ข่าวห้ามเขียน : ควันออกหู

13 มี.ค. 2562 | 10:05 น.

ข่าวห้ามเขียน :  ควันออกหู
ข่าวห้ามเขียน :  ควันออกหู
นับตั้งแต่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาเป็น 1.75% ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ทางความคิดระหว่าง “ดร.ก้อ-วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กับ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กลายเป็นเชือกที่ขาดผึง

"อภิศักดิ์" ยืนยันมาตลอดว่า แบงก์ชาติไม่ควรขึ้นดอกเบี้ย แต่เมื่อ กนง.ฝ่าไฟแดงขึ้นดอกเบี้ยมา อารมณ์จึงบ่จอยนับตั้งแต่นั้นมา

ล่าสุด “ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง ส่งสัญญาณกำชับแบบชัดๆว่า "ดอกเบี้ยต่อไปน่าจะทรงตัว และควรจะคงอยู่ในระดับนี้ เพราะเศรษฐกิจบ้านเรา พวกล่างๆ รากหญ้ายังลำบากกันเยอะ เชื่อว่าเขา (กนง.) เข้าใจว่าควรจะช่วยประคองเอสเอ็มอีหรือธุรกิจในระดับล่างๆ ไว้อย่างไร"

แต่ที่แตกดังโพละโป๊ะแตก เป็นปรากฏการณ์ที่ ดร.วิรไท ออกมาพูดว่า นโยบายภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ โดยเน้นการดูแลราคา การประกันรายได้ และการให้เงินอุดหนุน หรือการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้น แต่ไม่ช่วยพัฒนาผลิตภาพในระยะยาว

ไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มีปัญหาการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบไม่ทั่วถึง ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง

ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสฝังตัวอยู่ในทุกระดับ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ได้เปรียบธุรกิจขนาดเล็ก ยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ยิ่งทำให้ธุรกิจขนาดเล็กสู้ได้ยากขึ้น

ภาคครัวเรือนที่ยังเปราะบางมาก ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 77.8% ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกับไทย

ข่าวห้ามเขียน :  ควันออกหู
ข่าวห้ามเขียน :  ควันออกหู

 

“อภิศักดิ์” ถึงกับควันออกหู ตอกกลับเข้าชายโครงดร.ก้อไปจังหนับ ต้องแยกก่อนว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาจากอะไร หากเป็นหนี้ที่กู้ไปใช้สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ซื้อที่อยู่อาศัยก็ถือเป็นหนี้ที่มีคุณภาพดี แต่ในทางกลับกันหากเป็นหนี้เพื่อซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น เช่น โทรศัพท์มือถือ รถจักรยานยนต์ ไม่ใช่หนี้ครัวเรือนที่มีคุณภาพ เพราะเป็นการกู้แบบใช้แล้วหมดไป ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต

“เวลาวิเคราะห์หนี้บุคคล ต้องวิเคราะห์ให้ละเอียด ไม่ใช่เอาตัวเลขมาพูดแล้วเท่ ลงข่าวได้ดี และบังเอิญช่วงนี้นักการเมืองกำลังหาเสียงกัน เข้าล็อกเลยว่า ยิ่งรัฐบาลทำไป ยิ่งมีหนี้ครัวเรือนมากขึ้น ทั้งๆที่ไม่ใช่เลย คนที่พูดว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่ม แล้วบอกหรือไม่ว่าจะช่วยลดอย่างไร คนคุมสินเชื่อในระบบ คือ ธปท. มาบอกว่า ตัวนี้เกินมา คุณคุมมาทั้งชาติ ปล่อยให้เกินได้อย่างไร...

กรณี ธปท. เป็นห่วงเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ขอถามว่าถ้าเป็นห่วงจริง ๆ แล้วจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทำไม เพราะเท่าที่ติดตามดู เมื่อขึ้นดอกเบี้ยสิ่งที่ขึ้นเลย คือดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีทางไป แล้วมาพูดว่า เราทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จริง ๆ แล้วคุณก็ทำให้มันเกิดความเหลื่อมล้ำรายย่อยกับรายใหญ่ ในเมื่อคุณทำแบบนี้ มันยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นหรือเปล่า” ดุพอมั้ยครับ...

นี่ดีนะเป็นปลายรัฐบาล ไม่งั้นละก้อเฮร้ย....พรานทำนายได้ว่า นายเหนื่อยแน่ ...

| คอลัมน์ : ข่าวห้ามเขียน
| โดย : พรานบุญ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3452 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค.2562 

ข่าวห้ามเขียน :  ควันออกหู