'อังกฤษ' ดันข้อตกลงฉบับใหม่ ลุ้น "เบร็กซิท" ฉลุยทันกำหนด 29 มี.ค.

12 มี.ค. 2562 | 06:42 น.

... ความคาดหวังเป็นไปในทิศทางที่เชื่อว่า รัฐสภาอังกฤษจะลงคะแนน "รับรอง" ข้อตกลงฉบับปรับปรุงใหม่ ที่ นางเทเรซา เมย์ นำเสนอในการลงมติครั้งที่ 2 วันที่ 12 มี.ค. นี้ (ซึ่งจะเป็นช่วงคืนวันที่ 12 หรือ เช้าตรู่วันที่ 13 มี.ค. เวลาไทย) สะท้อนจากค่าเงินปอนด์ที่ขยับแข็งขึ้น 0.6% สู่ระดับ 1.3223 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมอยู่ในระดับ 1.2945 ดอลลาร์สหรัฐฯ (เมื่อต้นสัปดาห์) ซึ่งเป็นการขยับแข็งค่าขึ้นเหมือนเมื่อครั้งที่รัฐสภายุโรปลงมติให้การรับรองข้อตกลงเบร็กซิทฉบับแรกของนางเมย์ เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
 

นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานกรรมาธิการยุโรป

การได้เห็น นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานกรรมาธิการยุโรป (European Commission) มีแถลงการณ์ร่วมกันที่เมืองสตราสบูร์ก เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ดี โดยฝ่ายอียูได้ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงในข้อตกลงฉบับแรกที่ นางเทเรซา เมย์ นำเสนอ โดยมีความหวังว่า ข้อตกลงฉบับปรับปรุงใหม่จะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เขาย้ำชัดว่า หากรัฐสภาอังกฤษยังไม่ผ่านข้อตกลงฉบับใหม่นี้อีก ก็อย่าหวังว่าอังกฤษจะได้รับโอกาสเป็นครั้งที่ 3

ในแถลงการณ์ นางเมย์ได้ระบุถึงเอกสาร 2 ฉบับ ซึ่งจะมีผลเป็นพันธะผูกพันทางกฎหมาย โดยฉบับแรกเกี่ยวเนื่องกับประเด็น Irish Backstop ซึ่งเป็นแผนบริหารจัดการบริเวณชายแดนไอร์แลนด์เหนือ ที่เป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ กับชายแดนประเทศไอร์แลนด์ ที่เป็นสมาชิกของอียู ประเด็นดังกล่าวมีความละเอียดอ่อน ทั้งในแง่การตรวจลงตราคนเข้าเมือง การรักษาความปลอดภัย กระบวนการกักตรวจสินค้าบริเวณชายแดน และพิธีการทางภาษีศุลกากร ข้อตกลงว่าด้วย Irish Backstop นั้น ต้องการสร้างความมั่นใจว่า จะไม่มีการตั้งด่านชายแดนที่เข้มงวด จนกระทั่งสร้างความตึงเครียดตามแนวชายแดนมากจนเกินไป แต่หลายคนก็วิจารณ์ว่า มาตรการนี้จะทำให้อังกฤษตัดไม่ขาดจากอียูและจะถูกผูกมัดเอาไว้ไร้จุดสิ้นสุด แม้อียูจะระบุว่า นี่เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น เอกสารฉบับที่ 2 เป็นแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยอนาคตความสัมพันธ์ของอียูกับอังกฤษหลังกระบวนการเบร็กซิท ซึ่งระบุถึงการเปิดโอกาสให้มีทางเลือกอื่น ๆ มาใช้แทนมาตรการ Irish Backstop ในเดือน ธ.ค. 2020

ในส่วนของรัฐสภาอังกฤษที่จะลงมติ "รับ/ไม่รับ" ข้อตกลงฉบับปรับปรุงใหม่ของ นางเทเรซา เมย์ ในวันที่ 12 มี.ค. นี้ (หลังจากมีมติ "ไม่รับ" ข้อตกลงฉบับแรกเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา) หากผลออกมาว่า รัฐสภาให้การ "รับรอง" ข้อตกลงดังกล่าว อังกฤษก็จะได้ออกจากอียูในวันที่ 29 มี.ค. นี้ ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงที่มีขั้นตอน เพื่อให้กระบวนการหลังถอดถอนการเป็นสมาชิกเป็นไปโดยราบรื่นและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องของการเคลื่อนย้ายคน เคลื่อนย้ายทุน รวมทั้งกฎระเบียบการค้า ที่ส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก ไปจนถึงเดือน ธ.ค. 2020 (พ.ศ. 2563) นั่นหมายถึง อังกฤษจะมีเวลา 1 ปีกว่า ๆ ในการปรับตัวและหารือข้อรายละเอียดเพิ่มเติมกับอียู

แต่หากรัฐสภาอังกฤษลงมติ "ไม่รับ" ข้อตกลงดังกล่าว นั่นก็หมายความว่า อังกฤษอาจจะต้องออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลง ซึ่งสภาอังกฤษจะลงมติในวันที่ 13 มี.ค. นี้ ว่า จะออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงหรือไม่ ถ้าลงมติว่าออกโดยไม่มีข้อตกลง ก็ต้องออกในวันที่ 29 มี.ค. ตามกำหนด แต่หากรัฐสภาไม่ต้องการให้อังกฤษออกจากอียูอย่างไร้ข้อตกลง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมาก (Hard Brexit) ก็มีอีกทางเลือกหนึ่ง คือ อังกฤษอาจขอเจรจากับอียูเพื่อยืดกำหนดการออกจากอียูเป็นหลังวันที่ 29  มี.ค. ซึ่งกระบวนการนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ของอียูด้วย และรัฐสภาอังกฤษเองก็ต้องลงมติ (คาดว่าจะเป็นวันที่ 14 มี.ค. นี้) ด้วยว่า ต้องการขอเจรจายืดกำหนดการออกจากอียูอย่างเป็นทางการ จึงจะเริ่มกระบวนการดังกล่าวนี้ได้    

'อังกฤษ' ดันข้อตกลงฉบับใหม่ ลุ้น "เบร็กซิท" ฉลุยทันกำหนด 29 มี.ค.