'อังกฤษ' ไม่รับ "เบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง" ผลสำรวจชี้! ยิ่งลากยาว ธุรกิจยิ่งกระทบหนัก

14 มี.ค. 2562 | 07:13 น.

รัฐสภาอังกฤษลงมติ "ไม่รับ" การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยไร้ข้อตกลง (No-deal Brexit) ในวันที่ 29 มี.ค. นี้ ด้วยคะแนน 312 ต่อ 308 เสียง ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2562 เป็นการปูทางให้มีการลงมติกันอีกครั้งในวันที่ 14 มี.ค. ในญัตติการ "ขอเลื่อน" กำหนดเวลาในการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากอียู ที่เดิมกำหนดไว้ในวันที่ 29 มี.ค. นี้ ออกไปก่อน

หากการลงมติในวันที่ 14 มี.ค. ผลออกมาว่า สภาเห็นชอบให้เลื่อนการออกจากอียูไปก่อน นั่นก็หมายความว่า รัฐบาลอังกฤษจะต้องเร่งไปเจรจากับอียูเพื่อขอเลื่อนกำหนดดังกล่าว เพื่อที่อังกฤษจะยังไม่ต้องออกจากอียูตามกำหนดเส้นตายเดิมในวันที่ 29 มี.ค. นี้ ซึ่งใกล้เข้ามาทุกที ขณะที่ กระบวนการทางการเมืองของอังกฤษเอง ทำให้การออกจากอียูมีความยุ่งยากมากขึ้นเรื่อย ๆ
 

เทเรซา เมย์

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. รัฐสภาอังกฤษได้มีมติ 374 ต่อ 164 เสียง "ไม่รับ" ข้อตกลงเบร็กซิทฉบับปรับปรุงใหม่ ที่ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี นำเสนอเข้าสู่สภา

หลายฝ่าย รวมทั้ง นายฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ ได้ออกโรงเตือนว่า การออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ มารองรับ จะก่อให้เกิดความโกลาหลวุ่นวาย เช่น อัตราการว่างงานจะพุ่งสูงขึ้น ขณะค่าแรงปรับลดลงและราคาสินค้าทะยานสูง

ทั้งนี้ เบร็กซิทที่ไม่มีข้อตกลงมารองรับ เปรียบเสมือนกับการที่อังกฤษตัดสัมพันธ์ทุกอย่างกับอียู และไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังอียูอีกต่อไป ต่างกับการออกอย่างมีข้อตกลง ซึ่งจะเป็นการค่อย ๆ ถอนตัวอย่างมีขั้นตอน และลดผลกระทบที่จะสร้างความเสียหาย อังกฤษจะหันไปปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการค้าขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) แทน และจะต้องมีการเรียกเก็บภาษีอัตราใหม่จากการนำเข้า-ส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการดำเนินธุรกิจ และนั่นหมายถึง ราคาสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้านำเข้า จะปรับตัวสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน ในส่วนของผลกระทบทางการค้านั้น อังกฤษจะสูญเสียข้อตกทางการค้าที่มีกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกของอียู ทำให้อาจจะต้องมีการเจรจาใหม่กับประเทศเหล่านั้นเป็นราย ๆ ไป และอังกฤษยังต้องทำข้อตกลงการค้าใหม่กับอียูด้วย
 

'อังกฤษ' ไม่รับ "เบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง" ผลสำรวจชี้! ยิ่งลากยาว ธุรกิจยิ่งกระทบหนัก

อีกประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาก คือ การที่อังกฤษจะมีอิสระในการกำหนดการควบคุมการตรวจคนเข้าเมืองของตัวเอง แต่ในทางกลับกัน ชาวอังกฤษที่ทำงานและใช้ชีวิตในประเทศอื่น ๆ ของอียู อาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน จนกว่าสถานะของพวกเขาจะมีความชัดเจน นอกจากนี้ การเดินทางเข้า-ออกอียูของพลเมืองอังกฤษอาจจะต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขใหม่ แม้ว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะออกมายืนยันว่า ถึงแม้จะเกิดกรณีเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง ชาวอังกฤษที่ประสงค์เดินทางท่องเที่ยวในอียูก็ยังสามารถกระทำได้ โดยไม่ต้องขอวีซ่าสำหรับการเยือนไม่เกิน 90 วัน เป็นต้น ส่วนพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือ (ของอังกฤษ) และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นสมาชิกอียู) จะกลายเป็นพรมแดนภายนอกสำหรับอียู ซึ่งจะต้องมีการควบคุมการตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากร

นายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคแรงงาน ออกมาระบุว่า นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ควรเปลี่ยนท่าทีในกรณีข้อตกลงเบร็กซิทได้แล้ว และเขาเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ โดยก่อนหน้านี้ เขาบอกว่า เขาอาจจะสนับสนุนให้มีการลงประชามติครั้งใหม่ แต่ทางเลือกที่เขาอยากได้มากกว่า คือ การผลักดันให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

สำหรับกรณีที่สภาลงมติให้มีการขอเลื่อนกำหนดการออกจากอียูออกไปหลังวันที่ 29 มี.ค. นี้ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งแสดงจุดยืนสนับสนุนเสียงของประชาชนที่ลงประชามติในปี 2559 ให้อังกฤษออกจากอียู ได้เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า เธอไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเลื่อนกำหนดเวลาดังกล่าว แต่หากจำเป็นต้องเลื่อน หรือ ยืดเวลาการออกจากอียูออกไป ก็ไม่ควรจะเกินสิ้นเดือน มิ.ย. ศกนี้
 

'อังกฤษ' ไม่รับ "เบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง" ผลสำรวจชี้! ยิ่งลากยาว ธุรกิจยิ่งกระทบหนัก

⁍ ธุรกิจระส่ำท่ามกลางความไม่แน่นอน

การสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจในอังกฤษเกี่ยวกับผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากเบร็กซิท ซึ่งจัดทำโดย ธนาคารแบงก์ ออฟ อิงแลนด์ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮมและมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ภายใต้ชื่อ การสำรวจ Decision Maker Panel โดยสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารธุรกิจในอังกฤษประมาณ 7,500 ราย มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบที่ภาคธุรกิจได้รับจากเบร็กซิท ทั้งในแง่ยอดขาย ราคาสินค้า การลงทุน และการจ้างงาน พบว่า ผู้บริหารจำนวนมาก มองว่า เบร็กซิท คือ ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในระดับต้น ๆ

การสำรวจที่มีการเก็บข้อมูลเป็นระยะ ๆ พบว่า ในช่วงแรก ๆ หลังจากที่ผลการลงประชามติในปี 2559 ออกมาว่า อังกฤษต้องการแยกตัวออกจากอียู ผู้บริหารระดับสูง 36% เห็นว่า เบร็กซิท คือ ต้นเหตุของความไม่แน่นอน ซึ่งสร้างปัญหาให้กับการวางแผนธุรกิจ แต่ต่อมา เมื่อมีการเก็บข้อมูลระหว่างเดือน พ.ย. 2561 ถึงเดือน ม.ค. 2562 พบว่า ผู้บริหารจำนวนมากขึ้น คือ 54% มองว่า เบร็กซิท คือ ต้นเหตุของความไม่แน่นอน และผู้ที่เห็นว่า เบร็กซิทเป็นต้นเหตุอันดับ 1 ของความไม่แน่นอน ก็ได้เพิ่มสัดส่วนขึ้นจาก 9% เป็น 23% แล้วในปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ตอบคำถามการสำรวจยังเชื่อว่า การออกจากอียูจะทำให้ยอดขายของพวกเขาลดลงโดยเฉลี่ย 3% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะลดลงมากกว่า 2% ขณะที่ ต้นทุนดำเนินการ ค่าจ้างแรงงาน และต้นทุนกู้ยืม คาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นหลังจากที่อังกฤษถอนตัวออกจากอียู

นอกจากนี้ บริษัทที่ตอบว่า เบร็กซิทเป็นต้นเหตุสำคัญของความไม่แน่นอน ยังมีแนวโน้มที่จะลงทุนลดลงด้วย โดยบริษัทที่อยู่ในกลุ่มนี้เป็นบริษัทที่มีการส่งออกสินค้า หรือ บริการ ไปยังตลาดอียู มีการนำเข้าวัตถุดิบจากอียู หรือ มีการจ้างแรงงานจากประเทศในอียู การสำรวจยังชี้ว่า ปัจจุบัน ผลกระทบของเบร็กซิทที่เกิดขึ้นแล้วกับภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบที่เกิดจากความไม่แน่นอน หรือ ความวิตกในสิ่งที่ไม่อาจคาดเดา แต่ผู้ประกอบการก็เชื่อว่าา เบร็กซิทจะทำให้ยอดขายของพวกเขาลดลงในระยะยาว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะมีผลต่อแผนการลงทุน การจ้างงาน และประสิทธิภาพการผลิตด้วยเช่นกัน

'อังกฤษ' ไม่รับ "เบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง" ผลสำรวจชี้! ยิ่งลากยาว ธุรกิจยิ่งกระทบหนัก