รู้ลึกอาเซียนพลัส | เชื่อมโยงอุตสาหกรรมมะม่วง "ไทย-กัมพูชา" โอกาสทอง 2 แผ่นดิน เกี่ยวก้อยกันโต

22 มี.ค. 2562 | 05:47 น.

รู้ลึกอาเซียนพลัส | เชื่อมโยงอุตสาหกรรมมะม่วง "ไทย-กัมพูชา" โอกาสทอง 2 แผ่นดิน เกี่ยวก้อยกันโต

 

| คอลัมน์ : รู้ลึกอาเซียนพลัส

| เรื่อง : เชื่อมโยงอุตสาหกรรมมะม่วง "ไทย-กัมพูชา" โอกาสทอง 2 แผ่นดิน เกี่ยวก้อยกันโต

| โดย รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


……………….


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กำลังผลักดัน "การเชื่อมโยงสินค้าเกษตรระหว่างกลุ่มจังหวัดไทยกับเมียนมาและกัมพูชา" ภายใต้โครงการวิจัยที่ชื่อว่า "โครงการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าสินค้าอุตสาหกรรม 4.0 จาก CLMVT สู่สากล" ซึ่งกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 (จันทบุรี นครนายก ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว) เป็นกลุ่มจังหวัดที่ถูกเลือกเพื่อทำการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับกัมพูชา

โดยผลไม้เบื้องต้นที่ถูกเลือกเพื่อทำการเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาร่วมกัน คือ "มะม่วงแก้วขมิ้น" เหตุผลที่ทีมวิจัยเลือกมะม่วงแก้วขมิ้น เพราะประเทศไทยขาดมะม่วงที่ใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานแปรรูป รวมถึงมะม่วงสด ปัจจุบัน มะม่วงที่ประเทศไทยผลิตส่วนใหญ่เป็น "น้ำดอกไม้และเขียวเสวย" ซึ่งไม่พอต่อความต้องการในโรงงานแปรรูป มะม่วงแก้วขมิ้นที่เข้ามาในประเทศไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น มะม่วงอบแห้ง น้ำมะม่วง มะม่วงกวน ไอศกรีมมะม่วง เยลลี่มะม่วง และแยมมะม่วง เป็นต้น ซึ่งร้อยละ 70 เป็นการทำเป็นมะม่วงอบแห้ง แต่ต้องเป็นผลผลิตร่วมกันของ 2 ประเทศ ที่เรียกว่า "มะม่วงสองแผ่นดิน"


รัฐบาลกัมพูชากำลังส่งเสริมให้มีการผลิตมะม่วงอย่างมากในเกือบทุกจังหวัด มะม่วงกัมพูชามีหลากหลายชนิด ได้แก่ มะม่วงแก้วจัน (Keo Chen), มะม่วงแก้วละเมียด (Keo Lamiet หรือ Keo Romeat) หรือ "แก้วขมิ้น", มะม่วงแก้วละมุน (Keo Lamut) และมะม่วงแก้วพงมอน (Keo Pong Morn) เป็นต้น แต่มะม่วงที่นำเข้ามาขายในประเทศไทยปริมาณมากในขณะนี้ คือ "มะม่วงแก้วขมิ้น" ซึ่งกัมพูชาผลิตได้ปีละ 1.3 ล้านตัน ส่วนใหญ่ปลูกใน จ.กัมพงสปรือ (Kampong Speu) มีสัดส่วนร้อยละ 70 บนพื้นที่ปลูก 243,750 ไร่ ให้ผลผลิต 7 แสนตัน ส่งผลสดมาไทย 30% ไปเวียดนาม 60% (ส่งขายต่อให้จีน เกาหลี เพื่อบริโภคผลสุก) โดยส่งมาที่ประเทศไทยประมาณ 390,000 ตัน และส่งออกไปยังประเทศเวียดนามประมาณ 780,000 ตัน ที่เหลือส่งเข้าโรงงานแปรรูปในกัมพูชาและส่งออกไปเกาหลีและประเทศอื่น ๆ พื้นที่ปลูกนอกจากกัมปงสปรือแล้ว ที่เหลือปลูกใน จ.พระตะบอง และจังหวัดอื่น ๆ

รู้ลึกอาเซียนพลัส | เชื่อมโยงอุตสาหกรรมมะม่วง "ไทย-กัมพูชา" โอกาสทอง 2 แผ่นดิน เกี่ยวก้อยกันโต

 

มะม่วงแก้วขมิ้นมีการนำเข้ามากที่สุดที่ด่านถาวรบ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี (ห่างจากกัมพงสปรือ 400 กม. และกัมพงสปรือห่างจากด่านถาวรบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด 270 กม.) การนำเข้ามะม่วงที่ด่านบ้านผักกาดเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี มูลค่าของห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมแก้วขมิ้นในประเทศไทย ในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ  23,462 ล้านบาท โดยแยกเป็น ในส่วนของต้นน้ำประมาณ 5,830 ล้านบาท กลางน้ำ 10,882 ล้านบาท และปลายน้ำ 6,750 ล้านบาท และในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มของห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมแก้วขมิ้นอยู่ที่ประมาณ 30,501 ล้านบาท

ปัจจุบัน มีหลายโรงงานแปรรูปมะม่วงใน จ.จันทบุรี ใช้มะม่วงแก้วขมิ้น เนื่องจากเนื้อเยอะ รสชาติดี สีสวย สีมีลักษณะสีส้ม น้ำหนักดี และราคาถูกกว่ามะม่วงไทยที่สามารถนำมาแปรรูปได้ (มะม่วงที่นำมาแปรรูปจะเป็นมะม่วงตกเกรด เช่น ลักษณะไม่สวย เปลือกไม่สวย) ช่วงที่มะม่วงแก้วขมิ้นขาดตลาดจะเป็นช่วงเดือน ส.ค., ก.ย. และ ต.ค. และจะมีมากช่วงต้นปี ช่วงที่มะม่วงแก้วขมิ้นขาดจะแปรรูป โดยมะม่วงที่จะนำมาแปรรูปต้องมีความสุกอยู่ที่ 80-90% บางโรงงานใช้แก้วขมิ้นที่แปรรูป แต่ละวันอยู่ที่ 50-60 ตัน/วัน โดยรับซื้อผ่านพ่อค้าคนกลางจากด่านบ้านแหลมและด่านผักกาดมาจากกัมพูชา

สำหรับการแปรรูปมะม่วงแก้วขมิ้นอบแห้งที่นิยมในปัจจุบัน มี 3 วิธี หนึ่งวิธีที่นิยมทำกัน คือ วิธีดีไฮเดรชัน (Dehydration) คือ การทำแห้ง หรือ การดึงน้ำออก อาจเรียกว่า Drying การทำแห้งเป็นวิธีการถนอมอาหาร (Food Preservation) ที่นิยมใช้มานาน โดยลดความชื้น (Moisture Content) ของอาหารด้วยการระเหยน้ำ ด้วยการอบแห้ง (Dehydration) การทอด (Frying) หรือ การระเหิดน้ำส่วนใหญ่ในอาหารออก) สัดส่วนการแปรรูป 1 ตันสด จะได้แห้ง 150 กก. (ราคาขายแบบ OEM ประมาณ 1,250 บาท/กก. ขายปลีกในท้องตลาด 3,000 บาท/กก.) ซึ่งตลาดหลักอยู่ที่ประเทศจีน ส่วนมะม่วงอบแห้งที่ไม่ผสมน้ำตาล (แบบธรรมชาติ) เป็นที่นิยมในตลาดยุโรปและอินเดีย (อินเดียชอบที่เป็นน้ำตาลน้อย)

การเชื่อมโยงมะม่วงแก้วขมิ้นเพื่อสร้างเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มระหว่างกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกกับประเทศกัมพูชา เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สำคัญและมีอนาคตอย่างมากครับ โดยไม่กระทบต่อผลผลิตมะม่วงของประเทศไทย แต่อาจจะกระทบต่อราคามะม่วงภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม หากเรามองถึงวัตถุดิบของมะม่วงที่ขาดแคลนของโรงงานแปรรูปแล้ว "มะม่วงแก้วขมิ้น" จึงเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือภายในนโยบายความร่วมมือ "CLMVT" ครับ

 

รู้ลึกอาเซียนพลัส | เชื่อมโยงอุตสาหกรรมมะม่วง "ไทย-กัมพูชา" โอกาสทอง 2 แผ่นดิน เกี่ยวก้อยกันโต