"อาคม" สั่ง รฟท. เร่งหารือ "7 ข้อเทคนิค" รถไฟไทย-จีน

21 มี.ค. 2562 | 11:47 น.

'อาคม' สั่ง รฟท. เร่งหารือ 7 ข้อเทคนิคกับฝ่ายจีน ก่อนสรุปไว้ในสัญญา 2.3 ให้พร้อมนำเข้าหารือกับจีนในครั้งที่ 28 นี้ พร้อมเตรียมสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ รองรับรถไฟเป็นการเฉพาะ ล่าสุด เชิญกองทัพบกเข้าหารือขอใช้พื้นที่ 216 ไร่ สร้างสถานีปากช่อง ก่อนมอบ รฟท. ประสานกรมธนารักษ์ต่อไป

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 2/2562 ว่า ในหลักการสำคัญ ๆ มี 2-3 เรื่อง โดยได้มีการรายงาน 3 ฝ่าย ของการประชุมครั้งที่ 27 ที่ผ่านมาอีกด้วย ซึ่งประกอบด้วย ไทย, สปป.ลาว และจีน ที่ฝ่ายจีนดำเนินการก่อสร้างสะพานในพื้นที่ สปป.ลาว ข้ามมาเชื่อมต่อกับฝั่งไทย เนื่องจากต้องก่อสร้างสะพานแยกออกมาจากที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยจะก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตรด้านใต้ลงมา ออกแบบสะพานและก่อสร้างโดยใช้มาตรฐานของจีน พร้อมกับวางรางมาตรฐาน ขนาด 1.435 เมตร บนสะพานดังกล่าวนี้ด้วย

 

"อาคม" สั่ง รฟท. เร่งหารือ "7 ข้อเทคนิค" รถไฟไทย-จีน

 

"ฝ่ายไทยได้นำเสนอแนวคิดที่จะย้ายทางรถไฟ ขนาด 1 เมตร จากที่ติดตั้งใช้งานบนสะพานในปัจจุบัน มารวมไว้ในสะพานแห่งใหม่นี้ด้วย ซึ่งเป็นที่ตกลงของทั้ง 3 ฝ่าย ดังนั้น ต่อไปสะพานเดิมที่ใช้ร่วมกับรถยนต์ก็จะเปิดให้รถยนต์ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และสะพานแห่งใหม่จะให้ใช้งานเฉพาะรถไฟเท่านั้น ในส่วนช่วงขนาดทาง 1.435 เมตร จากกลางสะพานข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ฝ่ายไทยรับผิดชอบการลงทุน ซึ่งสเปกการก่อสร้างฝ่ายไทยไม่ได้เป็นห่วง เนื่องจากเกิดการเรียนรู้ด้านสเปกในการดำเนินการโครงการแรก ๆ มาแล้ว"

 

"อาคม" สั่ง รฟท. เร่งหารือ "7 ข้อเทคนิค" รถไฟไทย-จีน

 

นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและผู้โดยสาร โดยในฝั่ง สปป.ลาว มีศูนย์เปลี่ยนถ่ายตั้งอยู่ที่ท่านาแล้ง ใกล้เมืองหลวงเวียงจันทน์ ส่วนฝ่ายไทยใช้สถานีนาทาเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ส่วนสถานีผู้โดยสารจะใช้สถานีหนองคายให้บริการ ดังนั้น แนวเส้นทางจากจีนสู่ สปป.ลาว เข้ามายังไทยจะเป็นทางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร หากเป็นขบวนสินค้าจะเข้าสู่สถานีนานาได้ทันที ก่อนที่จะเปลี่ยนถ่ายลงสู่ทางคู่ขนาด 1 เมตร ณ จุดสถานีเปลี่ยนถ่ายนาทาต่อไป ส่วนขบวนรถผู้โดยสารจะเปลี่ยนขบวนรถไฟที่สถานีหนองคาย เนื่องจากสถานีแห่งนี้ฝ่ายไทยมีโครงการรถไฟไฮสปีดเทรนไปเชื่อมต่อรองรับไว้แล้ว

นอกจากนั้น คณะกรรมการยังได้เชิญกองทัพบกเข้าร่วมหารือ กรณีจะขอใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ จำนวน 216 ไร่ เพื่อก่อสร้างสถานีปากช่อง ซึ่งกองทัพบกไม่ขัดข้อง ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว และ รฟท. จะต้องทำหนังสือถึงกรมธนารักษ์เพื่อขอใช้ตามวัตถุประสงค์ต่อไป

 

"อาคม" สั่ง รฟท. เร่งหารือ "7 ข้อเทคนิค" รถไฟไทย-จีน

 

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนเรื่องที่พิจารณานั้น ยังพบว่า ไม่ได้มีการหารือกันในเรื่องนี้ในเชิงลึกแต่อย่างใด อาทิ หลักประกันสัญญาจะคิดที่จำนวนเท่าไหร่, ค่าปรับกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อีกทั้งเป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐอีกด้วย ที่ประชุมจึงมอบให้ รฟท. ไปพิจารณาว่าจะเป็นมูลค่าเท่าไหร่และจะนำเข้าหารือในการประชุมครั้งต่อไป

ประการสำคัญหลายเรื่องยังไม่ได้หารือจนใกล้สรุป อาทิ เรื่องเทคนิค โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ รฟท. ไปเร่งหารือกับฝ่ายจีนใน 7 ข้อด้วยกัน ซึ่งโดยสรุปฝ่ายจีนยังให้รายละเอียดมาไม่ครบ จึงพิจารณาด้านเทคนิคไม่แล้วเสร็จ ก่อนที่จะนำไประบุไว้ในสัญญาข้อ 2.3 สำหรับการลงนามสัญญากับฝ่ายจีนครั้งที่ 28 นี้ต่อไป
 

โดยข้อมูลด้านเทคนิคทั้ง 7 ข้อนั้น ประกอบไปด้วย 1.ค่าบริหารโครงการ วงเงิน 1,400 ล้านบาท, 2.ค่าเอกสารออกแบบงานระบบต่าง ๆ 700 ล้านบาท, 3.ค่าการตรวจสอบงานระบบร่วมกัน, 4.ค่าแผนการดำเนินงานในแต่ละส่วน และ 5.ข้อมูลบุคลากรหลัก รวมข้อ 3-5 วงเงิน 365 ล้านบาท, 6.เอกสารแสดงความต้องการ หรือ ข้อเรียกร้องเพิ่มเติมของฝ่ายจีน วงเงิน 1,100 ล้านบาท และ 7.เอกสารแสดงการบริหารจัดการ ขอบเขตของงานแต่ละฝ่ายที่คาบเกี่ยวระหว่างงานโยธากับงานระบบ ยังไม่มีค่าใช้จ่ายกำหนดไว้

"อาคม" สั่ง รฟท. เร่งหารือ "7 ข้อเทคนิค" รถไฟไทย-จีน