หวั่น "การเมือง" ฉุด! แบงก์ประสานเสียงคงดอกเบี้ย 1.75%

13 มี.ค. 2562 | 03:38 น.

กูรูชี้! ความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่ม ส่งผลเงินลงทุนต่างชาติชะงัก ประสานเสียง กนง. ห่วงเสถียรภาพ "คงดอกเบี้ย 1.75%" ยํ้า! จีดีพีครึ่งปีแรกไม่มีแรงกระตุ้น เหตุปัจจัยต่างประเทศกดดัน ผสมผลเลือกตั้ง รวมเสียงส่วนใหญ่ยาก หวั่น! รัฐบาลอยู่ไม่ยาว ทำเม็ดเงินไหลเข้าชะลอ

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำลังได้รับแรงกดดันอย่างหนัก ทั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ต่อประเด็นการลงมติดอกเบี้ยนโยบาย ที่หลัง ๆ จะเห็นว่า มติไม่เป็นเอกฉันท์และมีความเห็นที่แตกต่างกันมากขึ้น โดย นายอภิศักดิ์ ระบุว่า กนง. โหวตอะไรออกมามักจะไม่ต้องรับผิดชอบในผลลัพธ์บางอย่าง เช่น กรณี ธปท. ขาดทุนจำนวนมาก บอร์ด ธปท. ต้องรับผิดชอบ แต่ กนง. ไม่ต้องรับผิดชอบ แม้ว่าจะบอกว่าเพื่อทำให้เศรษฐกิจมั่นคงก็ตาม

ขณะเดียวกัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อย่าง นายวีรพงษ์ รามางกูร เองออกมาเขียนบทความเสนอให้กระทรวงการคลังต้องทบทวนแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินควรจะต้องได้รับความเห็นชอบที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การเสนอของรัฐมนตรีคลัง เพื่อถ่วงดุลระหว่างธนาคารกลางกับกระทรวงการคลัง

"ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์สถาบันการเงินเพื่อประเมินท่าที กนง. ในการประชุมครั้งที่ 2 ของปี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 มี.ค. หลังจากการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ด้วยมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์/พี) ไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00% ขณะที่ กรรมการ 1 ท่าน ได้ลาประชุม
 

หวั่น "การเมือง" ฉุด! แบงก์ประสานเสียงคงดอกเบี้ย 1.75%

ทั้งนี้ เสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า กนง. จะ "คงดอกเบี้ยนโยบาย" ที่ระดับ 1.75% ด้วยเหตุผลหลัก ๆ คือ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อตํ่า ภาคส่งออกอาจติดลบ ขณะที่ เศรษฐกิจต่างประเทศไม่แน่นอน และผลเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยากต่อข้อยุติ ขณะเดียวกัน ในประเทศเองยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยการเมืองด้วย โดยเฉพาะโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง การเมืองออกลายแสดงตัวตนหนักขึ้น เสียงแตกเป็นหลายพรรค จากก่อนหน้าที่มีเพียง 2 พรรคใหญ่ สะท้อนเกมจัดตั้งรัฐบาลที่ยากขึ้นในการรวมเสียงส่วนใหญ่ แม้ผลเลือกตั้งออกมา แต่การจัดดตั้งรัฐบาลคงไม่นิ่ง หรือ ไม่มีเสถียรภาพ ส่วนหนึ่งเพราะต้องต่อรองตำแหน่งหรืออำนาจ ปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติชะลอ

นายชยนนท์ รักกาญจนันท์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ช่วงนี้เริ่มเห็นเงินไหลออก ทำให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง แต่เงินบาทที่อ่อนค่าจะช่วยชะลอภาคส่งออกที่อาจจะติดลบในไตรมาส 2-3 ได้ โดยรวมเชื่อว่า กนง. จะ "คงดอกเบี้ย" เพื่อรอประเมินสถานการณ์ ทั้งผลเจรจาของสหรัฐฯ และจีน ถ้ามีข้อยุติจะเป็นอานิสงส์ต่อภาคส่งออกที่ติดลบ หรือ การท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวไม่เร่งนัก ขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้จะชะลอตัวจากปีก่อนที่ระดับ 3.8-4.0% ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจ ที่ค่า P/E ไม่สูงนัก

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ กล่าวว่า กนง. รอประเมินผลภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อเศรษฐกิจ หลังใช้มาตรการอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ปัจจัยต่างประเทศ รวมถึงผลเลือกตั้งและทิศทางเศรษฐกิจไทย หากตัวเลขจีดีพีไม่หลุดไปจากประมาณการของหน่วยงานเศรษฐกิจ ทั้งสภาพัฒน์ ธปท. และ สศค. จากนั้น กนง. จึงจะพิจารณานโยบายการเงิน

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า ด้วยปัจจัยเงินเฟ้อที่ปรับลดลง เศรษฐกิจที่ชะลอทั้งปีอยู่ที่ 3.8% ซึ่งไตรมาส 1 อาจได้แค่ 3.4% ส่วนหนึ่งเพราะฐานสูงปีก่อน แต่ภาคส่งออกยังติดลบและชะลอลง ขณะที่ การนำเข้าโตต่อเนื่อง ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มแคบและบริโภคครัวเรือนชะลอ จากที่ซื้อสินค้าคงทนไปในปีก่อนและเศรษฐกิจภูมิภาคยังไม่ค่อยฟื้น แม้การลงทุนเอกชนจะขยายตัวดี แต่การลงทุนภาครัฐอาจพลาดเป้าในช่วงการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง กนง. ห่วงเสถียรภาพทางการเงิน เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบก่อน แต่ธนาคารยังไม่ส่งผ่านถึงภาคประชาชน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ กนง. ต้องขบคิด

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การปรับดอกเบี้ยนโยบายมีนัยยะต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ถึงกับฉุดเศรษฐกิจ แต่ป้องกันความเสี่ยงเสถียรภาพระยะยาวได้ ซึ่งการปรับขึ้น 0.25% ที่ผ่านมา แม้จะตํ่าแต่ช่วยประคองเศรษฐกิจได้ เพราะถ้าดอกเบี้ยตํ่านานเกินไป อาจเกิดฟองสบู่ที่จะแก้ปัญหายาก ดังนั้น จึงมีโอกาสที่ กนง. ทั้งคงดอกเบี้ยและปรับเพิ่มรอบนี้ แต่จะไม่มีนัยยะถึงกับฉุดเศรษฐกิจ
 

หวั่น "การเมือง" ฉุด! แบงก์ประสานเสียงคงดอกเบี้ย 1.75%

"มองจีดีพีไตรมาส 1 ปีนี้อยู่ที่ 3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ เพิ่มขึ้น 1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยคาดว่า กนง. จะปรับดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2.0% ภายในครึ่งปีแรก ถ้าไม่ถึง 2.0% แสดงว่าเศรษฐกิจอ่อนตัวลง"

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธปท. ไม่มีปัจจัยกดดันให้ต้องตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ปัจจัยหลักจากความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้ง และเร็วเกินไปที่จะเบาใจ ว่า ผลเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะมีข้อสรุปชัดเจน แม้อุปสงค์ในประเทศจะขยายตัวได้ดี และเชื่อว่า ธปท. รอประเมินผลมาตรการ LTV ดังนั้น จีดีพีไตรมาส 1 และ 2 เฉลี่ยที่ 3-3.5%

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ตลาดจะติดตามการสื่อสารจาก กนง. มากกว่าเรื่อง "คงดอกเบี้ย" โดยมองไปข้างหน้าที่สำคัญ คือ ความเสี่ยงจากภัยแล้งจะซํ้าเติมกำลังซื้อฐานราก สถานการณ์เศรษฐกิจนี้ชะลอและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตํ่า ซึ่งนโยบายการเงินจะดูแลระบบเศรษฐกิจระดับกลางและบน หากผลการเลือกตั้งการเมืองมีเสถียรภาพ การดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายและอัดฉีดเงินสู่ระบบ เพื่อดูแลเศรษฐกิจระดับล่าง โดยทั้งปีมองจีดีพีขยายตัวได้ 3.7%


หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,452 วันที่  14 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2562

หวั่น "การเมือง" ฉุด! แบงก์ประสานเสียงคงดอกเบี้ย 1.75%