ผ่างบ ปชป. 4 แสนล้าน หนุนนโยบายหาเสียง 5 ด้าน

13 มี.ค. 2562 | 04:05 น.

"นโยบายขายฝัน" ที่ทำกันจนเป็นเรื่องปกติวิสัยของพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อหวังโน้มน้าวใจประชาชนเพื่อเทคะแนนเสียงให้กับพรรคของตน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบและภาระหนี้สินที่จะตามมา รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงกำหนดกฎเหล็กให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะเข้าบริหารประเทศ ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่

โดยนโยบายของ ครม. ในการบริหารประเทศต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายต่อรัฐสภา

ขณะที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 57 ระบุว่า การประกาศโฆษณานโยบายนั้นอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ 1) วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
 

ผ่างบ ปชป. 4 แสนล้าน หนุนนโยบายหาเสียง 5 ด้าน

⁍ 5 นโยบาย งบ 4 แสนล้าน

"ฐานเศรษฐกิจ" เข้าไปตรวจสอบเว็บไซต์ของหลายพรรคการเมือง เบื้องต้นพบว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้จัดทำรายละเอียดนโยบายพรรคที่ใช้ในการประกาศโฆษณาดังกล่าว ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ www.democrat.or.th รวมงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินนโยบายของพรรค 13 เรื่อง ใน 5 ด้าน เป็นเงินปีละเกือบ 4 แสนล้านบาท โดยระบุถึงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะใช้ดำเนินโครงการตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ว่า มาจาก 6 แหล่งด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย

1.ปรับลดงบประมาณบางรายการ เช่น งบกลาง รายการสำรองจ่ายฉุกเฉิน สำนักนายกรัฐมนตรี การลดงบประมาณโครงการเดิมที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน เป็นต้น

2.ภาษีใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง, 3.เงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ, 4.การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี, 5.รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และ 6.เงินร่วมทุนจากเอกชนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ

ทั้งยังได้แจกแจงรายละเอียดของนโยบายหาเสียงของพรรคที่ใช้ในการประกาศโฆษณา ซึ่งแบ่งออกเป็น 13 เรื่อง 5 ด้าน ดังนี้

1.นโยบายด้านสวัสดิการ 148,928 ล้านบาท, 2.ด้านการเกษตรคุณภาพ จำนวน 130,000 ล้านบาท, 3.นโยบายด้านการศึกษา จำนวน 62,348 ล้านบาท, 4.นโยบายด้านแรงงาน จำนวน 50,000 ล้านบาท และ 5.นโยบายด้านสาธารณสุข จำนวน 739 ล้านบาท รวมใช้งบประมาณทั้งหมด 392,015 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ดี จากนโยบายที่วางไว้ พรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่า มีผลกระทบและความเสี่ยงรวมอยู่ด้วย ดังเช่น นโยบายให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 8 ขวบ เดือนละ 1,000 บาท (เดือนแรกได้รับ 5,000 บาท) แต่เมื่อโครงการดำเนินไปได้ครบ 8 ปี รัฐบาลจะต้องใช้เงินเพิ่มเป็นประมาณ 59,000 ล้านบาทต่อปี

ในขณะที่ การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคนละ 1,000 บาท ในทุกห้วงอายุ จากเดิมซึ่งได้รับตามห้วงอายุแบบขั้นบันไดนั้น ประเมินว่า จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นปีละ 4.8% หรือประมาณปีละ 396,600 คน ต้องใช้งบประมาณเพิ่มประมาณปีละ 4,700 ล้านบาท
 

ผ่างบ ปชป. 4 แสนล้าน หนุนนโยบายหาเสียง 5 ด้าน


⁍ เดินหน้าประกันรายได้

น่าสนใจว่า นโยบายหลาย ๆ เรื่องมีผลกระทบ มีความเสี่ยงตามมา เช่น เรื่องของการประกันรายได้พืชผลเกษตรกร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายเด่นของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อได้ดูข้อมูลพบว่า การประกันรายได้พืชผลเกษตรนั้น มีจุดประสงค์เพื่อจะทำให้เกษตรกรที่มีอาชีพสวนยางพารา ปาล์มนํ้ามัน ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง มีหลักประกันในอาชีพเกษตรกรรมและมีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งคาดว่า แต่ละปีรัฐบาลต้องใช้งบประมาณส่วนนี้อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท แต่ถ้าพืชเกษตรตามโครงการประกันรายได้มีราคาตกตํ่าที่สุดพร้อมกันในรอบปีนั้น รัฐบาลเสี่ยงที่จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 350,000 ล้านบาทต่อปีทีเดียว

แม้จะมีความเสี่ยง แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า หากมีโอกาสเป็นรัฐบาลก็จะเดินหน้าประกันรายได้เกษตรกรต่อไป ทั้งยังจะขยายผลไปยังกลุ่มผู้ใช้แรงงานด้วย

ส่วนเรื่องการประกันรายได้แรงงานขั้นตํ่านั้น 'ประชาธิปัตย์' ระบุว่า เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 2.66 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน ให้ได้รับค่าจ้างขั้นตํ่าต่อวันทำงานเพิ่มขึ้น โดยไม่ทำให้รายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังไม่เป็นภาระเพิ่มขึ้นของนายจ้างและผู้ประกอบการ แต่ก็ประเมินความเสี่ยงเอาไว้ว่า รัฐบาลอาจต้องรับมือกับการรับภาระมากขึ้น หากแรงงานไหลเข้าสู่ระบบมากขึ้น

เรื่องนี้ 'กรณ์' เคยพูดถึงแนวทางเรื่องของการขึ้นค่าแรงของพรรคเอาไว้เช่นกัน ว่า ถ้าค่าแรงขั้นตํ่าซึ่งอยู่ที่ 320 บาท ตํ่าเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ต้องบอกว่า ตํ่ามาก แต่ถ้าจะผลักค่าแรงขั้นตํ่าให้อยู่ที่ 400 บาท ผู้ประกอบการก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง เศรษฐกิจก็อาจจะชะงักงัน เกิดการว่างงานจากการเลิกจ้าง เกิดผลกระทบกับทั้ง 2 ฝ่าย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องมาเติมรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงาน แบ่งภาระนี้มาจากผู้ประกอบการ โดยใช้เงินภาษี ผมไม่ได้บอกว่าจะขึ้นให้ 400 บาท แต่รัฐจะอุดหนุนเพิ่มในส่วนของผู้ประกอบการ ถามว่า ทำไมต้องใช้เงินภาษี ก็ต้องบอกว่า นั่นคือ หน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องใช้เงินภาษี ไม่งั้นจะเก็บมาทำไม
 

ผ่างบ ปชป. 4 แสนล้าน หนุนนโยบายหาเสียง 5 ด้าน

ปัจจุบัน มีคนไทยที่เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลประมาณ 11 ล้านคน ที่ต้องเสียเพิ่มในแต่ละปีอยู่ประมาณ 4 ล้านคน นอกนั้นเป็นภาษีกำไรจากบริษัท เพราะฉะนั้น คนไทยทุกคนเสียภาษี เงินจึงเป็นเงินของคนไทยทุกคน หน้าที่ของรัฐบาลเมื่อรวบรวมมาแล้วก็ต้องจัดสรรตามความเหมาะสม ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน นั่นคือ หน้าที่ ดังนั้น เมื่อเก็บภาษีมา แล้วคืนกลับไปให้กับผู้ที่เสียภาษีมากที่สุด ถ้าไม่ได้ปฏิบัติตาม แสดงว่า ไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นรัฐบาล นี่คือ สิ่งที่ต้องเคลียร์ให้ชัดเจน

สุดท้ายแล้วนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกนำไปสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมหรือไม่นั้น ต้องรอลุ้นหลังวันที่ 24 มี.ค. นี้ว่า ประชาธิปัตย์จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ...


| รายงาน โดยทีมข่าวการเมือง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3452 ระหว่างวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2562

ผ่างบ ปชป. 4 แสนล้าน หนุนนโยบายหาเสียง 5 ด้าน