"ไก่ไทย" ลุ้นยอด 1.1 แสนล้าน ฝ่าด่าน "เบร็กซิท-คู่แข่งค่าเงินผันผวน"

15 มี.ค. 2562 | 00:10 น.

ไก่ไทยลุ้นฝ่าปัจจัยเสี่ยงเบร็กซิท ค่าเงินผันผวน เล็งเป้าปี 2562 ส่งออกโต 1.1 แสนล้าน ได้อานิสงส์จีนนำเข้าเพิ่มแทนไก่บราซิล ... เกาหลี-ญี่ปุ่นยกนิ้วนำเข้าต่อเนื่อง ผู้ส่งออก-ผู้นำเข้าหวังอังกฤษออกจากอียูยังให้โควตาภาษีเท่าเดิม ช่วยรักษาขีดแข่งขัน

ปี 2561 สินค้าไก่ของไทยเป็นหนึ่งในสินค้าที่ทำรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยส่งออกได้ปริมาณ 8.92 แสนตัน มูลค่า 1.09 แสนล้านบาท โดยด้านปริมาณมีญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกหลัก สัดส่วน 49.7% และด้านมูลค่า สัดส่วน 55.04% รองลงมา คือ ตลาดสหภาพยุโรป (28 ประเทศ) ด้านปริมาณ คิดเป็นสัดส่วน 36.7% และด้านมูลค่า สัดส่วน 33.9% ที่เหลือเป็นตลาดอื่น ๆ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ตะวันออกกลาง เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก ทั้งค่าเงินบาทของไทยและค่าเงินของประเทศคู่ค้าผันผวน ความเข้มงวดความปลอดภัยด้านอาหารของคู่ค้า การแข่งขันสูง กับสินค้าไก่จากบราซิล สหรัฐฯ รวมถึงคู่แข่งจากในสหภาพยุโรป (อียู) แต่สินค้าไก่ของไทยในปีที่ผ่านมายังส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากปี 2560 และปี 2562 ยังมั่นใจจะยังขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากปี 2561

"ไก่ไทย" ลุ้นยอด 1.1 แสนล้าน ฝ่าด่าน "เบร็กซิท-คู่แข่งค่าเงินผันผวน"

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในปี 2562 ทางสมาคม ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไก่รายใหญ่ของประเทศ คาดจะสามารถส่งออกได้ที่ 9 แสนตัน มูลค่า 1.10 แสนล้านบาท หรือ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8% และ 0.9% ตามลำดับ โดยในส่วนของปัจจัยบวก ได้แก่ ตลาดเกาหลีใต้ยังมีการนำเข้าต่อเนื่อง โดยในปี 2561 เกาหลีนำเข้าจากไทย 3 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่นำเข้า 2.4 หมื่นตัน หรือ เพิ่มขึ้น 6,000 ตัน, ตลาดจีน ที่ในปีที่ผ่านมาได้ประกาศรับรองโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อไก่ของไทย 7 โรงงาน (CPF 2 โรง, F&F Food 1 โรง, GFPT 1 โรง, สหฟาร์ม 1 โรง, Goldenline 1 โรง และ Thai Foods Group 1 โรง) ทำให้สามารถส่งออกเนื้อไก่ไปสู่ผู้บริโภคชาวจีนได้เป็นครั้งแรก ซึ่งในปีนี้ จีนจะมาตรวจรับรองโรงงานไก่ไทยอีก (ไทยมีโรงงานผลิตและแปรรูปไก่ 27 โรงงาน) จะช่วยเพิ่มยอดส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น

"ที่ผ่านมา จีนแบนสินค้าไก่จากสหรัฐฯ จากปัญหาไข้หวัดนก และจีนยังใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าไก่จากบราซิลที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไก่และเกษตรกรในประเทศ ส่วนอียูแบน 20 โรงงานไก่ของบราซิล จากมีเชื้อโรคปนเปื้อน ขณะที่ เกาหลีที่เคยนำเข้าสินค้าไก่จากไทยก่อนเกิดไข้หวัดนกในปี 2547 ปริมาณต่อปีถึง 4 หมื่นตัน เวลานี้ก็กลับมานำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกไก่ไทยในปีนี้"

ส่วนปัจจัยลบที่ต้องจับตามอง คือ การถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือ เบร็กซิท ที่อียู 27 ประเทศ และอังกฤษ อยู่ระหว่างเจรจาจัดสรรโควตาภาษีให้สินค้าไก่จากทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งไทยใหม่ (ที่ผ่านมา ไทยได้รับโควตาภาษีนำเข้าสินค้าไก่ในอัตราตํ่า หรือเป็น 0% จากอียู ปริมาณ 2.7 แสนตัน โดยมีตลาดอังกฤษเป็นตลาดใหญ่สุด) ซึ่งต้องติดตามว่า เมื่อรวมกันแล้ว ทั้ง 2 ฝ่าย จะยังให้โควตาไทยในปริมาณเท่าเดิมหรือลดลงหรือไม่ และอีกปัจจัย คือ ไก่จากบราซิลจะกลับมาส่งออกไปยังจีนและอียูได้เพิ่มขึ้นหรือไม่

นางฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกสินค้าไก่รายใหญ่ มีตลาดหลักที่อังกฤษ กล่าวว่า ขณะนี้ ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าได้จับตาใกล้ชิด ว่า อียูและอังกฤษจะแบ่งโควตาภาษีใหม่ให้สินค้าไก่ของไทยอย่างไร เพราะจะมีผลต่อการนำเข้าในอนาคต ขณะที่ เงินบาทที่แข็งค่าและยังผันผวน รวมถึงค่าเงินของผู้นำเข้า เช่น ค่าเงินปอนด์ ยูโร ที่ยังผันผวน ขึ้น ๆ ลง ๆ ล้วนมีผลต่อกำไร-ขาดทุนของผู้ประกอบการ ทำให้มีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินกันเพิ่มขึ้น


หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 39 ฉบับ 3,452 วันที่ 14-16 มีนาคม 2562

"ไก่ไทย" ลุ้นยอด 1.1 แสนล้าน ฝ่าด่าน "เบร็กซิท-คู่แข่งค่าเงินผันผวน"