตามปริมาณธุรกรรม หนุนรายย่อยรับชำระเพิ่ม ด้าน ไทยพาณิชย์สวน QR Payment เติบโตต่อเนื่อง แม่มณีร้านค้าทะลุ 1 ล้านราย

การชำระเงินผ่าน QR Code สำหรับผู้ถือบัตรเครดิต ถือเป็นการชำระเงินรูปแบบใหม่ล่าสุด เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถทำการผูกบัตรเครดิตเข้ากับโทรศัพท์มือถือในการสแกนเพื่อจ่ายเงิน เพื่อก้าวสู่โลกของ Cashless Society อย่างเต็มตัว และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับร้านค้า เมื่อผู้บริโภคเลือกชำระเงินผ่าน QR Code ด้วยมือถือ โดยเฉพาะร้านค้ารายย่อยและร้านค้าออนไลน์

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวโน้มการชำระเงินผ่าน "QR Code บัตรเครดิต" ยังขยายไม่มากนัก เพราะมีร้านค้าที่รับชำระค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้า (Merchant Discount Rate : MDR) ที่เป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ ร้านค้าจึงปฏิเสธการรับชำระผ่าน "QR Code บัตรเครดิต" ประกอบกับ QR Code เกิดขึ้น เพื่อร้านค้ารายย่อย ๆ หรือ ใช้แบบตัวต่อตัว จึงไม่ได้รับความนิยมสำหรับร้านค้าขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี "QR Code บัตรเครดิต" ของเคทีซีที่ใช้ในต่างประเทศแล้ว มีอยู่ 3 ประเทศ คือ อินเดีย กัมพูชา เวียดนาม ส่วนญี่ปุ่นกำลังดำเนินการ หากทางการสามารถวางระบบได้ เคทีซีก็พร้อมเชื่อมระบบและใช้งานได้ โดยเคทีซีตั้งใจไปทุกประเทศที่สามารถรองรับการชำระ เพื่อสร้างความสะดวกในการชำระเงินให้กับลูกค้า ปัจจุบัน วงเงินการชำระผ่าน "QR Code บัตรเครดิต" ยังไม่เยอะมาก

 

"QR Code บัตรเครดิต" ไม่เปรี้ยง! ร้านค้าเกี่ยงต้นทุน

 

"ตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (Spending) ในต่างประเทศมี 8% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด ที่ 1.93 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายผ่านออนไลน์ต่างประเทศ 25% เช่น อเมซอน และปีนี้คาดว่ายอดการใช้จ่ายน่าจะเติบโตเป็น 10% เพราะคนไทยยังนิยมท่องเที่ยวอยู่ แม้วงเงินจะน้อยลง ทั้งในส่วนของการซื้อตั๋วเครื่องบินและช็อปปิ้ง"

นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า ตลาดรายย่อย หรือ ร้านค้ารายเล็ก ที่ไม่เคยรับบัตรเครดิต เพราะมีเรื่อง MDR ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการเกิด QR Code บัตรเครดิต เพราะค่าธรรมเนียมเฉลี่ยเท่ากับบัตรเครดิตที่คิด 1.5-1.75% นั้น ขณะที่ การรับชำระคิวอาร์โค้ดพร้อมเพย์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ทำให้ร้านค้าย่อยไม่อยากแบกต้นทุน ดังนั้น การจะรับชำระที่มีต้นทุนจึงเป็นเรื่องยาก จำเป็นต้องใช้เวลาและพูดคุยทำความเข้าใจกับร้านค้า รวมถึงอาจจะมีการพูดคุยเรื่องการลดค่าธรรมเนียม MDR ลงหากกรณีที่ปริมาณการชำระน้อย

ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยภายในไตรมาส 2 หรือ ต้นไตรมาส 3 จะออก "QR Code บัตรเครดิต" หลังจากได้รับอนุญาตออกจากศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Sandbox) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยช่วงแรกจะขยายไปยังร้านค้าขนาดกลางและรายใหญ่ คาดว่าจะสามารถพัฒนาได้ 3 หมื่นเครื่อง จากเครื่องรับบัตร (EDC) 3 แสนเครื่อง ของทั้งระบบมีอยู่ 6-7 แสนเครื่อง และจะทยอยไปสู่ร้านค้ารายย่อยเพิ่มเติมภายในปี 2563

"หลังขยาย "QR Code ผ่านบัตรเครดิต" จะช่วยให้ยอดใช้จ่าย หรือ ชำระผ่าน QR Code เพิ่มขึ้น 5% จากที่มียอดชำระผ่าน QR Code Promptpay 2 พันล้านบาทต่อเดือน ถือเป็นอัตราที่ทรงตัว เพราะช่วงก่อนหน้านี้ยอดใช้เติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งจากแคมเปญกระตุ้นการใช้ที่หลาย ๆ ธนาคารทยอยออกมาหมดลง ส่งผลให้ยอดใช้เริ่มทรงตัว ซึ่งหลังผลักดันการชำระผ่านบัตรเครดิตจะช่วยให้ยอดใช้ผ่าน QR Code เพิ่มขึ้น"

 

"QR Code บัตรเครดิต" ไม่เปรี้ยง! ร้านค้าเกี่ยงต้นทุน
⇲ สีหนาท ลํ่าซำ

 

นายสีหนาท ลํ่าซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Payment Products บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวม QR Payment ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ตั้งแต่เปิดให้บริการมากว่า 1 ปี โดยวัดจากยอดสมัคร QR แม่มณีของร้านค้าที่มีมากกว่า 1 ล้านราย และใช้จ่ายผ่าน QR Code ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการประชาสัมพันธ์แคมเปญใช้ QR Payment ของธนาคารต่าง ๆ และการผลักดันจากภาครัฐ

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านค้าที่รับชำระเงินผ่าน QR Card Scheme มากกว่า 1.8 หมื่นร้านค้า และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1 แสนร้านค้า ในสิ้นปีนี้ และมีปริมาณธุรกรรมมากกว่า 1 หมื่นรายการ ซึ่ง QR Card Scheme เป็นสิ่งใหม่ที่ธนาคารต้องพัฒนา สร้างความเข้าใจ การใช้งานในกลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยไทยพาณิชย์เชื่อว่า QR Card Scheme จะเป็นหนึ่งในวิธีการรับชำระเงินแบบ Digital Payment ที่สะดวกสำหรับทั้งร้านค้าและผู้บริโภคและจะสามารถตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของผู้บริโภคได้ ซึ่งค่าธรรมเนียม QR Card Scheme ปัจจุบัน บุคคลธรรมดา MDR 1% จนถึงสิ้นปี และวันที่ 1 ม.ค. 2563 คิด 2.5% ขณะที่ นิติบุคคลคิด 2.5%

"SCB ยังคงมีเป้าหมายในการเพิ่มยอดของร้านค้าที่รับชำระเงินด้วย QR Code อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นพัฒนาในรูปแบบร้านรับชำระเงินแบบ Digital Payment เพื่อสร้าง Eco System ให้มีความยั่งยืนทางธุรกิจและสร้างสังคมไร้เงินสดในประเทศไทยให้ขยายวงกว้าง และมีความยั่งยืนต่อไป"


หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3455 ระหว่างวันที่ 24 - 27 มีนาคม 2562

 

"QR Code บัตรเครดิต" ไม่เปรี้ยง! ร้านค้าเกี่ยงต้นทุน