ส่งออก ก.พ. พลิกบวก 5.9% แต่พาณิชย์คาด Q1 ยังติดลบ

21 มี.ค. 2562 | 06:40 น.

พาณิชย์ เผย ส่งออกเดือน ก.พ. กลับมาขยายตัว 5.9% ระบุ อานิสงส์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเริ่มมีทางออก ไทยกระจายสินค้าไปตลาดใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น ส่งผล 2 เดือนแรก ตัวเลขบวก 0.16% ชี้! แนวโน้มไตรมาสแรกน่าจะยังติดลบ ลุ้น! ไตรมาส 2 ปรับดีขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึงการส่งออกของไทยในเดือน ก.พ. 2562 ว่า ขยายตัวเป็นบวก 5.90% (จากเดือน ม.ค. ติดลบ 5.6%) โดยมีมูลค่าส่งออก 21,553 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากหักอาวุธและทองคำออกจะติดลบ 4.9% ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการค้ายังคงกดดันให้การค้าโลกชะลอตัว และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าอ่อนแอ อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศเกิดใหม่ รวมถึงไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วย

 

ส่งออก ก.พ. พลิกบวก 5.9% แต่พาณิชย์คาด Q1 ยังติดลบ ⇲ นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร

 

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ เมื่อเทียบอัตราการขยายตัวในระยะเดียวกัน โดยไทยสามารถรับมือกับผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนได้ค่อนข้างดี ด้วยการกระจายสินค้าไปตลาดใหม่ ๆ รวมถึงเจาะตลาดเดิมอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยเชิงบวกที่สนับสนุนต่อการส่งออกในเดือน ก.พ. นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยบวกจากที่ไทยหลุดจากใบเหลือง IUU และรายงานสถานะการค้ามนุษย์ (TIP Report) ของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้การส่งออกสินค้าไทยไปประเทศพัฒนาแล้ว
 

"การส่งออกของไทยรวม 2 เดือนแรกของปี 2562 มีมูลค่า 40,547 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 0.16% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 10% ส่งผลให้การค้าไทยยังเกินดุล 4,034 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ"

 

ส่งออก ก.พ. พลิกบวก 5.9% แต่พาณิชย์คาด Q1 ยังติดลบ

 

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในช่วง 2 เดือนแรก หดตัว หรือ ลดลงที่ 2% โดยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัวในเดือน ก.พ. 2562 ได้แก่ ข้าว หดตัวที่ 21.5% โดยตลาดที่หดตัว ประกอบด้วย เบนิน แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ แคเมอรูน และฮ่องกง ส่วนยางพาราหดตัวต่อเนื่อง ทั้งด้านปริมาณและราคา หดตัวที่ 15.8% โดยหดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และบราซิล แต่ยังขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ ตุรกี และแคนาดา, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวที่ 1.1% โดยหดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดอินโดนีเซียและไต้หวัน, กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัว 15.6% หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และแคนาดา แต่ยังขยายตัวในตลาดญี่ปุ่นและจีน

อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 18.7% ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม ฮ่องกง รัสเซีย และแคนาดา

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมช่วง 2 เดือนแรก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.95% มาจากอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่ส่งมอบคืนหลังนำเข้ามาซ้อมรบ (คอบร้าโกลด์) ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว โดยสินค้าสำคัญอื่น ๆ ที่ส่งออกขยายตัวได้ดีในเดือน ก.พ. ได้แก่ ทองคำ ขยายตัว 107% โดยขยายตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง, ผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 9% ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน มาเลเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย เป็นต้น

 

ด้านตลาดส่งออก ตลาดสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีการนำเข้าของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงต่อสินค้าที่ถูกปรับขึ้นภาษีและผลกระทบทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง และบรรยากาศการค้าที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกของโลกและไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดหลักในเดือน ก.พ. ภาพรวมขยายตัว 23% โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 97%, ญี่ปุ่น 11.4% ส่วนสหภาพยุโรปหดตัว 12.2% ตามลำดับ ขณะที่ การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัวเพียง 2.6% โดยการส่งออกไปอาเซียน (5 ประเทศสมาชิกเดิม) ยังขยายตัว 2.8% ส่วนตลาดศักยภาพรองหดตัวที่ 8% โดยการส่งออกไปลาตินอเมริกา กลุ่มประเทศ CIS ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลางหดตัว 4.2, 12.2, 12.7 และ 14.2% ตามลำดับ

ส่วนภาพรวมการส่งออกของไทยช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ ในส่วนของตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 51.8%, ตลาดจีน หดตัว 9.2%, ตลาดสหภาพยุโรป (15) หดตัว 8.5%, ตลาดเอเชียใต้ หดตัว 6.8%, ตลาด CLMV ขยายตัว 0.1%, ตลาดญี่ปุ่น หดตัว 5.8%, ตลาดอาเซียน (5) หดตัว 2.5%, ตลาดตะวันออกกลาง หดตัว 11.5%, ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัว 9.7% และตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัว 7.8% เป็นต้น

 

ส่งออก ก.พ. พลิกบวก 5.9% แต่พาณิชย์คาด Q1 ยังติดลบ

 

"กระทรวงพาริชย์ยังเชื่อว่า แผนกิจกรรมส่งเสริมการค้าตลอดทั้งปีจะช่วยให้การส่งออกขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี 2562 ยอมรับว่า การส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้ ตัวเลขอาจจะไม่ค่อยสวยเท่าไร แต่มั่นใจว่า ในไตรมาส 2 การส่งออกจะดีขึ้น ส่วนการปรับเป้าส่งออกของกระทรวงนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"

 

ส่งออก ก.พ. พลิกบวก 5.9% แต่พาณิชย์คาด Q1 ยังติดลบ