ช่องว่างของข้อมูล รูปแบบความเชื่อมโยงการค้า และการลงทุนของบริษัทไทย (1)

12 มี.ค. 2562 | 23:30 น.

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รูปแบบการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศของโลกนั้น มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูงมากขึ้น เห็นได้จากบทบาทของประเทศต่างๆ ในเวทีโลกที่เปลี่ยนไป เช่น บทบาทของประเทศมหาอำนาจการค้าเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น  ลดลง

ในขณะที่ประเทศจีน ซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกการค้าโลกเพียงไม่นาน (เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมหาอำนาจอื่น) กลับมีบทบาททางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การย้ายเข้ามาลงทุนในประเทศจีนของบริษัท Tesla หรือผู้ผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งจากบริษัทของสหรัฐ อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน

การเปลี่ยนแปลงนี้ยังรวมถึงการที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากันเอง เช่น ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนระหว่างประเทศจากประเทศในกลุ่มที่เพิ่มสูงมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อรูปแบบการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศของประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งการทำความเข้าใจและอธิบายผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลระดับบริษัทที่มีรายละเอียดในหลายๆ มิติที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกันยิ่งขึ้น

ทั้งนี้จากการสำรวจสถิติข้อมูลการค้าและการลงทุนของหน่วยงานไทยในปัจจุบัน (แถวที่ 1-3) เราพบว่าข้อมูลส่วนใหญ่นั้นค่อนข้างกระจัดกระจาย และถูกดำเนินการจัดเก็บแยกออกจากกัน เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ถูกจัดเก็บโดยหน่วยงานต่างชาติที่มีการจัดเก็บข้อมูลที่คล้ายคลึงกัน (รูปที่ 1)


ช่องว่างของข้อมูล  รูปแบบความเชื่อมโยงการค้า และการลงทุนของบริษัทไทย (1)

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มตัวอย่างที่ถูกสำรวจนั้นเป็นคนละกลุ่ม เนื่องจากแต่ละหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลเฉพาะส่วนที่ตนเองต้องการเท่านั้น เช่น กระทรวงพาณิชย์ อาจเน้นเรื่องการนำเข้าและส่งออกเป็นหลัก กระทรวงอุตสาหกรรมเน้นที่ ขนาดโรงงานและกำลังการผลิต กระทรวงแรงงาน เน้นไปที่แรง งานในระดับต่างๆ เป็นต้น ซึ่งก็ทำให้ข้อมูลสถิตินั้นไม่สามารถนำมาประกอบรวมกันเพื่อให้สะท้อนรูปแบบการค้าและการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปในมิติที่ลึกซึ้งมากขึ้นของบริษัทไทยได้อย่างชัดเจน

ในการศึกษาของผมที่ได้ทำให้กับสำนักงานกองทุนสนับ สนุนการวิจัย หรือ สกว. เราได้สังเคราะห์แบบสอบถามต้นแบบ โดยอาศัยทฤษฎีการค้าใหม่ แบบใหม่ (New New Trade Theory) ซึ่งสามารถอธิบายพฤติกรรมและรูปแบบการค้าระหว่างประเทศ ร่วมถึงรูปแบบการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงได้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น

ช่องว่างของข้อมูล  รูปแบบความเชื่อมโยงการค้า และการลงทุนของบริษัทไทย (1)

นอกจากนั้นเรายังคำนึงถึงรูปแบบการบริหารจัดการการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลที่เกิดจากการตอบสนองต่อการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถอธิบายผ่านทฤษฎีการแบ่งแยกกระบวนการผลิต (Fragmentation) และห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains) ที่แต่ละบริษัทมีการกระจายและแบ่งแยกการผลิตแต่ละส่วนไปยังฐานการผลิตในที่ต่างๆ แล้วค่อยนำมาประกอบรวมกัน ก่อนที่จะส่งออกจากประเทศที่ 3เพื่อนำไปขายในประเทศอื่นๆ

ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการค้าหรือการลงทุนเดิมที่ถูกพิจารณาเฉพาะเพียงเรื่องข้อได้เปรียบจากสถานที่ตั้งเพียงอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อน ที่เน้นเข้ามาเพื่อใช้แรงงานราคาถูกในการผลิตและส่งออก แต่อาจจะเกิดจากการพิจารณาการเป็นเครือข่ายการผลิตในระดับโลก

ทั้งนี้รูปแบบของการแบ่งแยกการผลิตและห่วงโซ่คุณค่าสามารถสรุปเป็นรูปแบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานได้ดังนี้ (รูปที่ 2)

ช่องว่างของข้อมูล  รูปแบบความเชื่อมโยงการค้า และการลงทุนของบริษัทไทย (1)

โดยหากมูลค่าของกระ บวนการหรือขั้นตอนการผลิตสูง บริษัทจะพยายามดึงกระบวนการผลิตนั้นเก็บไว้จัดการเอง ในขณะที่หากกระบวนการผลิตนั้นมี มูลค่าน้อย บริษัทอาจจะเลือกแยกและกระจายกระบวนการผลิตออกไป ซึ่งอาจจะผ่านการจัดจ้างภายนอก หรือ outsource ซึ่งพบเห็นได้มากขึ้นในปัจจุบัน

ในการศึกษาของผมที่อ้างอิงถึง ผมได้ลองนำข้อมูลจริงของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 137 บริษัท ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ AGRO, CONSUMP, INDUS, RESOURCE และ TECH มาเติมลงในแบบ สอบถามที่เราได้สังเคราะห์ขึ้น ทั้งนี้ผมจะขอนำเอาผลการศึกษาที่ได้มาเล่าต่อในตอนที่ 2 ครับ 

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย  ผศ.ดร.ภาณุทัต สัชฌะไชย  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3452 ระหว่างวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2562

ช่องว่างของข้อมูล  รูปแบบความเชื่อมโยงการค้า และการลงทุนของบริษัทไทย (1)