รฟม. ผนึก "โตเกียวเมโทรญี่ปุ่น" นำหลักสูตรระดับโลกเร่งปั้นบุคลากรระบบราง

22 มี.ค. 2562 | 05:27 น.

รฟม. ผนึกเครือข่ายรถไฟฟ้า ดึง "โตเกียวเมโทร" ของญี่ปุ่น เปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรระบบราง (Training Center) ผลิตป้อนวงการระบบราง ประเดิมปีละ 600 คน ก่อนส่งต่อให้กรมการขนส่งทางรางออกใบอนุญาต ด้าน "แอร์พอร์ตลิ้งค์" ยัน! ปลายปีนี้พร้อมนำ 800 คน รับการฝึกรับมือเดินรถสายสีแดงเปิดบริการ ปี 64

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรระบบราง (Training Center) ณ ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรระบบราง อาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี โดยมี นายซิโร่ ซาโดซิมา (Mr.Shiro Sadoshima) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, นายมานิตย์ สุธาพร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) พร้อมด้วยผู้แทนจาก JICA ผู้แทนจาก Tokyo Metro ผู้บริหาร รฟม. และผู้บริหาร BEM เข้าร่วมพิธี

 

รฟม. ผนึก "โตเกียวเมโทรญี่ปุ่น" นำหลักสูตรระดับโลกเร่งปั้นบุคลากรระบบราง

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายในการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางราง ซึ่งตามมาตรฐานในการดูแลระบบรางจะต้องมีการออกใบอนุญาตขับขี่รถไฟฟ้าให้แก่ผู้ที่ประกอบอาชีพพนักงานขับรถไฟฟ้า แต่ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยยังไม่มีระบบการออกใบอนุญาตขับขี่รถไฟฟ้าดังกล่าว ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงมอบนโยบายให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรระบบราง (Training Center) เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรในระบบรางให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะความชำนาญด้านเทคโนโลยีรถไฟฟ้า ตลอดจนสามารถออกใบขับขี่สำหรับคนขับรถไฟฟ้าได้ตามมาตรฐานสากล และเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ตามแผนแม่บทระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2553–2572) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนและพัฒนาการคมนาคมระบบรางของประเทศไทยในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ รฟม. ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานให้บริการระบบรถไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฯ ดังกล่าว โดยใช้พื้นที่ภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่มีความทันสมัยและมีความพร้อมสำหรับเป็นสถานที่จัดฝึกอบรม โดยเป็นอาคาร 2 ชั้น ภายในประกอบด้วย ห้องฝึกอบรมภาคทฤษฎี 4 ห้อง ห้องฝึกอบรมภาคปฏิบัติ 3 ห้อง ห้องคอมพิวเตอร์ 1 ห้อง ห้องสอบภาคทฤษฎี 1 ห้อง และสำนักงาน 1 ห้อง รวมทั้งมีอุปกรณ์จำลองการขับเคลื่อนและอุปกรณ์สำหรับฝึกใช้งาน

 

"การเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรระบบราง รฟม. ในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมทางรางระดับประเทศไปสู่ผู้นำของอาเซียน ตลอดจนรองรับรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิดบริการในกรุงเทพฯ และเป็นการนำหลักสูตรระดับโลก อย่าง Tokyo Metro ของประเทศญี่ปุ่น มาพัฒนาบุคคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้พร้อมสำหรับการทำงานด้านระบบขนส่งทางรางในประเทศและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนารถไฟฟ้าในเมืองและเตรียมเปิดใช้ในแต่ละประเทศ"

 

รฟม. ผนึก "โตเกียวเมโทรญี่ปุ่น" นำหลักสูตรระดับโลกเร่งปั้นบุคลากรระบบราง

 

โดยในระยะเริ่มต้นจะเปิดอบรมเฉพาะพนักงานของผู้ให้บริการรถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันในตำแหน่งพนักงานควบคุมรถไฟฟ้าและหัวหน้าพนักงานควบคุมการเดินรถ รองรับได้ปีละ 600 คน ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถนำใบรับรองผลการฝึกอบรมไปประกอบการขอใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางรางที่จะจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... สำหรับในระยะยาวอาจมีการพิจารณาขยายศูนย์ฝึกอบรมฯ ให้สามารถรองรับการฝึกอบรมที่ครอบคลุมทุกตำแหน่งงานที่ระบุไว้ในร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ต่อไป

"สำหรับหลักสูตรที่ทาง รฟม. ได้เปิดอบรมในช่วงเริ่มแรก ได้แก่ หลักสูตรการขับรถไฟฟ้าและหลักสูตรผู้ควบคุมระบบราง หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของกรมขนส่งทางรางขยายหลักสูตรเพิ่มเติมและออกใบอนุญาตและใบรับรองให้แก่ผู้จบหลักสูตรที่ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งจัดตั้งขึ้น สำหรับใบขับขี่ดังกล่าวนั้นจะมีประเภทรถไฟฟ้า รถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง แต่ในช่วงเบื้องต้น การฝึกอบรมจะรองรับเฉพาะบุคคลากรของการให้บริการเดินรถ 3 ราย คือ 1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน), 2.บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), 3.บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ก่อนที่จะขยายผล โดยเปิดให้เอกชนสามารถนำบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมได้ โดยมีค่าเรียน 18,000 บาท ภายในระยะเวลาหลักสูตร 3 เดือน"

ด้าน นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (ฝ่ายกลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า สำหรับกำลังการผลิตนั้น สามารถผลิตบุคลากรได้ปีละ 660 คน เชื่อว่าจะเพียงพอต่อการรองรับรถไฟฟ้าสายใหม่ทั้งเฟส 1 และเฟส 2 ปัจจุบัน มีบุคลากรที่เป็นผู้ขับ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ทั้งหมด 680 คน

 

รฟม. ผนึก "โตเกียวเมโทรญี่ปุ่น" นำหลักสูตรระดับโลกเร่งปั้นบุคลากรระบบราง

รฟม. ผนึก "โตเกียวเมโทรญี่ปุ่น" นำหลักสูตรระดับโลกเร่งปั้นบุคลากรระบบราง

 

ทั้งนี้ หากเปิดให้บริการครบทั้งเส้นทางส่วนต่อขยาย ได้แก่ สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค บางซื่อ-ท่าพระ, สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต บางซื่อ-ตลิ่งชัน และสายสีแดงส่วนต่อขยายทั้งหมด, สายสีเขียวใต้ต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ, สายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี, สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง, สายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี, สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ในระยะ 5 ปีนับจากนี้ รฟม. คาดว่าจะต้องมีบุคลากรในการขับรถและควบคุมระบบรถไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 5,000 คน แบ่งเป็น ปี 2562 จำนวน 1,000 คน, ปี 2563 จำนวน 1,500คน และปี 2567 จำนวน 2,500 คน

สำหรับรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยของบุคลากรกลุ่มดังกล่าวนั้น ในช่วงแรกจะเริ่มต้นที่ 13,000-15,000 บาทต่อเดือน และเมื่อผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว จะได้รับ 25,000 บาทต่อเดือน

 

รฟม. ผนึก "โตเกียวเมโทรญี่ปุ่น" นำหลักสูตรระดับโลกเร่งปั้นบุคลากรระบบราง

 

ด้าน นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า ปัจุบัน แอร์พอร์ตเรลลิ้งก์มีจำนวนบุคลากรทั้งหมดจำนวน 800 คน ในอนาคต เตรียมบุคลากรเพิ่มประมาณ 3,000-4,000 คน เพื่อเตรียมบริหารเดินรถรถไฟฟ้าสายสีแดง ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าจะเริ่มส่งบุคลากรไปเรียนรู้ระบบรถไฟสายสีแดงได้ตั้งแต่ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อให้พร้อมเปิดเดินรถสายสีแดงในปี 2564 ต่อไป

 

รฟม. ผนึก "โตเกียวเมโทรญี่ปุ่น" นำหลักสูตรระดับโลกเร่งปั้นบุคลากรระบบราง