"สนข.-จุฬาฯ" เห็นตรงกัน! เชื่อมเดินทางไร้รอยต่อ

12 มี.ค. 2562 | 11:23 น.

"สนข.-จุฬาฯ" เห็นตรงกัน! เชื่อมเดินทางไร้รอยต่อ

รัฐ-วิชาการเห็นตรงกัน เร่งสร้างการเดินทางไร้รอยต่อ หลากหลายรูปแบบ พร้อมดัน "สถานีกลางบางซื่อ" เป็นแกนเชื่อมโยงการเดินทางทั่วภูมิภาคด้วยระบบราง ทั้งรถไฟฟ้า-ทางคู่-ไฮสปีด

จากปัญหาจราจรแออัด ระบบขนส่งมวลชนรัฐรองรับไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดระบบขนส่งใหม่ ๆ อาทิ จักรยานยนต์รับจ้าง รถตู้โดยสารสาธารณะ ฯลฯ แต่กลับไม่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริงของประชาชน ที่อยากมีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก ตรงเวลา ปลอดภัย และราคาสมเหตุสมผล จนกลายเป็นโจทย์สำคัญของภาครัฐ กำหนดภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

"สนข.-จุฬาฯ" เห็นตรงกัน! เชื่อมเดินทางไร้รอยต่อ
⇲ ชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)


นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "เชื่อมราง เชื่อมรถ เชื่อมคน ลดเหลื่อมล้ำ เข้าถึงคมนาคมไร้รอยต่อ" ในงานสัมมนา "พลิกโฉมไทย เปิดประตูสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม" ที่จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า จากโจทย์สำคัญของภาครัฐ กำหนดภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการเดินทางของประชาชน มี 3 ส่วน ดังนี้ 1.หยุดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ผ่านรถไฟฟ้ากว่า 10 สาย, 2.การเดินทางระหว่างเมือง ผ่านรถไฟรางคู่ และ 3.เชื่อมต่อภูมิภาค ผ่านรถไฟความเร็วสูง ปัจจุบัน มีรถไฟฟ้าเปิดใช้บริการรวมแล้ว 4 สาย 120 กิโลเมตร สายสีเขียว (หมอชิต-แบริ่ง คนใช้บริการ 7 แสนคน), สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางซื่อ คนใช้บริการ 4 แสนคน), สายสีม่วง (บางซื่อ-เตาปูน) และแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ปัจจุบัน มีคนใช้บริการมากกว่า 7.5 หมื่นคน ซึ่งอยู่ระหว่างแก้ปัญหา เพื่อให้ขบวนรถเพียงพอกับความต้องการ ขณะเดียวกัน ในอนาคตจะมีการทยอยเปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

"จะทยอยเปิดเส้นทางใหม่ ประชาชนออกจากบ้านทุก ๆ 1 กิโลเมตร ต้องเจอสถานีรถไฟฟ้า รัฐกำลังเดินหน้าก่อสร้างอีก 173 กม. หลายเส้นทางเปิดให้บริการช่วงปีนี้และปีหน้า"

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีระบบขนส่งหลายเส้นทางเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีศูนย์กลางการเชื่อมต่อ จึงก่อให้เกิด "โครงการสถานีกลางบางซื่อ" ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดปลายปี 2563 จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะประกอบไปด้วย อาคาร 3 ชั้น รวม 24 ชานชาลา รองรับการวิ่งเข้ามาของรถไฟฟ้าในเมือง รถไฟเชื่อมระหว่างเมือง และรถไฟฟ้าความเร็วสูง

"สนข.-จุฬาฯ" เห็นตรงกัน! เชื่อมเดินทางไร้รอยต่อ

"โดยจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทุกระบบขนส่ง ทั้งรถไฟฟ้า กระจายไปในเส้นทางต่าง ๆ ของเมือง และจุดตัดรถไฟฟ้าระหว่างเมือง รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูงด้วย ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ แต่ละสถานีใหญ่ ๆ รองรับการใช้ประโยชน์และไลฟ์สไตล์ของประชาชน ทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่สำคัญได้เพิ่มอาคารจอดแล้วจร 11 จุด เส้นทางสกายวอล์ก และไบค์เลน การจัดสรร ปรับเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์ให้วิ่งเข้าสู่ศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง รวมถึงอำนวยความสะดวกให้เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ หวังลดเหลื่อมล้ำ และภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องไม่เห็นการขับรถมากองกันอยู่บนถนน โดยประชาชนจะใช้ระบบขนส่งเป็นหลัก ออกจากบ้านขับรถมาจอดในอาคารจอดรถ ก่อนแยกกันไปคนละเส้นทาง" นายชยธรรม์ กล่าว

สนข. ย้ำ! เดินหน้าเพิ่มขนส่งทางราง เพิ่มอาคารจอดแล้วจร


⁍ จุฬาฯ ชู "Smart Mobility"

"สนข.-จุฬาฯ" เห็นตรงกัน! เชื่อมเดินทางไร้รอยต่อ
⇲ รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


สอดคล้องกับ รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนว่า ควรปรับปรุงรถเมล์และระบบขนส่งมวลชนให้น่าใช้ นั่นคือ Smart Public Transportation for All : นวัตกรรมขนส่งมวลชนอัจฉริยะ ให้ "สะดวก รวดเร็ว ประหยัด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" โดยมองว่า การสร้างถนนเพิ่มไม่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ดูจากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นมิติที่ดี ที่ภาครัฐและภาควิชาการมองโจทย์คล้ายกัน สิ่งที่ต้องทำ คือ การสร้างการเดินทางที่ชาญฉลาด หรือ "Smart Mobility" เป็นการเดินทางไร้รอยต่อ เชื่อมต่อกันหลายรูปแบบ

ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีรถไฟฟ้า 11 สาย รวม 452 กม. ในพื้นที่ กทม. ขณะระบบขนส่งมวลชนเป็นเส้นเลือดใหญ่ ทางออกต้องสร้างระบบป้อน (Feeder) ให้สอดคล้อง

"สนข.-จุฬาฯ" เห็นตรงกัน! เชื่อมเดินทางไร้รอยต่อ

อย่างไรก็ตาม ปัญหารถติดจะไม่สามารถแก้ไขได้ หากยังให้ความสำคัญกับรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งการแก้ปัญหาควรกำหนดเส้นทางเดินรถ จากความต้องการของประชาชน ว่า ต้องการเดินทางจากไหนไปไหน บวกกับแผนพัฒนาเส้นเลือดใหญ่ คือ รถไฟฟ้า

ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ ที่แบ่งรถเมล์เป็นสีต่าง ๆ เช่น สีฟ้า วิ่งเข้าเมือง, สีเขียว คือ สายป้อน, สีแดง คือ ทางด่วน ส่วนสีเหลืองวิ่งเป็นวงกลม ผ่านพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ พร้อมทั้งจัดทำบัสเลน ทำให้รถเมล์สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้ครอบคลุมและสะดวกรวดเร็ว ส่วนการนำระบบจีพีเอสมาใช้ หากนำมาใช้ให้ถูกต้องจะสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่า อีกกี่นาทีรถเมล์จะมาถึง ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการรอคอย ซึ่งขณะนี้ ในกรุงเทพฯ เริ่มมีใช้แล้วบางส่วน ขณะระบบบัตรโดยสารร่วม ระบบขนส่งทางเลือก อาทิ แกร็บ อูเบอร์ ฯลฯ ควรแก้ไขให้ถูกกฎหมาย

นักวิชาการจุฬาฯ แนะ 5 โจทย์ พัฒนา 'นวัตกรรมขนส่ง'