รฟท. ฉายภาพแผนพัฒนา "รถไฟ" จ่อเทงบแสนล้าน ต่อยอดสู่ระบบ "รถไฟฟ้า"

19 มี.ค. 2562 | 05:45 น.

'สมคิด' หนุน รฟท. เร่งพัฒนาระบบรถไฟ กระตุ้นการลงทุนและยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศ ปรับโหมดสู่ระบบรางมากขึ้น ด้าน 'วรวุฒิ' ฉายภาพแผนการพัฒนารถไฟ ดีเดย์กลางปีนี้ เปิดใช้ทางคู่ 2 เส้นทาง พร้อมจ่อลงทุนแสนล้าน ยกระดับสู่บริการรถไฟฟ้า ขีด 3 วงแหวน รัศมีการพัฒนาต่อยอดจากสายสีแดง เริ่มปี 64

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการด้านธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2562 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธาน และมีรัฐวิสาหกิจ 8 แห่ง เข้าร่วมการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในครั้งนี้ รฟท. ได้นำเสนอ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงแผนการพัฒนาการรถไฟในเส้นทางต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2562-2568
รฟท. ฉายภาพแผนพัฒนา "รถไฟ" จ่อเทงบแสนล้าน ต่อยอดสู่ระบบ "รถไฟฟ้า"


โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปี 2561 มีทางรถไฟ 4,044 กม. เป็นทางคู่ 357 กม. มีเป้าหมายในปี 2566 มีทางรถไฟ 4,360 กม. เป็นทางคู่ 2,464 กม. และรถไฟความเร็วสูง 473 กม. โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ จำนวน 14 เส้นทาง ได้รับอนุมัติแล้ว 8 โครงการ และจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 2567, โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ทางรถไฟช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร- นครพนม (แล้วเสร็จปี 2568) และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (แล้วเสร็จปี 2566), รถไฟความเร็วสูง จำนวน 2 สาย ได้แก่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา (แล้วเสร็จปี 2566) กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา (แล้วเสร็จปี 2566), โครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ประกอบด้วย สายบางซื่อ-รังสิต สายบางซื่อ-ตลิ่งชัน (แล้วเสร็จปี 2564) สายรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สายตลิ่งชัน-ศาลายา สายตลิ่งชัน-ศิริราช (แล้วเสร็จปี 2566) สายบางซื่อ-หัวลำโพง และสายบางซื่อ-หัวหมาก (แล้วเสร็จปี 2567) โดยพบว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีการอนุมัติเส้นทางรถไฟไปแล้ว 900 กม. ซึ่งสูงกว่าการพัฒนาเส้นทางรถไฟในช่วง 68 ปีที่ผ่านมา ที่พัฒนาไปเพียง 700 กม.

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกรายภาค เริ่มตั้งแต่ปี 2562 เส้นทางสู่สายตะวันออกเฉียงเหนือและสายตะวันออกเตรียมเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง คือ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เพื่อป้อนสินค้าสู่พื้นที่อีอีซี ตามนโยบายของรัฐบาล ปี 2566 อีกจำนวน 3 เส้นทาง ที่จัดอยู่ในแผนการพัฒนาระยะที่ 2 คือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี จะครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น และที่จะเปิดให้บริการในปี 2568 คือ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งเป็นเส้นทางสายใหม่ นอกจากนั้นยังมีแผนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และกรุงเทพฯ-ระยอง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง

 

รฟท. ฉายภาพแผนพัฒนา "รถไฟ" จ่อเทงบแสนล้าน ต่อยอดสู่ระบบ "รถไฟฟ้า"


ส่วนสายเหนือ มีทั้งทางคู่และทางสายใหม่ ประกอบด้วย เปิดให้บริการปี 2565 ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ปี 2566 ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ปี 2567 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ จะเปิดพื้นที่เส้นทางโลจิสติกส์สู่ภาคเหนือและภาคกลางมากขึ้น

เช่นเดียวกับ สายใต้ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2564 ประกอบไปด้วย ช่วงนครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ปี 2566 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ปี 2567 ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา

 

"ฉายภาพเพื่อให้เห็นถึงการพัฒนาระบบรางของ รฟท. ในการพัฒนารถไฟทางคู่ ทั้งในวันนี้และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 1.1 แสนล้านบาท เฟสแรก เร่งก่อสร้างไปแล้วหลายเส้นทาง จะแล้วเสร็จในปี 2564 และเร่ง เฟสที่ 2 ต่อเนื่องกันไปให้แล้วเสร็จในปี 2567 ส่วนกลางปีนี้จะเห็นภาพเปิดให้บริการ 2 เส้นทาง พื้นที่สายตะวันออกเฉียงเหนือแน่นอน"

นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการพัฒนาระยะต่อไปนั้น เตรียมนำเสนอรัฐบาลเร่งผลักดันโครงการระบบรถไฟฟ้าที่กำหนดไว้ 3 รัศมี คือ ระยะแรก 100 กม. รอบกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ใช้รถไฟสายสีแดง เริ่มตั้งแต่ปี 2564 ระยะที่ 2 รัศมี 250 กม. จากกรุงเทพฯ และระยะที่ 3 รัศมี 500 กม. จากกรุงเทพฯ

 

รฟท. ฉายภาพแผนพัฒนา "รถไฟ" จ่อเทงบแสนล้าน ต่อยอดสู่ระบบ "รถไฟฟ้า"


"เส้นทางสายสีแดงสู่มหาชัยจะขอศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อน แม้ว่าจะมีเอกชนในพื้นที่แสดงความสนใจลงทุนก็ตาม เบื้องต้น ช่วงผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสู่วงเวียนใหญ่ยังหารูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับอีไอเอระหว่างอุโมงค์ทางลอดกับสะพานข้าม ดังนั้น จะได้เห็นภาพการพัฒนาเส้นทางแต่ละพื้นที่ชัดเจนขึ้น อาทิ รังสิต ที่จะเชื่อมระหว่างรถดีเซลกับรถไฟฟ้า ตลอดจนพื้นที่นครสวรรค์และพิษณุโลกในจุดเชื่อมแต่ละรัศมี"

รฟท. ฉายภาพแผนพัฒนา "รถไฟ" จ่อเทงบแสนล้าน ต่อยอดสู่ระบบ "รถไฟฟ้า"