ชูนายกฯ ชิงนิวโหวตเตอร์ กลยุทธ์โค้งท้ายเลือกตั้ง

20 มี.ค. 2562 | 04:05 น.

การแสดงท่าทีไม่เอาบิ๊กตู่-ปฏิเสธเพื่อไทย ของพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผลให้ดีกรีการเมืองช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งพุ่งกระฉูด จนหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงจะเกิด “เดดล็อก” ก่อนการหย่อนบัตรเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่

ชูนายกฯ ชิงนิวโหวตเตอร์ กลยุทธ์โค้งท้ายเลือกตั้ง

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สะท้อนมุมมองการเมืองโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ คนคุมกติกาเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูเหมือนจะมีปัญหาหยุมหยิมเยอะมาก มีการฟ้องร้องรายวัน ถ้าตัดสินไม่ดีแล้วเข้าทางใคร จน กกต.ไม่รับรองการเลือกตั้ง คราวนี้วุ่นแน่ แต่ตราบใดที่แต่ละฝ่ายอดทน จนผ่านพ้นวันเลือกตั้ง จะไม่เกิดเดดล็อกขึ้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นช่วง 3 วันก่อนเลือกตั้ง พรรค การเมืองจะงัดกลยุทธ์มาสู้กัน ทำให้มีอะไรที่จะพลิกได้ตลอด โดยช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง จากการสำรวจของโพลล์หลายสำนักสอดคล้องกันว่า พรรคที่มีเสียงมาอันดับ 1 ยังเป็นพรรคเพื่อไทย (พท.) ส่วนพรรคอันดับ 2-3 ยังชิงกันอย่างสูสีระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

หากโฟกัสไปที่เพื่อไทย แม้ผลสำรวจจะออกมานำหน้า ประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ แต่อย่าลืมว่าเสียงของเพื่อไทยตํ่ากว่าเป้าเดิมเยอะ จากเดิมประเมินได้ 190 เสียง แต่ช่วง 1 สัปดาห์ก่อนโค้งสุดท้ายให้เต็มที่ 120 เสียง ดังนั้นเพื่อไทยต้องรักษาฐานเสียงเดิมในระบบเขตให้ได้มากที่สุด เพราะมีโพลล์บางสำนักชี้ชัดว่าแม้เสียงของเพื่อไทยยังนำพลังประชารัฐ แต่เป็นคะแนนที่ไม่ห่างกันมาก โพลล์บางโพลล์บอกว่าคะแนน 50% เป็นเพื่อไทย อีก 30% เป็นคะแนนพลังประชารัฐ สมมติคนมาใช้สิทธิ 100,000 คน 50,000 คะแนน เป็นของเพื่อไทย

ขณะที่พลังประชารัฐ ได้ 30,000 คะแนนต่อเขต ภาคอีสานมีเขตเลือกตั้งเป็น 100 เขต โอกาสที่จะพลิกผันจึงยังมีเยอะ

ดร.สติธร มองว่า ปัจจัยที่ทำให้ความนิยมของพลังประชารัฐ โดดเด่นขึ้นมาจากหลายอย่างไม่ใช่การชู พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคน-ดิเดตนายกฯ เพราะผู้สมัครระบบเขตในภาคอีสาน ไม่ค่อยโอเคกับ พล.อ.ประยุทธ์ นัก คะแนนส่วนหนึ่งมาจากนโยบายพรรค การเดินเกมในพื้นที่ ขณะที่ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปช่วยเติมคนเมืองในหัวเมืองต่างๆ มากกว่าชนบท

จุดที่น่าสังเกตอีกประการคือ โพลล์ที่สถาบันพระปกเกล้าสำรวจล่าสุดสะท้อนความนิยมของนายกฯ หลังเหลืกตั้งมี 5 ปัจจัยคือ ภาวะผู้นำ มีคุณธรรมซื่อสัตย์ สุจริต มีความโปร่งใสในการทำงาน มีวินัย ตรงไปตรงมา ซึ่งทั้ง 5 ปัจจัยสอดคล้องกับคาแรกเตอร์ พล.อ.ประยุทธ์ พอดี

ขณะที่ ประชาธิปัตย์ ที่สร้างความฮือฮาจากวาทกรรมไม่เอาเพื่อไทย และปฏิเสธ “ลุงตู่” เป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า ประชาธิปัตย์ ใช้ยุทธศาสตร์นี้ก็เพราะต้องการหวังผลจากโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ผลสำรวจบอกว่าคนที่ยังไม่ตัดสินใจมีเยอะ บางสำนักบอก 40% ที่ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกใคร ถ้าแยกตามอายุจะเห็นว่า คนอายุน้อยๆ ยังไม่ตัดสินใจ รุ่นเก่าๆ ตัดสินใจได้พอสมควร ประชาธิปัตย์จึงหวังคะแนนที่อาจจะแปรผันในช่วงนี้

ชูนายกฯ ชิงนิวโหวตเตอร์ กลยุทธ์โค้งท้ายเลือกตั้ง

การที่ปชป.ประกาศจุด ยืนไม่เอาการเมือง 2 ขั้ว โดยจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะมองว่าน่าจะได้คะแนนจากตรงนี้ แต่จุดที่เป็นข้อเสียของยุทธศาสตร์อันนี้คือ ประชาธิปัตย์ เป็นพรรคเก่าแก่ คนอายุมากก็เยอะ ดูจากกระแสโพลล์ที่วิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ จะเห็นว่าคนอายุมาก ส่วนใหญ่ค่อนข้างจะตอบรับ พล.อ.ประยุทธ์ ให้กลับมาเป็นนายกฯ ฐานเสียงตรงนี้ซึ่งเคยเป็นของประชาธิปัตย์ อาจจะเสียไป

หมายความว่าหลังจากปล่อยยุทธศาสตร์นี้ออกไป พรรคต้องประเมินว่า เสียงที่ได้มาจาก นิวโหวตเตอร์ และที่เสียไปจากคนรุ่นเก่าๆ อย่างไหนได้มากหรือน้อยกว่ากัน และต้องนำไปสู่การปรับอีกทีในช่วง 3 วันสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง

“คุณอภิสิทธิ์ ทิ้งไพ่ใบนี้เพราะหวังว่าอาจจะดันให้คะแนนพรรคขึ้นจาก 100-110 เสียงเป็น 120-130 เสียง เพื่อกดเสียงของพลังประชารัฐที่สูสีกันให้ตํ่าลงไปสัก 70-80 เสียง เพื่อให้พลังประชารัฐขาดความชอบธรรมในการชิงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล”

นอกจากนั้นเป้าหมายของประชาธิปัตย์ที่เล่นเกมนี้ เพราะต้องการดึงนิวโหวตเตอร์ หากคิดอีกมุม หากประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคอนาคตใหม่ แทนที่เด็กรุ่นใหม่จะมองประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายตรงข้าม อาจจะมองว่า คู่ตรงข้ามอนาคตใหม่คือ “ลุงตู่” ทำให้มันชัดขึ้น

ประชาธิปัตย์เล่นเกมนี้อาจเป็นลบมากกว่าบวก เพราะถ้าประชาธิปัตย์จะแชร์คะแนนนิวโหวตเตอร์ตอนนี้ถือว่าช้าไป เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่รักปักใจกับอนาคตใหม่แล้ว “ฟ้ารักพ่อ” ไปแล้ว เหมือนรักแรกพบ และอนาคตใหม่ ยังไม่ทำให้นิวโหวตเตอร์ผิดหวัง

ดร.สติธร ยังวิเคราะห์ถึงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งว่า ต้องดูที่สถานการณ์หลายๆ อย่าง รวมทั้งตัว เลขด้วย ถ้า 2 ขั้วการเมืองเป็นขั้วที่กํ้ากึ่งมาก จนต่างฝ่ายต่างมีความชอบธรรมที่จะอ้างสิทธิในการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล คนที่จะชี้คือพรรคขนาดกลางที่ร่วมได้ทั้ง 2 ขั้ว สถานการณ์แบบนี้จะนำไปสู่รัฐบาลที่มีเสรีภาพหรือไม่ และจะมีวิธีการหาทาง ออกอย่างไร

ส่วนเสียงของส.ว.ถ้าสนับสนุนขั้วใดขั้วหนึ่ง และไม่ฝืนความรู้สึกของประชาชนจนเกินไป ความขัดแย้งอาจไม่ต้องออกมาเดินบนท้องถนน แต่ไปสู้ที่รัฐสภาแทน เพราะหลังจัดตั้งรัฐบาลเกมของรัฐสภาจะเดิน แต่ในกรณีมีความเพลี้ยงพลํ้าของรัฐบาล หมายความว่าอาจจะมีเลือกตั้งใหม่อีกรอบ ซึ่งรอบหน้ากติกาจะเปิดมากกว่านี้

“ที่ต้องระวังคือ เสียง ของส.ว.ที่จะสนับสนุนฝ่ายใด ถ้าหนุนพรรคที่ตํ่ากว่า 100 เสียง หรือแค่ 70-80 เสียง แล้วอ้างความชอบธรรมและไปจับมือกับพรรคเล็กๆ ได้ 126 เสียง และบวกกับ ส.ว.แบบนี้ถือว่าสวนกระแสความรู้สึกประชาชน ซึ่งมีปัญหาแน่” 

รายงาน โดย ทีมข่าวการเมือง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3454 ระหว่างวันที่ 21 - 23 มีนาคม 2562

ชูนายกฯ ชิงนิวโหวตเตอร์ กลยุทธ์โค้งท้ายเลือกตั้ง