"บิ๊กตู่" รอด! มติผู้ตรวจการฯ ชี้! ไม่เข้าข่าย จนท.อื่นของรัฐ

14 มี.ค. 2562 | 05:10 น.

'ศรีสุวรรณ' แห้ว! ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยุติเรื่องร้องเรียนไม่มีสิทธิเสนอชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร. ชี้! "หัวหน้า คสช." ไม่เข้าข่าย จนท.อื่นของรัฐ

วันนี้ (14 มี.ค.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุติเรื่องกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ตรวจสอบพร้อมเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ศาลปกครอง วินิจฉัยว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ การที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จึงเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) หรือไม่

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 เกี่ยวกับความหมายของคำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ซึ่งเคยบัญญัติไว้ในมาตรา 109 (11) ของรัฐธรรมนูญ 2540 ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือ ลักษณะงาน ทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้

1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย

2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ

3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ

4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือ ค่าตอบแทน ตามกฎหมาย ...
 

"บิ๊กตู่" รอด! มติผู้ตรวจการฯ ชี้! ไม่เข้าข่าย จนท.อื่นของรัฐ


ทั้งนี้ คำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" เป็นถ้อยคำเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 98 (15) รัฐธรรมนูญ ว่า จะต้องมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือ ลักษณะงาน ทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องมีลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประการ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. แม้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ โดยมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือ ค่าตอบแทนตามกฎหมายก็ตาม

แต่ตำแหน่งดังกล่าวได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้า คสช. บริหารราชการแผ่นดินตามประกาศแต่งตั้งหัวหน้า คสช. ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 ซึ่งมิใช่เป็นการได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย หากแต่เป็นการได้รับแต่งตั้งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ
 

"บิ๊กตู่" รอด! มติผู้ตรวจการฯ ชี้! ไม่เข้าข่าย จนท.อื่นของรัฐ

นอกจากนี้ ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ แต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นความจำเป็นในช่วงที่จะต้องเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศไปสู่สถานการณ์ปกติ อันเป็นการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป

โดยบทเฉพาะกาลมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ก็ยังคงให้การรับรองอำนาจนี้อยู่ โดยบัญญัติให้ คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญจะเข้ารับหน้าที่


"แสดงให้เห็นได้ว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มิได้มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือ ลักษณะงาน ทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ และมิได้ลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประการ ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงไม่ได้มีสถานะเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ตามที่มีการร้อง

ดังนั้น การที่ กกต. ประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 และมาตรา 14 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กรณีจึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ศาลปกครอง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 23 พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560"

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ที่คำวินิจฉัยดังกล่าวออกไปแล้วอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ นายรักษเกชา กล่าวว่า ตอนพิจารณาคำร้องผู้ตรวจฯ ก็พยายามมองในหลาย ๆ มุม แต่เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่ ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ยืนยันว่า ผู้ตรวจฯ พิจารณาบนพื้นฐานของข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง

"บิ๊กตู่" รอด! มติผู้ตรวจการฯ ชี้! ไม่เข้าข่าย จนท.อื่นของรัฐ