AMATA มาร์จินพุ่ง! ปรับราคาขายที่ แบ็กล็อก 4.2 พันล้าน

20 มี.ค. 2562 | 09:59 น.

AMATA ปรับราคาขายที่ดิน หวังดันมาร์จินจากการขายเพิ่มเป็น 70% โชว์แบ็กล็อกกว่า 4,200 ล้านบาท รับรู้รายได้ปีนี้ราว 2,100-2,400 ล้านบาท ตั้งเป้าขายที่ดินนิคมฯ ในไทย 950 ไร่ มั่นใจ! หลังเลือกตั้ง-อานิสงส์สงครามการค้า ดึงทุนต่างชาติลงทุนเพิ่ม ตั้งงบลงทุน 5 พันล้านบาท ขยายแลนด์ลอดจ์ไทย-เวียดนาม

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แผนปีนี้ บริษัทตั้งเป้าขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในไทยรวม 950 ไร่ (ไม่นับรวมเวียดนามที่ยังรอคณะกรรมการสรุป) สูงกว่ายอดขายปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 823 ไร่ และหากรวมที่นิคมฯ เบียนหัวเวียดนามจะอยู่ที่ 863 ไร่

สำหรับ 2 เดือนแรกปีนี้ บริษัทได้ขายที่ที่นิคมฯระยอง ไทย-จีน ราว 100 ไร่ และในเดือน เม.ย. นี้ จะมีการเซ็นสัญญากับลูกค้าจีนอีก 28 ไร่ ทั้งนี้ คาดยอดขายจะเข้ามามากในช่วงไตรมาส 3-4 หลังไทยเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ประกอบกับอานิสงส์จากสงครามการค้าจะทำให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในนิคมฯอมตะมากขึ้น ปัจจุบัน บริษัทมีนักลงทุนจีนมากกว่า 500 ราย ที่เหลือเป็นกลุ่มญี่ปุ่นและยุโรป

นอกจากนี้ ต้นปีบริษัทได้ปรับราคาขายที่ดินนิคมฯอมตะชลบุรี จากไร่ละ 8.5 ล้านบาท เป็น 11 ล้านบาท หรือเพิ่ม 29% และที่นิคมฯระยอง จากไร่ละ 3.8 ล้านบาท เป็น 4.5 ล้านบาท หรือเพิ่ม 18%

"บอกไม่ได้ว่า หลังการปรับราคาขายที่ดิน กำไรรวมจะเพิ่มขึ้นเท่าไร เพราะแต่ละรายปรับขึ้นไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ คือ ที่นิคมฯอมตะชลบุรีมาร์จิน (
อัตรากำไรขั้นต้น) ต้องให้ได้อย่างตํ่า 70% และที่นิคมฯระยองต้อง Keep มาร์จินให้ได้ 56-60% จากปีที่แล้ว บริษัทมีมาร์จินจากการขายที่ดินโดยรวมอยู่ที่ 1,166 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา 63% ลดลงจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 69%"

 

AMATA มาร์จินพุ่ง! ปรับราคาขายที่ แบ็กล็อก 4.2 พันล้าน

 

บริษัทมียอดขายที่ดินรอโอน (Backlog) ที่ 3,610 ล้านบาท โดย 98% มาจากในไทย และอีก 2% มาจากเวียดนาม และมีแบ็กล็อก LOI ที่ลงนามแล้วอีก 200 ไร่ เป็นวงเงิน 700 ล้านบาท รวมเป็น 4,200 ล้านบาท จำนวนนี้โอนแน่นอนประมาณ 60% ประมาณ 2,400-2,500 ล้านบาท สูงกว่าตัวเลขที่ได้เสนอกับบอร์ดที่ 2,100 ล้านบาท

แผนลงทุนปีนี้ บริษัทตั้งงบ 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาในประเทศไทยราว 3,000 ล้านบาท และเป็นการลงทุนซื้อที่ดินพัฒนาในเวียดนามและอื่น ๆ อีกกว่า 2,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน บริษัทมีที่ดินรวม 12,338 ไร่ แบ่งเป็น ที่ดินพร้อมขายกว่า 2,274 ไร่ ที่ดินเปล่าและรอการพัฒนา 8,837 ไร่ และที่ดินในเชิงพาณิชย์อีก 1,227 ไร่ ส่วนที่เวียดนามมีกว่า 60 เฮกเตอร์ และยังมีแผนจะซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อบริหารจัดการอีก

นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายของบริษัทต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) เพื่อสร้างความมั่นคงของรายได้ เนื่องจากยอดขายที่ดินมีความไม่แน่นอนสูง ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าไปลงทุน อาทิ ถือหุ้นในกิจการสาธารณูปโภค โดยมารจิน Recurring Income เติบโตต่อเนื่องจากปี 2556 อยู่ที่ 32% เพิ่มเป็น 39%, 41% และ 43% ในช่วง 3 ปีหลัง (2559-2561) ตามลำดับ และในปีนี้ บริษัทจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าเต็มปี หลังจากได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบไปในปีที่ผ่านมา ทำให้กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 260 เมกะวัตต์


ผลประกอบการปี 2561 บริษัทมีรายได้รวม 4,576 ล้านบาท ลดลง 2% จากปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 1,018 ล้านบาท ลดลง 28%

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัสฯ (ASP) ระบุ อมตะตั้งเป้ายอดขายในไทย 950 ไร่ มากกว่าประมาณการของฝ่ายวิจัย ASP ที่คาดยอดขายที่ในไทยจะเท่ากับ 625 ไร่ และเนื่องจากการเวนคืนที่ดินเวียดนามล่าช้า จึงยังไม่รวมยอดขายใหม่ในเวียดนามไว้ในประมาณการ โดย ASP แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 35.70 บาท (ณ วันที่ 19 มี.ค. ราคาหุ้น AMATA เคลื่อนไหวอยู่ที่ 20.90 บาท เพิ่มขึ้น 0.97%)

บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีไทย ระบุว่า ได้ปรับมูลค่า NAV ของ AMATA ขึ้นจากหุ้นละ 49.6 บาท เป็น 60.58 บาท เพื่อรับรู้ราคาที่ดินในนิคมที่สูงขึ้น แต่ยังคงราคาเป้าหมายอยู่ที่ 27 บาท เท่ากับส่วนลด 55.4% ต่อค่า NAV เนื่องจากเห็นปัจจัยบวกที่จะช่วยผลักดันราคาหุ้นจากการขายโรงงานสำเร็จรูปที่มีพื้นที่ให้เช่า 6 หมื่นตารางเมตร ให้กับ REIT ในปี 2562


หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,454 วันที่ 21-23 มีนาคม 2562

AMATA มาร์จินพุ่ง! ปรับราคาขายที่ แบ็กล็อก 4.2 พันล้าน