รฟม. ตั้งเป้าผู้โดยสารแตะ 7 แสน หลังเปิด "สายสีน้ำเงิน" ครบทั้งเส้นทาง

11 มี.ค. 2562 | 14:14 น.

'ไพรินทร์' ขันน๊อต รฟม. เร่งก่อสร้างและเปิดบริการรถไฟฟ้า 13 สาย เผย สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเริ่มทดสอบเดินรถ เม.ย. นี้ ส่วน ก.ค. เปิดให้ขึ้นฟรี ก่อนจัดเก็บค่าโดยสาร ก.ย. 62 ยัน! เมื่อเปิดครบทั้งเส้นทาง คาดผู้โดยสารแตะ 7 แสนคน พร้อมเร่งเชื่อมโยงระบบตั๋วร่วมแมงมุม 4.0 ต้นปีหน้า

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจราชการและติดตามการดำเนินงานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า ได้มาติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าที่ รฟม. รับผิดชอบทั้ง 13 สาย โดยสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะเริ่มทดลองด้วยการทดสอบเดินรถตั้งแต่เดือน เม.ย. นี้ และในเดือน ก.ค.ให้ทดลองใช้บริการฟรี ในช่วงหัวลำโพง-หลักสอง จากนั้นในเดือน ก.ย. จะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร ส่วนช่วงเตาปูน-บางซื่อ จะเริ่มในเดือน มี.ค. 2563
 

รฟม. ตั้งเป้าผู้โดยสารแตะ 7 แสน หลังเปิด "สายสีน้ำเงิน" ครบทั้งเส้นทาง

"เมื่อเปิดรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบทั้งเส้นทางจะเหมือนกับรถไฟสายยามาโนเตะของญี่ปุ่น โดยเดือน ก.ค. ประชาชนสามารถใช้บริการฟรี แล้วจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร เช่นเดียวกับที่จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงในช่วงแรก ๆ เพื่อให้ระยะเบรกและตำแหน่งจอดให้ตรงกับที่กำหนดไว้กับแพลตฟอร์มสกรีนดอว์ ปิด-เปิด ให้ผู้โดยสารเข้า-ออกรถ เพื่อทดสอบน้ำหนักเบรกให้สอดคล้องกับการควบคุมการเดินรถ"

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจัดเป็นเส้นทางที่สำคัญมาก เทียบกับญี่ปุ่น คือ เส้นทางยามาโนเตะ วิ่งสวนทางกันตลอดวัน ส่งผลให้ทุกสถานีในกรอบโครงข่ายมีความสำคัญทั้งหมด ดังนั้น มี.ค. 2563 จะเห็นภาพได้ชัดของการเชื่อมโยงที่สถานีเตาปูน จุดสุขุมวิทหรือสยามจะมีความคึกคักมากขึ้น ผู้โดยสารสายสีม่วงจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อเปิดครบทั้งเส้นทางผู้โดยสารน่าจะแตะระดับ 1 ล้านคน ได้ในระยะเวลาไม่นาน

ดังนั้น ในเขตชั้นในเมืองกรุงเทพฯ จึงจะได้เห็นภาพการเปิดให้บริการรถไฟและรถไฟฟ้าเชื่อมโยงกันทั้งสายสีเขียว สายสีแดง สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง ได้หลายเส้นทางมากขึ้น เกิดจุดเชื่อมโยงหลายจุดมากขึ้น
 

"ในจุดพื้นที่ใจกลางเมืองจะเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น โดยมีรถเมล์เป็นฟีดเดอร์ป้อนผู้โดยสารให้รถไฟฟ้า ต่อไปนี้ รถเมล์จะมีให้บริการในเส้นทางสั้น ๆ มากกว่าจะวิ่งเส้นทางยาว ยกตัวอย่าง สายรถเมล์สาย 8 ในเส้นทางลาดพร้าว จะป้อนสู่สายสีเหลืองและจะป้อนสู่สายสีน้ำเงินมากขึ้น เนื่องจากสายสีน้ำเงินจะเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักของใจกลางกรุงเทพฯ"

ด้าน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ส่วนการคาดการณ์ผู้โดยสารนั้น จากหัวลำโพง-สถานีหลักสอง ปัจจุบัน พบว่า ช่วงหัวลำโพง-เตาปูน มีผู้โดยสารช่วงวันทำงานราว 3 แสนคน จะเพิ่มมาเป็น 4 แสนคน โดยจะมีผู้โดยสารช่วงจากหลักสองป้อนเพิ่มเข้ามาในระบบอีกราว 2 แสนคน ดังนั้น ผู้โดยสารน่าจะเพิ่มสูงถึง 6 แสนคน ซึ่งเป็นเฉพาะส่วนต่อขยายทางด้านใต้ที่โครงข่ายจะครบในเดือน มี.ค. 2563 คาดว่า ผู้โดยสารน่าจะเพิ่มสูงถึง 7 แสนคน โดยยังไม่นับรวมสำหรับการเชื่อมกับรถไฟสายสีแดง

โดยผู้โดยสารสายสีม่วงคงจะเพิ่มสู่ระดับหลักแสนคน ผู้โดยสารฝั่งนนทบุรีจะเดินทางสู่ฝั่งธนบุรีได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยยังจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราเดิมเริ่มต้นที่ 16-42 บาท มีจำนวนสถานีเพิ่มเข้ามาอีก 19 สถานี อีกทั้งสายสีน้ำเงินยังมีแผนต่อขยายจากสถานีหลักสองถึงสถานีพุทธมณฑลสาย 4 ซึ่งจะขอดูผลของการเปิดเดินรถสายสีน้ำเงินให้ชัดเจนก่อน หากมีผู้โดยสารเพิ่มถึง 8 แสนคน และมีอัตราเพิ่มสูงถึง 1 ล้านคน ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จึงจะดำเนินการส่วนต่อขยายถึงพุทธมณฑลสาย 4 ต่อไป

"ระยะทางต่อไปอีกราว 5 กม. จะให้เอกชนลงทุนส่วนต่อขยายไปในคราวเดียวกัน แต่จะมีการหารือในเรื่องนี้ในช่วงนั้นอีกครั้ง"

นอกจากนั้น ในเรื่องระบบตั๋วร่วมอยู่ระหว่างการร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย ขณะนี้ รอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนลงนามร่วมกัน แล้วคงจะใช้ระยะเวลาทำงานประมาณ 10 เดือน เพื่อพัฒนาระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ทางด้านการเงินตามที่ออกแบบไว้ คาดว่าจะเริ่มให้บริการบัตรแมงมุมระบบ 4.0 ได้ในต้นปี 2563 นี้