ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก.พ. พุ่งระดับ 95.6 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

21 มี.ค. 2562 | 07:10 น.

 

 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ กุมภาพันธ์ พุ่งต่อเนื่อง เกิดจากอุปสงค์ในประเทศ และกิจกรรมการหาเสียงเลือกตั้งซึ่งส่งผลดีต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ และอานิสงค์จากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 1,162 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 28.8, 36.9 และ 34.3 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 36.0, 15.4, 13.9, 23.1 และ 11.6 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 79.4 และ 20.6 ตามลำดับ

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ระดับ 95.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 93.8  ในเดือนมกราคม โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในองค์ประกอบ   ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก.พ. พุ่งระดับ 95.6 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จากการสำรวจ พบว่า ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ สะท้อนจากความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมทั้งกิจกรรมการหาเสียงเลือกตั้งซึ่งส่งผลดีต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะยานยนต์ สิ่งพิมพ์ อาหาร เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่งออกยังมีความกังวลต่อความผันผวนของค่าเงินบาท ทำให้กระทบต่อการวางแผนและการกำหนดราคา รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ตามภาวะของเศรษฐกิจประเทศ   คู่ค้าหลัก สะท้อนจากค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง

    สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 105.4 เพิ่มขึ้นจาก 104.1 ในเดือนมกราคม เนื่องจากผู้ประกอบการคาดหวังว่าภายหลังการเลือกตั้ง และมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจมีความชัดเจนและส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2562

   ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ  เอกชนเสนอให้ภาครัฐหามาตรการในเชิงรูปธรรม เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับยุค Disruptive Technology  และเสนอให้ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้  รวมถึงเสนอให้ภาครัฐเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี FTA กับกลุ่มประเทศที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าร่วมกัน อาทิ กลุ่มประเทศยูโรโซน ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยูเรเซีย

ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก.พ. พุ่งระดับ 95.6 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง