กรมเจ้าท่าเร่งทะลวงเดินเรือแม่น้ำป่าสัก เชื่อมผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล

21 มี.ค. 2562 | 07:56 น.

กรมเจ้าท่า จัดประชุมระดับประเทศครั้งที่ 2 โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำเชื่อมจากแม่น้ำป่าสักผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล ระยะทางราว 43 กม.คาดใช้งบราว 1 หมื่นล้านบาท

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเชื่อมโยงการขนส่ง ของประเทศเพื่อเศรษฐกิจไทย” ว่า กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จัดประชุมระดับประเทศ ครั้งที่ 2 การศึกษาออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในการเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำเชื่อมจากแม่น้ำป่าสักผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล

กรมเจ้าท่าเร่งทะลวงเดินเรือแม่น้ำป่าสัก เชื่อมผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล

โดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เล็งเห็นความสำคัญของการขนส่งสินค้าทางน้ำในแม่น้ำป่าสัก ช่วงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก ถึงอำเภอท่าเรือ รวมไปถึงการพัฒนาการเดินเรือเหนือเขื่อนพระราม 6 ไปจนถึงอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซึ่งประสบปัญหาหลายประการ อาทิ ความแออัดของการเดินเรือในลำน้ำ ความหนาแน่นของท่าเรือ ปัญหาขาดที่จอดเรือระหว่างขนถ่ายสินค้า ปัญหาความตื้นเขินของร่องน้ำในฤดูแล้งฯ 

กรมเจ้าท่าเร่งทะลวงเดินเรือแม่น้ำป่าสัก เชื่อมผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำป่าสักผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับความสามารถในการรองรับ ของแม่น้ำป่าสัก นั้น กรมเจ้าท่า จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำเชื่อมจากแม่น้ำป่าสักผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของกรมเจ้าท่าที่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำ เป็นการยกระดับเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำของไทย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ รวมถึง ความเป็นไปได้ในการพัฒนาการเดินเรือเหนือเขื่อนพระราม 6

“กรมเจ้าท่า ตระหนักและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดการศึกษาโครงการ สำหรับการประชุมระดับประเทศ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 การประชุมระดับจังหวัดอีก 3 ครั้งนั้นผู้เข้าร่วมการประชุมมีความพึงพอใจต่อโครงการ เพราะทำให้การขนส่ง เกิดความความสะดวกสบายมากขึ้น เดินทางทางน้ำ ได้รวดเร็ว กระตุ้นการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจของประเทศไทย” 

กรมเจ้าท่าเร่งทะลวงเดินเรือแม่น้ำป่าสัก เชื่อมผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล

ด้านนายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมระดับประเทศครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการนำเสนอร่างแผนพัฒนาโครงการและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้สนใจ เพื่อสร้าง การรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และลดข้อขัดแย้งที่อาจจะส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ และเพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและข้อกังวล การเดินเรือและกฎระเบียบข้อบังคับการเดินเรือ รายละเอียดการพัฒนาและประโยชน์จากการพัฒนาโครงการ อาทิ เกิดการ Shift Mode  มาเป็นการขนส่งสินค้าทางน้ำประมาณ 3.5 ล้านตัน/ปี ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ลดผลกระทบจากการกัดเซาะตลิ่งด้วยการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งความยาวรวม 43.5 กิโลเมตร และผลประโยชน์ทางอ้อมอื่น ๆ ได้แก่ ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่ง การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปริมาณการขนส่งทางถนน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณจราจรและการซ่อมบำรุงถนน และช่วยในการลดฝุ่นละอองได้อีกด้วย

“ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีการขนส่งทางน้ำน้อยมาก โดยแม่น้ำป่าสักแม้จะเป็นแม่น้ำที่ระยะทางไม่ยาวมากแต่กลับพบว่าแนวเส้นทางผ่านย่านอุตสาหกรรมภาคตะวันออกหลายแห่ง โดยเฉพาะจากสระบุรีเป็นต้นไป เบื้องต้นพบว่าตัวเลขการขนส่งสินค้าของแม่น้ำป่าสักจะสูงกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกรมเจ้าท่าเร่งศึกษาตั้งแต่โซนวัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงเขื่อนพระราม 6 ให้รองรับเรือขนาดใหญ่ 3 พันตันและ 1 พันตันตามลำดับ การศึกษาครั้งนี้เพื่อให้เรือสามารถรับน้ำลึกได้ถึง 5 เมตร ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอื่นๆจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถขนออกทะเลผ่านปากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยมีการขุดลอก การป้องกันตลิ่งพัง และการก่อสร้างสะพานให้การเดินเรือมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 1 หมื่นล้านบาท”